วิริยะประกันภัย กำไร 2.4 พันล้าน ปี59 ลุยตลาด NON-MOTOR



วิริยะประกันภัย  แจงผลงานปี 58  เบี้ยฯ

 รับ 3.2 หมื่นล้าน กำไร 2.4 พันล้าน
ตั้งเป้าปี โตไม่น้อยกว่า 5% พร้อมลุยตลาด
NON-MOTOR

​.......................

            วิริยะประกันภัย ประกาศกลยุทธ์และนโยบายการดำเนินงาน ปี 59   ชูจุดแข็งองค์กรรับมือเศรษฐกิจปีวอก  มั่นใจเติบโตได้ไม่น้อยกว่า 5% หรือมีเบี้ยประกันภัยรับไม่ต่ำกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่การรับประกันภัย Non-Motor พร้อมลุยตลาดเต็มที่  หวังสัดส่วนการรับประกันภัยเพิ่มเป็น 80:20 ภายใน 5 ปี   ส่วนผลประกอบการในปีที่ผ่านมา มีเบี้ยประกันภัยรับตรง 3.2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น มอเตอร์  29,585.76  ล้านบาท  NON-MOTOR 2,832.82  ล้านบาท มีกำไรสุทธิหลังหักภาษี 2.4 พันล้านบาท ส่งผลให้ฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง ดังจะเห็นได้จาก อัตราส่วนความพอเพียงของเงินลงทุน อยู่ในระดับ 233.38% เกินมาตรฐานที่สำนักงานคปภ.กำหนด

            นายสยม   โรหิตเสถียร  รองกรรมการผู้จัดการ  บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน)  เปิดเผยว่า ด้วยสภาวะของเศรษฐกิจ สังคม และปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการเข้าสู่เขตเศรษฐกิจประชาคมอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลให้วิริยะประกันภัยต้องมีการปรับตัวด้วยการศึกษาข้อมูลลูกค้า คู่แข่ง สภาพแวดล้อม เทคโนโลยี กฏระเบียบและการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  ว่าลูกค้าคิดอย่างไร  ต้องการอะไร คู่แข่งและอุตสาหกรรมโดยรวมจะมีอะไรใหม่และแนวโน้มจะเป็นอย่างไร 

              ในแง่ขอบเขตของการทำธุรกิจวิริยะประกันภัยคงต้องปรับในเชิงกลยุทธ์และนโยบายบนพื้นฐาน ที่ได้เปรียบ ทั้งจุดเด่นในด้านการบริการและความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทฯ โดยจะเพิ่มเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้น เน้นหนักไปที่การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้งานบริการ และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่มีความหลากหลาย

            ทั้งนี้ ในปี 2559 วิริยะประกันภัยตั้งเป้าเบี้ยประกันภัยรับตรงต้องเติบโตไม่น้อยกว่า 5% หรือ 3.5 หมื่นล้านบาท  โดยมุ่งเน้นใน 4 เป้าหมายด้วยกันคือ  1. ต้องเพิ่มสัดส่วนเบี้ยประกันภัยต่ออายุให้อยู่ในอัตรา 80% ให้ได้ จากเดิมที่ทำได้อยู่ที่ 75%  2. การพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ๆ ให้ตรงกับความต้องการและความเสี่ยงของลูกค้า  ซึ่งในปี 59 นี้วิริยะประกันภัยกำหนดให้เป็นปีแห่งการพัฒนาการบริการสินไหมทดแทนที่เป็นเลิศ  3. การขยายผลการให้บริการด้านประกันภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อสนองรับAEC โดยใช้รูปแบบความร่วมมือกับประเทศลาวเป็นต้นแบบในการดำเนินงาน

            ส่วนเป้าหมายที่4 เป็นเรื่องของการรับประกันภัยNon-Motorโดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มรายได้จากเบี้ยประกันภัยรับตรงเข้าบริษัทฯ ผ่านฐานลูกค้าพันธมิตรกลุ่ม Corporate และโบรกเกอร์ที่ดูแลงานลูกค้ารายใหญ่ นอกเหนือจากช่องทาง Personal Line ที่บริษัทฯ ทำอยู่แล้ว

            “การขยายตลาดประกันภัย Non-Motor ในปี 59 นี้ วิริยะประกันภัยหวังว่า จะสามารถเพิ่มสัดส่วนการรับประกันภัยจากเดิมที่เคยอยู่ในสัดส่วน ประกันภัยรถยนต์ 91% และประกันภัย Non-Motor 9% มาเป็นสัดส่วน 80:20  ให้ได้ภายใน 5 ปี” นายสยมฯ กล่าว

