ม.รังสิต เจ๋ง! คว้าถ้วยรางวัลชนะเลิศ ระดับดีเด่น การประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา จากผลงาน “ผิวหนังเทียมจากเจลาติน” ในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ปี 65 ที่ผ่านมา
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มอบรางวัลผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2565 ระดับปริญญาตรี ระดับดีเด่น รางวัลการเขียนข้อเสนอโครงการนวัตกรรม ระดับปริญญาตรี ระดับดี พร้อมถ้วยรางวัลและเหรียญทอง ด้านการสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีการแพทย์ ประจำปี 2565 ให้กับผลงานนวัตกรรม “ผิวหนังเทียมที่ทำจากเจลาตินเมทาคริโลอิลและเซลล์ต้นกำเนิดผสมโกรทแฟคเตอร์ด้วยเทคนิคการพิมพ์ชีวภาพสามมิติสำหรับการรักษาแผล” ของนายกิติพงษ์ ปาสาณพงศ์ นางสาวนพวรรณ เจริญพานิช และนายดนุพัฒน์ วิไลรัตนาภรณ์ นักศึกษาจากวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต จากการประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2565 ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022)” เมื่อวันที่ 1 – 5 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. ได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านวิจัยและนวัตกรรม ในการให้รางวัลประกาศเกียรติคุณหรือยกย่องบุคคลหรือหน่วยงานด้านวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022)” ครั้งที่ 17 ได้มีการมอบรางวัลผลงานจากการประกวด 2 ประเภท ได้แก่ 1. รางวัลการเขียนข้อเสนอผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2565 และ 2. รางวัลผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2565 โดยแบ่งออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร 2) ด้านการสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ 3) ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ อุปกรณ์อัจฉริยะ 4) ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และ BCG Economy Model และ 5) ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในสถาบันการศึกษา โดยเสริมสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ ทักษะเทคนิคด้านนวัตกรรม กระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้นิสิต/นักศึกษาเข้าใจและเห็นถึงความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ที่มีคุณภาพ ศักยภาพ และกลายเป็นบุคลากรทางการวิจัยของประเทศต่อไป
นายกิติพงษ์ ปาสาณพงศ์ นักศึกษาหลักสูตร 4+1 (ปริญญาตรีควบโท) ของวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต เจ้าของผลงาน กล่าวว่า ในปัจจุบันมีผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บบริเวณผิวหนัง ชนิดเรื้อรังเป็นจำนวนมากถึง 77 - 154 ล้านคนต่อปี นับว่าเป็น 1 - 2% ของจำนวนประชากรโลก โดยแนวทางในการรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยเหล่านี้ต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทำการผ่าตัดรักษาร่วมกับการใช้ยารักษา ในบางกรณีอาจต้องนำผิวหนังจากบริเวณส่วนอื่นของร่างกายทำเป็นกราฟท์ผิวหนัง ซึ่งวิธีการรักษาดังกล่าวนั้นทำให้เกิดบาดแผลที่บริเวณอื่นเพิ่มขึ้นเป็นการสร้างความเจ็บปวดเพิ่มให้กับผู้ป่วย นักวิจัยจึงมีแนวคิดที่จะสร้างผิวหนังเทียม สำหรับการรักษาแผลและการฟื้นฟูผิวหนัง ซึ่งอาศัยหลักของวิศวกรรมเนื้อเยื่อ (Tissue Engineering) ในการสร้างผิวหนังเทียมที่มีชีวิตขึ้นด้วยการนําหมึกพิมพ์ชีวภาพชนิดเจลาตินเมทาคริโลอิล (Gelatin Methacryloyl) ที่มีสารตั้งต้นจากเจลาตินเป็นวัสดุโครงเลี้ยงเซลล์นำมาผสมเซลล์ต้นกำเนิดหรือที่เรียกกันว่าสเต็มเซลล์กับเกล็ดเลือดไลเซท (Platelet Lysate) ซึ่งเป็นโกรทแฟคเตอร์ (Growth Factor) จากนั้นใช้เทคนิคการพิมพ์ชีวภาพแบบสามมิติ (3D Bioprinting) ในการขึ้นรูปเป็นผิวหนังเทียม ซึ่งการรักษาแผลและการฟื้นฟูผิวหนังด้วยผิวหนังเทียมนี้ สามารถออกแบบให้เหมาะสมกับลักษณะของแผลได้อย่างแม่นยำ สามารถทำซ้ำได้และมีความคงที่ ลดอาการบาดเจ็บซ้ำซ้อนจากวิธีการดั้งเดิม ถือว่าเป็นวิธีการรักษาบาดแผลแบบใหม่ที่มีคุณภาพและและทันสมัยที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ทุกคน
สำหรับผลงานผิวหนังเทียมที่ทำจากเจลาตินเมทาคริโลอิลและเซลล์ต้นกำเนิดผสมโกรทแฟคเตอร์ด้วยเทคนิคการพิมพ์ชีวภาพสามมิติสำหรับการรักษาแผล มี ผศ.ดร.ณัฐพล ถนัดช่างแสง และ ผศ.ดร.ศนิ บุญญกุล
อาจารย์ประจำห้องปฏิบัติการวัสดุชีวภาพและวิศวกรรมเนื้อเยื่อ แห่งวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งผลงานนี้ยังได้รับความร่วมมือจาก รศ.ดร.นพ.ตุลยพฤกษ์ ถาวรสวัสดิ์รักษ์ แห่งภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ รศ.ดร.ภญ. ฤดี เหมสถาปัตย์ แห่งภาคเภสัชวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการพัฒนาอีกด้วย ปัจจุบันผลงานดังกล่าวยังอยู่ในขั้นทดลองกับสัตว์ทดลอง หากมีผลการทดลองเป็นที่น่าพอใจแล้วจะทำการทดลองกับมนุษย์ต่อไป ถือได้ว่าการสร้างผิวหนังเทียมสำหรับการรักษาแผลและการฟื้นฟูผิวหนังที่สามารถออกแบบให้เหมาะสมกับลักษณะของแผลผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บได้ เป็นวิธีการรักษาบาดแผลแบบใหม่ที่มีคุณภาพและทันสมัย อีกทั้งเป็นการแปรรูปวัสดุจากอุตสาหกรรมอาหารเพื่อเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้และลดต้นทุนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้วัสดุที่เป็นสารตั้งต้นจากเจลาตินหนังปลาทำให้ผิวหนังเทียมนี้สามารถนำไปใช้กับผู้นับถือศาสนาทุกศาสนาได้อีกด้วย