วช. หนุนสร้างชุมชนต้นแบบความมั่นคงด้านอาหาร เตรียมรับมือกับวิกฤตการณ์โรคอุบัติใหม่



ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19  นอกจากจะคุกคามสุขภาพของประชาชนแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของประชาชนด้วย โดยสืบเนื่องจากมาตรการควบคุมการระบาดของโรคในประเทศ

 

เช่น มาตรการปิดเมือง ระงับการเดินทาง และข้อจำกัดสำหรับการดำเนินกิจการและกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ  ทำให้เกิดผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจตามเป็นอย่างมาก  เนื่องจากสถานประกอบการส่วนใหญ่ต้องหยุดกิจการทั้งแบบชั่วคราวและแบบถาวร  ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากต้องสูญเสียรายได้ และกลายเป็น“ประชากรกลุ่มเปราะบาง” ที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้ อาจด้วยเหตุผลจากการไม่มีกำลังซื้อ อาหารมีการปรับราคาสูงขึ้น การปิดตัวของแหล่งจำหน่ายอาหาร การกักตุนอาหาร และการกระจายอาหารไม่ทั่วถึงเพราะระบบการขนส่งที่หยุดชะงัก ซึ่งถึงแม้ประเทศไทยจะมีความอุดมสมบูรณ์ในเรื่องทรัพยากรและอาหารการกิน  แต่ในช่วงภาวะวิกฤตของโรคระบาดที่ส่งผลให้เกิดปัญหาความมั่นคงด้านอาหารปรากฏเด่นชัดและแผ่ขยายออกไปในวงกว้างมากขึ้น โดยสำนักงานการวิจัยแแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยโครงการ “การพัฒนาชุมชนต้นแบบความมั่นคงทางอาหารและการยกระดับรายได้ของครัวเรือนโดยการเชื่อมโยงศักยภาพของพื้นที่ เพื่อรองรับและลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา  2019” เพื่อเป็นแนวทางในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและในอนาคต

       รศ.ดร.ดวงพร ภู่ผะกา รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ หัวหน้าโครงการฯ พร้อมด้วย รศ.ดร.ปาจรีย์  ผลประเสริฐ  อาจารย์ประจำคณะวิทยาการจัดการ  มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ได้เปิดเผยว่า

จากกวิฤตการระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหาร เพราะอาหารเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการดำรงชีวิต หากคนในประเทศต้องขาดแคลนอาหาร แม้กระทั่งชุมชนในชนบทซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีความสำคัญก็ตาม จึงนับเป็นปัญหาระดับประเทศอย่างหนึ่ง และควรนำมาเป็นบทเรียนให้ต้องศึกษาและพัฒนาถึงแนวทางว่าทำอย่างไรให้ทุกคนเข้าถึงทรัพยากรในท้องถิ่นภายใต้ภาวะเศรษฐกิจ และสังคมของชุมชนนั้นๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งอาหารที่มีคุณภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการในปริมาณที่เหมาะสมและเพียงพออย่างต่อเนื่อง ตลอดจนสนับสนุนให้มีการผลิตเพื่อบริโภคภายในครัวเรือนทำให้ไม่เกิดภาวะการขาดแคลน ทั้งยังสามารถเข้าถึงอาหารเพื่อการบริโภคโดยปราศจากความเสี่ยงในการขาดแคลน ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตทางโรคอุบัติใหม่ วิกฤตเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม หรือเพราะวัฏจักรตามฤดูกาลก็ตาม  และนอกจากนี้หากชุมชนมีความเข้มแข็งจะช่วยให้เกิดการผลิตร่วมกัน การแลกเปลี่ยนอาหารเพื่อการบริโภค และเกิดการจำหน่ายในส่วนที่นอกเหนือจากการบริโภคภายในชุมชน โดยเกิดเป็น “ตลาดชุมชน” ซึ่งเป็นการช่วยยกระดับรายได้ของชุมชน และยังส่งผลทำให้ชุมชนเข้าถึงการบริโภคอาหารที่มีคุณภาพอีกด้วย โดยจากผลพวงของวิกฤตที่ผ่านมาของการระบาดของโควิด- 19 ในหลายระลอก เป็นวิกฤตการณ์ที่ซ้ำเติมคนในชุมชน เพราะหลายครอบครัวต้องตกงาน หรือแม้ไม่มีอาหารบริโภคภายในครัวเรือน  และที่หนักไปกว่านั้นคือ การขอพึ่งพาอาหารจากทางวัด ซึ่งจากความสำคัญของปัญหาดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการขอทุนสนับสนุนจาก วช. จัดทำโครงการ “การพัฒนาชุมชนต้นแบบความมั่นคงทางอาหารและการยกระดับรายได้ของครัวเรือนโดยการเชื่อมโยงศักยภาพของพื้นที่ เพื่อรองรับและลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความมั่นคงทางอาหารในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (Covid19) ของครัวเรือนในประเทศไทย การพัฒนาชุมชนต้นแบบด้านความมั่นคงทางอาหารและการยกระดับรายได้ของครัวเรือนโดยการเชื่อมโยงศักยภาพของพื้นที่ และสร้างแพลตฟอร์ม (Platform) และประยุกต์ใช้ระบบภูมิสารสนเทศในการบริหารจัดการพัฒนาชุมชนต้นแบบ  พร้อมกับจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านความมั่นคงทางอาหารและการยกระดับรายได้ของครัวเรือนในการรองรับและลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในระดับพื้นที่ ภูมิภาคและระดับประเทศ โดยได้ทำการคัดเลือกชุมชนสำหรับการศึกษาจำนวน 12 พื้นที่ ในเขต 12 จังหวัด ของ 4 ภูมิภาค ได้แก่  ภาคเหนือ 3 จังหวัด คือ ลำปาง  อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร  ภาคกลาง 2 จังหวัด ฉะเชิงเทรา กาญจนบุรี  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด ชัยภูมิ สุรินทร์ สกลนคร  และภาคใต้้ 2 จังหวัด คือ สงขลา ภูเก็ต 