             ต่อนโยบายการขยายตลาด Non-Motor ทางด้านนายอานนท์ โอภาสพิมลธรรม รองกรรมการผู้จัดการ กล่าวถึงนโยบายการขยายตลาด Non-Motor ว่า ปีที่ผ่านมางาน Non-Motor ของบริษัทฯ ค่อนข้างประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี  มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นในทุกๆ ด้าน  ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี ที่ประชาชน ผู้เอาประกันให้ความสำคัญกับการประกันภัยที่ไม่ใช่มอเตอร์มากขึ้น โดยเป้าหมายการดำเนินงานในปี 59 ได้วางกลยุทธ์การขับเคลื่อนประกันภัย Non-Motor ไว้ 3 ประการด้วยกัน คือ การกระจายอำนาจการให้บริการด้านสินไหมทดแทน ซึ่งเป็นนโยบายที่สำคัญของบริษัทฯ ที่สนับสนุนให้การทำงานด้าน Non-Motor มีความคล่องตัวสูงขึ้น ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการสินไหมทดแทนที่อยู่ทุกทิศทั่วไทยสามารถตัดสินใจจ่ายเงินสินไหมให้กับผู้เอาประกันภัยได้ทันที ในผลิตภัณฑ์ประกันภัยหลายๆ ตัว โดยไม่ต้องรออนุมัติจากส่วนกลาง

            กลยุทธ์ถัดมาเป็นเรื่องของวิธีการตลาดที่ใช้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบของวิริยะประกันภัย ที่สามารถสำรวจความต้องการของลูกค้าในแต่ละพื้นที่ได้ว่ามีความต้องการผลิตภัณฑ์ประเภทไหน หรือต้องการความคุ้มครองลักษณะไหนและมากน้อยอย่างไร ซึ่งเมื่อทราบถึงความต้องการแล้วก็สรรหาผลิตภัณฑ์มาสนองรับได้ทันที อาทิ เรื่องของประกันภัยสุขภาพ ปีที่ผ่านมาวิริยะประกันภัยเริ่มทดลองและทดสอบความต้องการว่าในแต่ละจังหวัดนั้นมีโรงพยาบาลไหนที่ลูกค้าพึงพอใจมากที่สุด เมื่อได้รับคำตอบแล้วก็จะไปประสานกับโรงพยาบาลนั้นเพื่อให้บริการโดยตรงเป็นกรณีพิเศษแก่ผู้เอาประกันภัยของบริษัทฯ

            กลยุทธ์สุดท้ายเป็นเรื่องการสนองรับAEC ซึ่งแน่นอนการดำเนินงานต้องเป็นไปตามแนวนโยบายของบริษัทฯ ลูกค้าอยู่ที่ไหนเราต้องไปบริการถึงที่นั่น

             ส่วนนโยบายทางด้านการลงทุนของวิริยะประกันภัยในปี59 นายประวิตร สุขสันติสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ ได้เผยถึงประเด็นนี้ว่า ด้วยอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรและเงินฝากที่มีแนวโน้มทรงตัว การบริโภคภาคเอกชนยังได้รับผลกระทบจากหนี้สินครัวเรือนที่สูงและภาวะภัยแล้ง  ประกอบกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์น่าจะเคลื่อนไหวขึ้นลงในกรอบ เนื่องจากเศรษฐกิจยังอยู่ภาวะที่ไม่แน่นอน  บริษัทวิริยะประกันภัยจึงยังคงดำเนินนโยบายการลงทุนโดยคำนึงถึงระดับความเสี่ยง และการจัดสรรสภาพคล่องให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย เน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีปัจจัยพื้นฐานดี สภาพคล่องสูง ความเสี่ยงต่ำ มีความปลอดภัยของเงินต้นและอยู่ภายใต้ข้อกำหนดของคปภ. เช่น การลงทุนในเงินฝากตราสารหนี้ และตราสารทุนในตลาดหลักทรัพย์

“ดังนั้น ผลตอบแทนในการลงทุนจึงน่าจะอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว ซึ่งผลตอบแทนจากการลงทุนในปี 58 เฉลี่ยร้อยละ 4.5” นายประวิตรฯ กล่าว

