สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาเป็นประธานเปิดงานและทรงปาฐกถาพิเศษในงาน “๒๐ ปี ธนาคารสมอง พลังอาสาร่วมสร้างสังคมที่เท่าเทียม” ๕ สิงหาคม ศกนี้



เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๕.๐๐-๑๖.๓๐ น. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาไท (มพท.) จัดงาน “๒๐ ปี ธนาคารสมอง พลังอาสาร่วมสร้างสังคมที่เท่าเทียม” ผ่านระบบออนไลน์ ได้แก่ ทางเฟซบุ๊ก และยูทูป ของสภาพัฒน์และมูลนิธิพัฒนาไท สำหรับวุฒิอาสาธนาคารสมองและเครือข่ายเข้าร่วมงานผ่านทางระบบ Zoom Meeting ได้อีกช่องทางหนึ่ง 
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดงานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเผยแพร่พระเกียรติคุณและพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีพระราชดำริในการจัดตั้งธนาคารสมอง และทรงเปิดโอกาสให้ผู้เกษียณอายุเข้าร่วมพัฒนาประเทศ สังคม และชุมชน ให้เจริญก้าวหน้าและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งเผยแพร่ผลการดำเนินงานของธนาคารสมองตลอดระยะเวลา ๒๐ ปี ในการร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้แก่ภาคีการพัฒนา และสาธารณชนได้รับทราบ 
การจัดงานครั้งนี้ได้รับพระกรุณาฯ จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสเปิดงานและทรงปาฐกถาพิเศษ และทอดพระเนตรนิทรรศการเสมือนจริงแสดงผลการขับเคลื่อนงานของวุฒิอาสาธนาคารสมองตลอด ๒๐ ปีที่ผ่านมา ประกอบ ๔ โซน ได้แก่ โซนที่ ๑ “จากปรัชญาของแผ่นดิน” โซน ๒ “สู่การกำเนิดธนาคารสมอง และวุฒิอาสาธนาคารสมอง” โซน ๓ “๒๐ ปี การขับเคลื่อนของวุฒิอาสาฯ เพื่อพัฒนาแผ่นดิน” โซน ๔ “สร้างความคิดสู่รูปธรรมที่ยั่งยืน” โดยมีวุฒิอาสาธนาคารสมองเจ้าของผลงานที่ได้รับคัดเลือกมาจัดนิทรรศการเฝ้าทูลละอองพระบาทจากห้องอำนวยการจัดการประชุมออนไลน์ เพื่อถวายข้อมูลแบบ Real Time ทั้งนี้ โดยเลขาธิการ สศช. กราบบังคมทูลถวายรายงานความเป็นมาและความก้าวหน้าการดำเนินงานธนาคารสมอง   
โดยมีผู้ร่วมงานผ่านทางระบบ Zoom Meeting ประมาณ ๑,๐๐๐ คน ประกอบด้วย วุฒิอาสาธนาคารสมองทั่วประเทศ ผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม ชุมชน สาธารณชน และสื่อมวลชน 
เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า สศช. ทำหน้าที่เป็นหน่วยทะเบียนกลางที่ดูแลและสนับสนุนงานธนาคารสมอง และในการขับเคลื่อนการทำงานของวุฒิอาสาธนาคารสมองได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิพัฒนาไท (มพท.) โดยมีภารกิจได้แก่ (1) การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยการสนับสนุนองค์ความรู้ให้วุฒิอาสาฯ ด้านยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนแม่บท แผนการปฏิรูปประเทศ และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (2) การสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ โดยการสนับสนุนข้อมูล แนะนำวุฒิอาสาฯ ให้กับจังหวัด การเข้าร่วมกิจกรรม/โครงการกับภาคีต่าง ๆ ในจังหวัดและชุมชน (3) การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ผลงานของวุฒิอาสาฯ ผ่านทางสื่อต่าง ๆ และ (4) การพัฒนาระบบข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยจัดทำฐานข้อมูลวุฒิอาสาฯ อย่างเป็นระบบและเป็นปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ขอรับความช่วยเหลือสามารถสืบค้นข้อมูลได้ตามความต้องการอย่างสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
