เปิดศูนย์วิเคราะห์ทดสอบ หนุนบริการทดสอบสินค้ามูลค่าสูงได้มาตรฐาน



ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า “ประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนสู่ยุค Thailand 4.0 ซึ่งเป็นยุคที่เศรษฐกิจจะถูกขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เปลี่ยนจากยุคการผลิตที่ต้องใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศมาเป็นการสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูงด้วยเทคโนโลยีของตัวเอง การแข่งขันในตลาดโลกนั้นจะแข่งขันกันใน 3 เรื่องคือ นวัตกรรม ผลิตภาพ และมาตรฐาน ดังนั้น การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าและบริการของไทยให้มีที่ยืนในตลาดโลกด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือกันทั้งนักวิจัย อาจารย์มหาวิทยาลัย หน่วยงานรัฐ และผู้ประกอบการ ในส่วนของภาครัฐ การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ  เพื่อยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยให้กับสินค้าเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากในปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการวิเคราะห์ทดสอบมีมูลค่าเกือบ 4 หมื่นล้านบาท ร้อยละ 40 เอกชนต้องส่งไปทำวิเคราะห์ทดสอบในต่างประเทศ”

“ศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ สวทช. หรือ NCTC ให้บริการวิเคราะห์ทดสอบตามวิธีมาตรฐานต่างๆ สนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้ามูลค่าสูง ให้แก่ภาครัฐและเอกชนในหลายอุตสาหกรรมได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และแมคาทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ด้วยนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญและเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยและมูลค่าสูง โดย NCTC จะทำงานร่วมกับพันธมิตรศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ โดยเป็นหนึ่งในสมาชิกเครือข่ายศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ และเชื่อมโยงบริการกันภายในเครือข่าย ทำให้ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ทั้งประเทศพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย”

โดยความร่วมมือใน “โครงการเครือข่ายศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (Thailand Scientific Equipment Center Network : TSEN)” ประกอบด้วยสมาชิกเครือข่ายหน่วยงานรวม 16 แห่ง ประกอบด้วย (1) ศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ สวทช. (2) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (3) มหาวิทยาลัยขอนแก่น (4) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (5) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (6) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (7) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (8) มหาวิทยาลัยนเรศวร (9) มหาวิทยาลัยบูรพา (10) มหาวิทยาลัยมหิดล (11) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (12) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (13) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (14) มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (15) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และ (16) โรงเรียนนายร้อยตำรวจ สามพราน โดยที่สมาชิกเครือข่ายทั้ง 16 แห่งจะร่วมมือกันดำเนินงานโครงการเครือข่ายศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ดังกล่าว ให้เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ของศูนย์เครื่องมือภายในประเทศในด้านต่างๆ เช่น การวิเคราะห์ทดสอบ สอบเทียบและบริการวิชาการ การพัฒนามาตรฐานห้องปฏิบัติการ การซ่อมบำรุงรักษาเครื่องมือวิทยาศาสตร์ เป็นต้น ตลอดจนร่วมกันจัดตั้งกลุ่มพัฒนาในด้านต่างๆ อาทิ กลุ่มวิจัยเชิงพาณิชย์ กลุ่มพัฒนามาตรฐานห้องปฏิบัติการและวิธีวิเคราะห์ กลุ่มฐานข้อมูลทางด้านความสามารถของห้องปฏิบัติการ กลุ่มซ่อมบำรุงรักษาเครื่องมือวิทยาศาสตร์ กลุ่มความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ และกลุ่มอื่นๆ ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาความร่วมมือเป็นเวลา 5 ปี

ศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ สวทช. ให้บริการในด้านเทคนิคและเครื่องมือวิเคราะห์ ประกอบด้วย 4 เครื่อง ได้แก่ (1) เครื่องเตรียมตัวอย่างสำหรับงานจุลทรรศน์ ได้แก่ Cutt-off machine, Polishing machine, Hot mounting machine, Ion milling machine, Sputter coater (2) เครื่องวิเคราะห์ทดสอบทางโครงสร้างจุลภาค ได้แก่ Field Emission Scanning Electron Microscope (FE-SEM), Transmission microscope, Energy-dispersive X-ray spectroscopy (EDS) และ Optical microscope (3) เครื่องมือวิเคราะห์ทดสอบทางรังสีเอ็กซ์ ได้แก่ Energy Dispersive X-Ray Fluorescense (EDXRF) และ Single Crystal X-ray Diffraction (SCXRD) และ (4) เครื่องมือวิเคราะห์ทดสอบทางโครมาโตกราฟฟี่ ได้แก่ Gas Chromatogryphy-mass spectrometer รวมทั้งให้บริการวิเคราะห์ทดสอบต่างๆ เช่น วิเคราะห์ชนิดและปริมาณของธาตุในตัวอย่าง วิเคราะห์โครงสร้างผลึกเดี่ยวโดยใช้เทคนิคการเลี้ยงเบนของรังสีเอ็กซ์ประมวลผลแบบ 3D วิเคราะห์องค์ประกอบในสารตัวอย่าง (Compound analysis) เป็นต้น ตลอดจนทำหน้าที่ในการประยุกต์ใช้งานในอุตสาหกรรมและงานวิจัย อาทิ ข้อมูลที่ได้จาก SEM สามารถนำไปใช้ในการปรับปรุง และพัฒนา งานวิจัย งานในกระบวนการผลิต งานวิเคราะห์ความเสียหายของวัสดุ งานแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรม และงานควบคุมคุณภาพของวัสดุได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังสามารถใช้ระบุสปีชีส์ของจุลินทรีย์ เพื่อใช้วินิจฉัยโรคได้ด้วย