วันอังคารที่ 5 มีนาคม 2567 ณ สถานีรถไฟตรัง ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง พม.หนึ่งเดียวจังหวัดตรัง (One Home พม.จังหวัดตรัง) ร่วมจัดโครงการ “ปฏิบัติการคนไทยไม่ไร้ที่พึ่งจังหวัดตรัง” เพื่อประกาศเจตนารมณ์การช่วยเหลือคนไร้บ้าน พัฒนาครัวเรือนเปราะบางในภาวะวิกฤต เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต อีกทั้งปล่อยขบวนรถศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ออกปฏิบัติการ “ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง” พร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งที่จังหวัดตรัง นางสาวโสพิญฐ์ สุวรรณหงส์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง ได้กล่าวเปิดงาน และนางสาวกิติยา วงศ์ทอง ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดตรัง กล่าวรายงาน โดยมี นายนิตินัย อุทัยรังษี หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดตรัง นายสุวัฒน์ เวียงคำ เคหะจังหวัดตรัง พร้อมด้วย ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ จากหน่วยงาน พม.หนึ่งเดียวจังหวัดตรัง ภาคีเครือข่ายและอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) จังหวัดตรัง กว่า 50 คน ร่วมประกาศเจตนารมณ์ พร้อมลงพื้นที่ "เดินเท้าเข้าหา พาคนเปราะบางพ้นวิกฤต" ภายใต้การอำนวยความสะดวกของเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรเมืองตรัง
นางสาวโสพิญฐ์ กล่าวว่า กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด พม.ดำเนินโครงการปฏิบัติการคนไทยไม่ไร้ที่พึ่ง เพื่อประกาศเจตนารมณ์ ( Kick Off) พร้อมกันทั่วประเทศ ในการนี้ หน่วยงาน พม.หนึ่งเดียวในพื้นที่จังหวัดตรัง ได้ดำเนินกิจกรรมปล่อยขบวนคาราวานรถปฏิบัติการในพื้นที่จังหวัดตรัง ผ่านสถานที่ต่าง ๆ ที่เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดตรัง อาทิ สถานีรถไฟตรัง หอนาฬิกา และสิ้นสุดที่วงเวียนปลาพะยูน เพื่อสร้างการรับรู้การปฏิบัติงานรวมถึงการบูรณาการร่วมกันกับภาคีเครือข่ายองค์กรต่าง ๆ ในจังหวัดเพื่อพัฒนาบริการด้านการจัดสวัสดิการสังคมให้กับกลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัย อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง มีคุณภาพและมาตรฐานขั้นต่ำของบริการสวัสดิการ สามารถสร้างรูปแบบการบริการสวัสดิการแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อพัฒนาศักยภาพของกลุ่มเป้าหมาย โดย "ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง"
นางสาวโสพิญฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันนี้ พม.หนึ่งเดียว จังหวัดตรังได้ลงพื้นที่ "เดินเท้าเข้าหา พาคนเปราะบางพ้นวิกฤต" ซึ่งเป็นครอบครัวเปราะบางมีสมาชิกในครอบครัวที่ต้องอุปการะดูแลเป็นผู้สูงอายุ 1 คน ผู้พิการทางสติปัญญา 1 คน และเด็กในวัยเรียน 3 คน ผู้หารายได้หลักในครอบครัวประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปมีรายได้ไม่แน่นอน อาศัยอยู่ในพื้นที่ตำบลโคกหล่อ อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัว ซึ่งครอบครัวดังกล่าวได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดจากผู้นำท้องที่ท้องถิ่น นำโดย ท่านนายกเทศมนตรีตำบลโคกหล่อ และ อพม.ในพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาความยากจนคนเปราะบาง พม.จังหวัดตรัง จึงร่วมกับหน่วยงานต่างๆ วางแผนให้การช่วยเหลือตามรูปแบบ “โมเดลแก้จนคนตรัง” โดยเริ่มจากการพิจารณาให้ความช่วยเหลือในการปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่มีสภาพเก่าทรุดโทรม โดยเฉพาะประตูบ้านและห้องน้ำชำรุดผุพังมีสภาพไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัยโดยใช้การซ่อมสร้างบ้านผู้สูงอายุ สำหรับในครอบครัวมีผู้พิการอยู่ด้วย จึงวางแผนให้ผู้ดูแลผู้พิการได้มีรายได้เพิ่มขึ้นและมีความมั่นคงขึ้นโดยการให้กู้ยืมเงินกองทุนฯคนพิการ ไม่มีดอกเบี้ย เพื่อประกอบอาชีพค้าขายไอศครีม ซึ่งผู้เลี้ยงดูผู้พิการเคยประกอบอาชีพค้าขายไอศครีมมาก่อนแต่ด้วยวิกฤติโควิด-19 ทำให้หยุดชะงักไปเมื่อจะทำใหม่ก็ไม่มีเงินทุน สำหรับเด็กๆในครอบครัวได้วางแผนการศึกษาและช่วยเหลือเงินสงเคราะห์ฉุกเฉิน พร้อมมอบเครื่องอุปโภคบริโภคก่อนในเบื้องต้น ทั้งนี้ อพม. และหน่วยงานในพื้นที่จะร่วมดูแลและติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่องต่อไป
สุดท้ายนี้ พม.หนึ่งเดียวจังหวัดตรัง พร้อมขับเคลื่อนงานด้านสังคมและส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป็นการทำงานแบบ พม.หนึ่งเดียว ร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจกระทรวง พม. ให้บรรลุผลเกิดประโยชน์ต่อประชาชน รวมถึงการป้องกันปัญหาความรุนแรงต่อสวัสดิภาพของประชาชน โดยในวันนี้ พม.จังหวัดตรังได้เชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมงานทุกคน ช่วยกัน แอดไลน์ ESS ซึ่งเป็นระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม ติดมือถือไว้ เพื่อจะได้ช่วยเหลือทุกคนได้ หากพบเห็นหรือตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย/ถูกข่มขู่ว่าจะทำร้าย ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว หรือพบเห็นผู้คลุ้มคลั่งและการมั่วสุมก่อให้เกิดเหตุร้ายสามารถกดแจ้งเหตุผ่านไลน์ ESS เพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่เข้าไประงับเหตุได้อย่างทันท่วงทีด้วยระบบ Line OA ที่ช่วยสร้างความปลอดภัย แก่ตัวเองและชุมชนเพียงแชร์ให้เพื่อน แอดไลน์ @esshelpme หรือคลิกลิงก์ https://lin.ee/GetbF8D นอกจากนี้ ยังสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่เบอร์โทรสายด่วน 1300 ได้ตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย