ประชาชนร้อยละ 50.82 เชื่อปัญหาการถูกล่อลวงผ่าน social media มีแนวโน้มสูงขึ้น ความต้องการหาเพื่อน การขาดความอบอุ่น ความเหงาคือสาเหตุหลัก 3 อันดับที่นำไปสู่การถูกล่อลวง แนะพ่อแม่ผู้ปกครองมีส่วนช่วยลดปัญหาการถูกล่อลวงของกลุ่มวัยรุ่น
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มวัยรุ่นไทยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อปัญหาการถูกล่อลวงผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 1 ถึง 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,159 คน
ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่า ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นและปรากฏเป็นข่าวอยู่เป็นระยะอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ของกลุ่มวัยรุ่นในการติดต่อสื่อสารพูดคุยคือปัญหาการล่อลวงซึ่งมักเกิดจากการติดต่อสื่อสารพูดคุยกับคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน โดยผู้ที่ต้องการล่อลวงมักจะตีสนิทพูดคุยกับเหยื่อจนทำให้เหยื่อเกิดความไว้ใจหลังจากนั้นจะทำการนัดพบกับเหยื่อตามลำพังซึ่งเหยื่อส่วนใหญ่คือกลุ่มผู้ใช้งานที่เป็นผู้หญิง โดยล่อลวงเพื่อนำไปกักขังหน่วงเหนี่ยวและมีเพศสัมพันธ์
ซึ่งปัญหาการล่อลวงผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆถึงแม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพยายามกำหนดแนวทางป้องกันแก้ไขรวมถึงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เตือนสติการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ของกลุ่มวัยรุ่น ขณะเดียวกันผู้คนในสังคมโดยเฉพาะกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองได้แสดงความห่วงใยต่อการเข้าถึงการสื่อสารผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้อย่างง่ายดายของบุตรหลานซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาการถูกล่อลวงได้เช่นกัน
จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มวัยรุ่นไทยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อปัญหาการถูกล่อลวงผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน
ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวต่อว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 51.08 และเพศชายร้อยละ 48.92 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 19 ถึง 22 ปีคิดเป็นร้อยละ 38.14 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความคิดเห็นต่อปัญหาการถูกล่อลวงผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ กลุ่มตัวอย่างประมาณครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 50.82 มีความคิดเห็นว่าปัญหาการถูกล่อลวงผ่านระบบเครือข่ายสังคมออนไลน์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 33.13 มีความคิดเห็นว่ามีแนวโน้มเท่าเดิม และมีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 16.05 ที่คิดว่ามีแนวโน้มลดลง สำหรับสาเหตุสำคัญสูงสุด 5 อันดับที่ทำให้เกิดการล่อลวงผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์คือ ความต้องการหาเพื่อนพูดคุยคิดเป็นร้อยละ 83.18 ขาดความอบอุ่น/การดูแลจากคนใกล้ชิดคิดเป็นร้อยละ 80.67 ความเหงาที่ต้องอยู่ตามลำพังคิดเป็นร้อยละ 77.91 การหลงเชื่อคนง่าย/มองโลกในแง่ดีคิดเป็นร้อยละ 75.06 และการขาดความรอบคอบ/ยั้งคิดคิดเป็นร้อยละ 72.13 ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 48.49 เชื่อว่าผู้ใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่เป็นเพศชายมีโอกาสถูกล่อลวงได้เช่นเดียวกับผู้ใช้งานที่เป็นเพศหญิง
ในด้านพฤติกรรมการติดต่อพูดคุยกับคนที่ไม่รู้จักผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์นั้น กลุ่มตัวอย่างถึงเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 74.81 ยอมรับว่า ภายในระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา ตนเองมีการติดต่อพูดคุยกับผู้ที่รู้จักกันผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์โดยที่ยังไม่เคยพบหน้ากัน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 25.19 ระบุว่าไม่มี ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 44.41 ระบุว่า ภายในระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา ตนเองติดต่อพูดคุยกับผู้ที่รู้จักกันผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์โดยที่ยังไม่เคยพบหน้ากันเพียง 1 คน ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 55.59 ยอมรับว่าตนเองติดต่อพูดคุยมากกว่าหนึ่งคน อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.36 ระบุว่าหากผู้ที่ตนเองรู้จักผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ต้องการนัดให้ตนเดินทางไปตามลำพังเพื่อพบหน้ากัน ตนจะไม่ไป ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างเกือบหนึ่งในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 19.84 ยอมรับว่าจะไปพบ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 27.8 ไม่แน่ใจ และกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 54.21 ยอมรับว่าตนเองรู้สึกกลัวถูกล่อลวงจากบุคคลที่รู้จักกันผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์โดยที่ยังไม่เคยพบหน้ากัน
ในด้านความคิดเห็นต่อการแก้ไขปัญหาการถูกล่อลวงผ่านการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 68.33 มีความคิดเห็นว่าภายในระยะเวลา 3 – 5 ปี ปัญหาการถูกล่อลวงผ่านระบบเครือข่ายสังคมออนไลน์จะได้รับการแก้ไขให้หมดไปจากสังคมไทยไม่ได้ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่แต่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 48.75 มีความคิดเห็นว่าการจำกัดอายุผู้ที่สามารถใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์จะมีส่วนช่วยลดปัญหาการถูกล่อลวงผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 39.69 มีความคิดเห็นว่าไม่มีส่วน และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 11.56 ไม่แน่ใจ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 53.84 มีความคิดเห็นว่าการเพิ่มโทษกับผู้ที่ล่อลวงผู้อื่นผ่านระบบเครือข่ายสังคมออนไลน์ให้หนักขึ้นจะมีส่วนช่วยลดปัญหาการถูกล่อลวงผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 36.5 มีความคิดเห็นว่าไม่มีส่วน และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.66 ไม่แน่ใจ
และสำหรับบุคคลที่มีส่วนช่วยเตือนสติให้ระมัดระวังปัญหาการถูกล่อลวงผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้มากที่สุด 5 อันดับคือ พ่อแม่ผู้ปกครองคิดเป็นร้อยละ 82.83 ครูอาจารย์/หัวหน้างานคิดเป็นร้อยละ 80.93 บุคคลที่มีประสบการณ์จากการถูกล่อลวงคิดเป็นร้อยละ 78.08 เพื่อนฝูงคิดเป็นร้อยละ 75.32 และบุคคลรอบๆตัวในชุมชนคิดเป็นร้อยละ 72.39 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 68.77 ระบุว่าสื่อสารมวลชน ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าว