สำหรับบทบาทของวุฒิอาสาธนาคารสมองที่ผ่านมา ได้ให้ความช่วยเหลือตามคำร้องขอของหน่วยงาน องค์กร หรือชุมชนต่าง ๆ และริเริ่มกิจกรรมที่สนใจและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาท้องถิ่น สังคม และประเทศชาติในหลากหลายด้าน มีการทำงานทั้งแบบปัจเจกและรวมกลุ่ม ทำงานไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานหลัก และไม่มีกรอบเวลาการปฏิบัติงานที่จำกัด โดยมีบทบาทในการเป็นที่ปรึกษาหรือพี่เลี้ยง วิทยากร ให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะ ทั้งด้านวิชาการและการบริหารจัดการงานให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ เป็นแกนกลางในการประสานและเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานในพื้นที่ร่วมกับชุมชน องค์กร และหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ร่วมวิเคราะห์ปัญหาและเรียนรู้กับชุมชนในลักษณะองค์รวม และเผยแพร่องค์ความรู้และประสบการณ์ผ่านช่องทางการสื่อสารที่หลากหลายสู่สาธารณชน โดยมีการแบ่งกลุ่มวุฒิอาสาฯ ตามความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ ตามสาขาการพัฒนา จำนวน ๒๑ ด้าน 
ปัจจุบัน (ณ วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๕) มีวุฒิอาสาธนาคารสมองทั่วประเทศ จำนวน ๕,๙๒๐ คน เป็นชายร้อยละ ๖๔ และหญิงร้อยละ ๓๖ ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ ๗๕ ปีขึ้นไป สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อจำแนกตามความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในสาขาการพัฒนา พบว่า มีความเชี่ยวชาญด้านการศึกษามากที่สุด ร้อยละ ๑๗.๘๙ รองลงมาเป็นด้านสังคม ชุมชน แรงงาน ร้อยละ ๑๐.๐๘ และด้านการเกษตร ร้อยละ ๙.๗๐ ตามลำดับ
เลขาธิการฯ กล่าวว่า กว่า ๒๐ ปีที่ผ่านมา วุฒิอาสาฯ ได้สร้างประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม มีผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมกว่า ๑๙,๐๐๐ กิจกรรม/โครงการ ใน ๖ ด้าน ทั้งด้านการส่งเสริมอาชีพ รายได้ และพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก การพัฒนาทักษะ ความสามารถ และส่งเสริมศักยภาพมนุษย์ การส่งเสริมสุขภาพอนามัยและสุขภาวะที่ดี การอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม การอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาเพื่อเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งสภาพัฒน์และมูลนิธิพัฒนาไท
ได้รวบรวมองค์ความรู้ ประสบการณ์ และผลการปฏิบัติงานของวุฒิอาสาฯ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านทางสื่อต่าง ๆ ของ สศช. อย่างต่อเนื่อง เช่น จุลสารธนาคารสมอง ซึ่งเผยแพร่เป็นรายไตรมาส หนังสือ “๑ ทศวรรษธนาคารสมอง” “๑๕ ปีธนาคารสมอง” “ธนาคารสมองเพื่อสุขภาพ” โดยเผยแพร่ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และสื่อสังคมออนไลน์ เป็นต้น โดยก้าวต่อไปของธนาคารสมอง ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมศักยภาพของวุฒิอาสาฯ เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยขับเคลื่อนร่วมกับภาคีเครือข่ายการพัฒนาจากทุกภาคส่วน และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ธนาคารสมองผ่านกิจกรรมและสื่อที่หลากหลายอย่างต่อเนื่อง
ในโอกาสนี้ขอเรียนเชิญผู้ที่มีความพร้อม และมีจิตอาสาในการนำปัญญา ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ ทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ทั้งผู้เกษียณอายุราชการ ภาคเอกชน ผู้ทรงภูมิปัญญาท้องถิ่น มาร่วมเป็นวุฒิอาสาฯ เพื่อเป็นหนึ่งพลังทางสังคมและพลังผู้สูงอายุที่จะร่วมกันช่วยเหลือ พัฒนา และขับเคลื่อนชุมชน ท้องถิ่น หน่วยงานต่าง ๆ สังคม และประเทศชาติ รวมทั้งหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ที่ต้องการขอรับความช่วยเหลือจากวุฒิอาสาฯ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่กองยุทธศาสตร์การพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โทรศัพท์ ๐-๒๖๒๘-๒๘๔๙, ๐-๒๒๘๐-๔๐๘๕ ต่อ ๓๕๑๒, ๓๕๑๕, ๓๕๑๖, ๓๕๒๔ หรือ email : brainbank@nesdc.go.th
สามารถรับชม Virtual Exhibition ได้ที่ www.20yearsbrainbank.com