            สำหรับผลประกอบการในปี 2558 ที่ผ่านมา นายสยม  โรหิตเสถียร  รองกรรมการผู้จัดการ ได้เปิดเผยว่า วิริยะประกันภัยมีเบี้ยประกันภัยรับตรง ณ  วันที่ 31 ธค. 58 อยู่ที่  32,418.58  ล้านบาท มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนตาม Template RBC รายเดือน อยู่ในระดับ  233.86%  มีกำไรสุทธิหลังหักภาษีเงินได้ 2,446.50  ล้านบาท

            โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้วิริยะประกันภัยสามารถสร้างผลงานได้ยอดเยี่ยม ทั้งๆ ที่เกิดภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะยอดขายรถยนต์ลดลง  เกิดจากยุทธศาสตร์หลักของวิริยะประกันภัย ที่ได้มุ่งเน้นพัฒนาระบบงานสินไหมทดแทนทั้งระบบด้วยนวัตกรรมทางด้านไอทีมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ลูกค้าได้รับการบริการที่ดีที่สุด  ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมามีโครงการพัฒนาเด่นๆ หลายโครงการในทุกส่วนงาน อาทิ

            การพัฒนาในส่วนงานตรวจสอบอุบัติเหตุ ซึ่งวิริยะประกันภัยได้พัฒนาระบบ “วิริยะ สมาร์ท เคลม” หรือ  VSC  คือ การนำ Smart Phone มาผสานการทำงานร่วมกันกับแผนที่นำทาง Google Map ซึ่งประโยชน์ที่ได้คือ  ลูกค้าได้รับการบริการสินไหมที่สะดวก รวดเร็วมากขึ้น  บริษัทฯ สามารถบริหารจัดการระบบและบุคลากรในการออกให้บริการลูกค้าได้อย่างคล่องตัว รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น  ช่วยลดเวลาและขั้นตอนการทำงาน ซึ่งในปี 2559จะเร่งขยายระบบ VSC ลงสู่ระบบงานสินไหมทั่วประเทศ

การพัฒนาในส่วนของงานซ่อมแซมรถยนต์ วิริยะประกันภัยได้ร่วมกับกับศูนย์ซ่อมมาตรฐานวิริยะประกันภัย และบริษัทผู้ผลิตสีรถยนต์ พัฒนาระบบจัดซ่อมรถยนต์ Fast Track Repair” เสร็จรวดเร็วทันใจภายใน 24 ชั่วโมง โดยต้องเป็นงานซ่อมสีรถยนต์ไม่เกิน 4 ชิ้น และไม่ต้องเปลี่ยนอะไหล่ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการงานซ่อมเสร็จรวดเร็ว  แต่ยังคงไว้ซึ่งคุณภาพตามมาตรฐานวิริยะประกันภัย  รวมถึงการควบคุมและตรวจสอบคุณภาพการซ่อมรถยนต์ของศูนย์ซ่อมมาตรฐานผ่านระบบ Live Video Conference”   ตลอดจนการพัฒนาจัดระบบงานสรุปความเสียหายรถยนต์เพื่อบริหารและควบคุมต้นทุนค่าจัดซ่อมให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้พัฒนาระบบจัดการอัตรากำลังพนักงานสินไหม  เพื่อให้ลูกค้าได้รับการบริการที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น และบริษัทฯ สามารถจัดการอัตรากำลังได้อย่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

การพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์ วิริยะประกันภัยได้ผสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับคู่ค้า ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า  ทั้งในส่วนของผู้ผลิตรถยนต์ ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์  บริษัทสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์  นายหน้าและตัวแทน  พร้อมกันนี้ ยังมีการขยายผลและต่อยอดผลิตภัณฑ์ประกันข้ามแดน รับการเติบโตของกลุ่ม AEC อีกด้วย

 

                “เราตระหนักดีว่า ธุรกิจประกันภัยเป็นงานบริการที่ไม่มีวันสิ้นสุด เนื่องจากความต้องการของลูกค้า  ภาวะความเสี่ยงภัย  ปัจจัยและสภาพแวดล้อมต่างๆ  แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เราจึงมีช่องว่างที่จะพัฒนา ปรับปรุงคุณภาพการบริการให้ดีขึ้นเสมอ  ที่วิริยะประกันภัย  เราไม่เคยพอใจกับคุณภาพการบริการที่เป็นอยู่  เราจะสรรหานวัตกรรมและช่องทางการปรับปรุงตลอดเวลา เราทำสิ่งนี้มาอย่างต่อเนื่องจนทำให้ชื่อวิริยะประกันภัย คือแบรนด์ประกันภัยอันดับหนึ่งในใจของลูกค้ากว่า 5 ล้านรายทั่วประเทศ”  นายสยมฯ กล่าว