สทน. ลงพื้นที่ตรวจซีเซียม-137 ไม่พบการปนเปื้อนในผลิตผลทางการเกษตร พร้อมตรวจในห้องปฏบัติการและออกใบรับรองผลผลิตให้เกษตรกรปราจีนบุรี



จากเหตุการณ์การสูญหายของแท่งบรรจุซีเซียม-137 ที่ใช้เป็นอุปกรณ์วัดปริมาณเถ้าของโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งใน อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี และมีรายงานว่าแท่งบรรจุซีเซียม-137 ดังกล่าวอาจถูกส่งไปที่โรงหลอมเหล็กใน อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ในเบื้องต้นทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมและจังหวัดปราจีนบุรี ได้แถลงข่าวร่วมกันว่า แท่งบรรจุซีเซียม-137 อาจะถูกหลอมไปแล้ว เนื่องจากมีการตรวจพบซีเซียม-137 ที่ปนเปื้อนอยู่ในฝุ่นเหล็กในปริมาณไม่สูงนัก แต่ยังไม่พบการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม และจากการตรวจร่างกายพนักงานในโรงงานหลอมเหล็กยังไม่พบผู้ที่ได้รับสารรังสีเข้าไปในร่างกาย โดยมีปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเป็นหัวหน้าคณะ จากการสำรวจบริเวณโดยรอบโรงงานจากการตรวจวัดปริมาณรังสีบริเวณหน้าโรงเก็บฝุ่นเหล็กที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 โดยเครื่องสำรวจรังสีค่าที่ปรากฏคือ ค่าปริมาณรังสีปรกติที่มีอยู่ในธรรมชาติ

รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. เปิดเผยว่า เพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาความกังวลกรณีซีเซียม-137 อาจเกิดการแพร่กระจายไปปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีลูกค้าที่ขอยกเลิกคำสั่งซื้อผลิตผลทางการเกษตรที่มาจากจังหวัดปราจีนบุรีหลายรายการ  จึงได้สั่งการให้ทีมตรวจวัดปริมาณรังสีจากศูนย์จัดการกากกัมมันตรังสี พร้อมนำเครืองมือวัดรังสีแบบ real-time  โดย สทน.ได้ร่วมกับจังหวัดปราจีนบุรี เกษตรจังหวัดปราจีนบุรี เกษตรและสหกรณ์จังหวัดปราจีนบุรี พาณิชย์จังหวัดปราจีนบุรี ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบการปนเปื้อนของสารรังสีในพืชผักผลไม้ และอาหารต่างๆ โดยพื้นที่แรกตลาดสินค้าเกษตรด้านหน้าสำนักงานเกษตรจังหวัดปราจีนบุรีซึ่งมีเกษตรกรจากอำเภอต่างๆ ในจังหวัดปราจีนบุรีนำผลิตผลทางการเกษตรมาจำหน่ายจำนวน 26 ร้าน โดยมีประเภทของผลผลิตทางการเกษตรกว่า 100 รายการ จากการใช้เครื่องวัดรังสีเพื่อตรวจวัดการปนเปื้อนซีเซียม-137 ในระดับพื้นผิว ผลปรากฏว่าไม่พบการปนเปื้อนซีเซียม-137 ในผลิตผลทางการเกษตรและอาหารทุกรายการ


หลังจากนั้นคณะได้ลงพื้นที่สวนทุเรียนไม้เค็ดโฮมสเตย์ในอำเภอเมือง และสวนทุเรียนหมวดอำนวยในอำเภอกบินทร์บุรี เพื่อตรวจการปนเปื้อนระดับพื้นที่ผิวของทุเรียน และผลไม้อื่นๆ ในพื้นที่ ผลปรากฏว่าไม่ปรากฏการปนเปื้อนซีเซียม-137 เช่นกัน หลังจากนั้นเดินทางไปยังแหล่งปลูกผักเกษตรอินทรีย์แปลงใหญ่ผักนนทรี ใน อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ซึ่งจุดนี้ห่างจากโรงหลอมเหล็กเพียง 6 กิโลเมตร ในเบื้องต้นได้ทำการวัดรังสีในตัวอย่างผักจำนวน 10 ชนิดที่ชุมชนแห่งนี้ผลิตออกมาจำหน่าย ก็ไม่ปรากฏการปนเปื้อนซีเซียม-137 เช่นเดียวกัน 


อย่างไรก็ตามยังมีเกษตรกรแปลงใหญ่หลายรายในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ที่ส่งออกผลิตภัณฑ์ไปขายนอกพื้นที่ มีการถูกยกเลิกรายการสั่งซื้อจากคู่ค้าหลายราย ซึ่ง สทน.ได้เสนอให้เกษตรกรกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ นำผลิตภัณฑ์ตัวอย่างมาตรวจอย่างละเอียดที่ห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ธาตุ ของศูนย์บริการเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ซึ่งหากตรวจสอบแล้วไม่พบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สทน.สามารถออกใบรับรองให้ผลิตภัณฑ์เพื่อนำไปยื่นให้กับผู้ซื้อ ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นได้อีกทางหนึ่ง  เกษตรกรที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่  ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน)  โทรศัพท์  02 4019885