“หนุมาน” และ “เห้งเจีย” นำแสดงโดย ครูมืด-ประสาท ทองอร่าม



“ครูมืด”ยิ้มกว้างแสนดีใจ“ก้าวไทยทะยาน”

  จับ“หนุมานปะทะเห้งเจีย”ใน“วานรคู่ฟัด”

“วานรคู่ฟัด (MONKEY TWINS)” ภาพยนตร์แอคชั่น-ดราม่า ภายใต้การผลิตของ บริษัทก้าวไทยทะยาน จำกัด ซึ่งได้มือฉมังที่คลุกคลีในวงการภาพยนตร์แอคชั่นมายาวนานอย่าง นนทกรทวีสุขรับหน้าที่กำกับฯ  พิสูจน์ความเก่งกล้าเชิงศาสตร์และศิลป์ในการแสดงและการต่อสู้ของ “หนุมาน” และ “เห้งเจีย”  ได้  นำแสดงโดย ครูมืด-ประสาท ทองอร่าม, สำเร็จ เมืองพุทธ  ปัณณ์ญาณัช จิรโรจน์ธนเกษม, คาซู แพททริค แทงค์, ภูธฤทธิ์ พรหมบันดาล,  ปรเมศร์ น้อยอ่ำ,  วิทยา ปานศรีงาม  สายเชียร์ วงศ์วิโรจน์      โดยครูมืดเผยงานการแสดงว่า

                “แสนดีใจที่เห็นคุณค่าของ โขนและหยิบจับมาทำเป็นภาพยนตร์  ในเรื่อง เล่นเป็น ปู่กล้า ส่วนสำเร็จ เมืองพุทธ (พระเอก) เล่นเป็น เหนือ  ตัวผมเป็นคนที่มีวิชามวยลิงต้องห้ามอยู่ในตัว  คือมันสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ แล้วก็รู้ว่ามวยนี่เป็นมวยที่อันตราย เราก็สอนลูกของเราแต่ก็ไปพลาดท่าเขาจนเสียชีวิต เลยรู้ว่าคนที่ฝึกมวยนี่จะเป็นอันตราย มวยนี่มันรุนแรงมาก เลยเก็บไม่สอนใครอีก โดยเฉพาะหลาน เพราะหลานเป็นคนที่มุทะลุ บุคลิกหรือในตัวของมันยังไม่สามารถที่จะฝึกมวยต้องห้ามได้ ในบทก็บอกแล้ว ถ้ามึงเผาไฟในตัวมึงเองไม่ได้ มึงก็ไม่สามารถจะฝึกมวยลิงนี่ได้  แต่ระหว่างที่สอนโขน สอนท่าลิงให้หลานเพื่อให้เอาไปหากินเอาไปใช้ ก็เท่ากับแฝงเอาท่ามวยให้อยู่แล้ว สุดท้ายปู่ต้องเป็นคนอธิบายว่า กูสอนมึงมาตั้งแต่แรกแล้ว   ทางโขนเป็นท่ามาตรฐานมันเป็นท่าที่ต้องแป๊ะเลย แต่ว่าเราสามารถที่จะปรับให้จากท่าโขนมาเป็นท่าของมวย มวยต้องห้ามซึ่งมันมีความสำคัญต่อเรื่องนี้ แต่จริงๆ ท่าการต่อสู้อะไรมันมีความใกล้เคียงกัน อยู่บนพื้นฐานเดียวกัน เพราะฉะนั้นเราจึงใช้ท่าโขนมาเป็นท่าต่อสู้ของมวยโบราณได้อย่างถูกต้อง โดยมีการดีไซน์ท่าจากโขนให้มาเป็นท่าการต่อสู้ในลักษณะของมวยลิง คำว่า ลิงอยู่ในโขนก็รู้แล้วว่าต้องเป็น หนุมาน  ต้องคล่องแคล้ว ว่องไว เฉลียวฉลาด อาจหาญ ต่อสู้ แต่สิ่งที่อยู่ในตัวหนุมานที่ชัดเจนที่สุดคือมันมีความจงรักภักดี นั่นคือความรักที่เหนียวแน่นมากๆ ความซื่อสัตย์นั่นเอง นี่คือการตีความที่ใส่ในตัวพระเอกในเรื่อง ซึ่งครูบาอาจารย์ไปเอาท่าจริงๆของลิงมาฝึก ฝึกให้คนเป็นลิง  ซึ่งเป็นหนังเรื่องแรกที่เป็นโขนแอคชั่น ถือเป็นมิติใหม่แล้วมีการปะทะกันระหว่างวานรคู่ ก็คือหนุมานในโขนไทย และเห้งเจีย ในโขนจีน หรือที่เรียกว่างิ้วนั่นเอง ซึ่งในเรื่องเห้งเจียมีความคิดที่ผิดกับหนุมานมาก่อน มีเหตุการณ์เกิดขึ้นระหว่างครอบครัวทำให้มันมีเหตุ  ภูมิใจที่เด็กรุ่นหลังนำศิลปะไทยๆอย่าง “โขน” มาถ่ายทอด  ผมเคยพูดเสมอว่าทุกอย่างที่เกี่ยวกับโขนทำเถอะครับ เพราะมันเป็นบันไดให้คนได้ก้าวมาดูโขนจริงๆ ได้เข้าใจมากขึ้น ถือว่าหนังเรื่องนี้เป็นอีกกระบอกเสียงให้เด็กรุ่นหลังรู้จักโขน รู้จักงิ้ว หรือจะเรียกว่าเป็นหยดน้ำอีกหยดหนึ่งที่จะก่อให้เป็นมหาสมุทรได้ ให้คนไทยรู้จักโขนมากขึ้น ดีใจที่มีคนสืบทอดถึงแม้จะคนละทางกับที่เราทำ ผมเคยบอกว่าโขนในทุกระบบ  ไม่ว่าจะเป็นหนังสือการ์ตูน ภาพยนตร์  เป็นอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเกี่ยวกับการแสดงโขนทำเถอะครับ เพราะโขนมันคือเลือดเนื้อบรรพบุรุษของเราเอง คำว่าโขนเป็นของไทยแน่ๆ   ตัวสำเร็จที่รับบทพระเอกเขาก็ฝึกมาเบื้องต้นก่อน  มีไปดูการฝึกที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ แล้วก็เอาท่าไปปรับ เราก็เอาครูไปช่วยสอน  โชคดีที่เขาเล่นเกี่ยวกับการตู่สู้ มีพื้นฐานของยิมนาสติก เขาอาจจะไม่อ่อนช้อยเท่าคนที่หัดโขนมาตั้งแต่เด็ก อาจจะดูแข็งๆหน่อย  แต่โชคดีที่หนังเป็นโขนชาวบ้านไม่ใช่โขนในวัง มันเลยดูกลมกลืน เราต้องอ่อนช้อยมาก เพราะต้องเอาท่ามวยมาใส่ ใช้เวลาในการฝึกนานเหมือนกัน และทุกครั้งที่มีการถ่ายทำเราก็จะมีการเรียนการซ้อมหน้าเซ็ทด้วย กว่าจะถ่ายได้นานมาก  ฝีมือเขาดีนะ และก็มีความสนใจ แนะนำอะไรไปเขาก็ปฏิบัติ ผมก็ทำตามขั้นตอน”