วช.หนุนนวัตกรรมระบบบริหารจัดการโต๊ะจีนนครปฐมเพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหาร



พูดถึงงานเลี้ยงโต๊ะจีนเชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงโต๊ะจีนจากจังหวัดนครปฐม ซึ่งมีเจ้าตำรับโต๊ะจีนอยู่หลายร้าน รวมถึงผู้ประกอบการรายใหม่ๆ สามารถสร้างรายได้ให้จังหวัดแต่ละปีไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท มีการรวมตัวของผู้ประกอบการเป็นสมาคม และเพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพของอาหารให้ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ยิ่งขึ้น และมีประโยชน์ด้านโภชนาการแก่ผู้บริโภค ทางสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ( วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ให้การสนับสนุนทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ในการศึกษาวิจัยระบบบริหารจัดการโต๊ะจีนให้ได้คุณภาพมาตรฐานตั้งแต่ต้นน้ำนั่นคือการคัดสรรแหล่งวัตถุดิบ การปรุงอาหาร  ระบบโลจิสติกส์  การบริการ ไปจนถึงปลายทางผู้บริโภค


   ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช.เป็นองค์กรสำคัญของรัฐในการขับเคลื่อนเสริมศักยภาพงานวิจัย และนวัตกรรมต่างๆ รวมถึงการสร้างองค์ความรู้และสามารถนำมาต่อยอดใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน และในเชิงพาณิชย์ เพื่อเสริมสร้างผลิตภัณฑ์ต่างๆให้ได้คุณภาพมาตรฐาน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคด้านอาหาร ทุกวันนี้พบว่ายังมีปัญหาเรื่องคุณภาพ ทาง วช. จึงได้ให้การสนับสนุนทีมวิจัยเพื่อสร้างคุณภาพผลิตภัณฑ์ด้านอาหาร อย่างโต๊ะจีนจังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นแหล่งขึ้นชื่อในด้านอาหารโต๊ะจีนของเมืองไทย


   ผศ.ดร.กนกพัชร กอประเสริฐ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม มองว่าธุรกิจโต๊ะจีนนครปฐม ถือได้ว่าเป็นธุรกิจฐานรากของจังหวัด และจากสถานการณ์โควิดทำให้ผู้ประกอบการโต๊ะจีนนครปฐมได้รับผลกระทบพอสมควร ปริมาณการสั่งจองอาหารลดลง รวมถึงลักษณะพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป ให้ความสำคัญในเรื่องมาตรการป้องกันโรคทั้งในเรื่องรูปแบบการจัดงานและคุณภาพของอาหาร เลยถือโอกาสนี้จับมือร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต โดยการสนับสนุนจาก วช . ในการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อยกระดับระบบบริหารการจัดการโต๊ะจีนนครปฐมให้ได้มาตรฐาน รองรับธุรกิจที่กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้เริ่มมีการสั่งจองเพื่อจัดงานต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยทีมวิจัยได้ให้ความสำคัญตั้งแต่การเลือกสรรแหล่งวัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหาร ต้องปราศจากสารปนเปื้อนที่ปะปนมาไม่ว่าจะเป็นพืชผักผลไม้ และเนื้อสัตว์ต่างๆโดยมีการจัดทำเป็นเว็บไซต์รวบรวมข้อมูลแหล่งวัตถุดิบ เพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ  การพัฒนารูปแบบระบบโลจิสติกส์ ในการขนส่งวัตถุดิบจากเกษตรกร สร้างนวัตกรรมตู้แช่เคลื่อนที่เคลื่อนย้ายวัตถุดิบให้ยังคงคุณภาพของอาหารสดใหม่ รวมถึงออกแบบระบบขนส่งเพื่อให้ผู้ประกอบการโต๊ะจีนมีทางเลือกการขนส่งต้นทุนต่ำและเหมาะกับสถานการณ์ การยกระดับมาตรฐานกระบวนการบริการอาหารและเครื่องดื่มและรูปแบบการจัดเตรียมงาน ( organize ) ซึ่งทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้ร่วมจัดทำรายการอาหารเพื่อสุขภาพให้กับผู้บริโภค


    สำหรับปลายทางผู้จัดงานและผู้บริโภคอาหารโต๊ะจีน มีหลากหลายรูปแบบในการจัดส่งเพื่อให้เข้ากับยุค new normal เช่น จัดเป็น box set (อาหารกล่อง) การบริการโต๊ะจีนเดลิเวอรี่ (โต๊ะจีนเคลื่อนที่) มีการจัดทำเป็นเว็บไซต์ฐานข้อมูลของผู้ประกอบการโต๊ะจีนเพื่อให้ผู้ประกอบการได้คิดแผนกลยุทธ์ และเอื้ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าในการประสานงานติดต่อให้ตรงตามเป้าหมายที่ต้องการสอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการแล้ว 19 ราย และเชื่อว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการพัฒนาต่อยอดยกระดับมาตรฐานคุณภาพโต๊ะจีนนครปฐม ทางทีมวิจัยพร้อมให้การสนับสนุนด้านองค์ความรู้ต่างๆ รวมถึงการจัดฝึกอบรมให้กับผู้ประกอบการเพื่อให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และเพิ่ม value ทางการค้าอีกด้วย