ในการดำเนินงานเบื้องต้น หลังจากได้ทำการสำรวจสถานะความมั่นคงด้านอาหารของแต่ละชุมชนแล้ว โครงการฯ จะส่งเสริมและพัฒนาให้แต่ละชุมชนมีความมั่นคงด้านอาหาร โดยพิจารณาจากองค์ประกอบ 4 ด้าน คือ การมีอาหารเพียงพอ  สามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างเท่าเทียม  สามารถใช้ประโยชน์จากอาหารเพื่อการมีสุขภาพและอนามัยที่ดี และความมีเสถียรภาพด้านอาหารที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา โดยแต่ละชุมชนที่ถูกคัดเลือกอาจจะมีความต้องการในการพัฒนาแตกต่างกันออกไปตามบริบททางสังคม สิ่งแวดล้อมและทรัพยากร ซึ่งบางชุมชนอาจจะต้องการส่งเสริมและพัฒนากระบวนการผลิตทางการเกษตร การแปรรูป การพัฒนากระบวนการจัดการด้านการตลาด ในขณะที่อีกชุมชนหนึ่งต้องการให้สนับสนุนตลาดชุมชนด้านเกษตรและอาหารปลอดภัย และการสร้างแหล่งอาหารทางการเกษตร เป็นต้น และเมื่อชุมชนเกิดความมั่นคงด้านอาหารแล้ว ลำดับถัดไปก็จะจำลองสถานการณ์ในกรณีเกิดภาวะวิกฤตทางด้านสาธารณสุขที่ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร ทำให้คนในชุมชนมีอาหารบริโภคไม่เพียงพอ หรือไม่สามารถเข้าถึงแหล่งอาหาร หรือแหล่งผลิตอาหาร ร้านค้า ไม่สามารถกระจายสินค้าได้ตามปกติ ดังนั้น จึงต้องพัฒนารูปแบบและกระบวนการจัดการโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน  เพื่อให้ประชาชนกลุ่มที่เปราะบาง และประชาชนในชุมชนสามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพได้อย่างเพียงพอ  โดยการพัฒนาชุมชนต้นแบบนี้จะมีส่วนช่วยสร้างความเข้มแข็งและเตรียมความพร้อมให้กับชุมชนรับมือกับวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และโรคอุบัติใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป