กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)จัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022)” ครั้งที่ 17 ระหว่างวันที่ 1-5 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร โดยมีหน่วยงานเครือข่ายวิจัยทั่วประเทศเข้าร่วมงาน รวมถึงภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ในฐานะเอกชนผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของประเทศได้ร่วมนำผลงานจัดแสดง เป็นนวัตกรรมตรวจเชื้อโรคในอาหาร ผลิตภัณฑ์คุมน้ำหนักโปรตีนจากพืชและโปรไบโอติก
ดร.สุดารัตน์ เล็ดลอด ผู้จัดการฝ่ายวิจัยอาหาร บริษัท ศูนย์พัฒนาและวิจัยอาหาร ซีพีเอฟ จำกัด เปิดเผยว่า ทีมงานได้พัฒนากระบวนการเพื่อความยั่งยืนทางอาหารตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยในส่วนต้นน้ำได้สร้างฐานข้อมูลเชื้อโรคในอาหาร เพื่อนำมาสร้าง DNA บาร์โค้ดที่จำเพาะกับโรค หากพบว่ามีการปนเปื้อน จะหาวิธีเพื่อกำจัดที่จำเพาะต่อเชื้อ (disinfectant and bioactive compound)
สำหรับฐานข้อมูลที่เก็บไว้เป็นวงศ์เชื้อโรคหลักที่พบบ่อยในอาหาร โดยมีการศึกษาสายพันธุ์แยกย่อยทั้งหมด ไปถึงรุ่นลูกหลาน เช่น เชื้อซาลโมเนลล่า (Salmonella) วิบริโอ (Vibrio) และลิสทีเรีย (Listeria) เป็นต้น ซึ่งทั้ง 3 สายพันธุ์นี้เป็นเชื้อก่อโรคร้ายแรงต่อเศรษฐกิจ ถ้าพบในสินค้า นอกจากเสี่ยงจะมีผลต่อชีวิตร้ายแรง แล้วยังทำให้มีความเสี่ยงถูกเรียกคืนสินค้า และ ถูกขึ้นแบล็กลิสต์ได้หากเป็นสินค้าส่งออก ถือเป็นเชื้อที่มีผลทางกฎหมายและมีผลต่อธุรกิจการค้า เชื้อ " 3ตัวหลักนี้เป็นเชื้อก่อให้โรคที่พบในผลิตภัณฑ์พวกสัตว์ปีก สัตว์ทะเล และ ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป ซึ่งครอบคลุมทั้งหมด กับฐานข้อมูลหลักที่เรามีปัญหาอยู่ บริษัทเราทำอาหาร เชื้อโรค 3 สายพันธุ์นี้มีประเด็นมากมาย แค่จัดการกับ 3 สายพันธุ์นี้ ก็ถือว่าช่วยลดผลกระทบได้อย่างมากแล้ว"
ทั้งนี้ในการวิจัย ได้พัฒนาสิ่งที่ใช้ในกระบวนการตรวจสอบหาเชื้อ รวมไปถึง อาหารส่งเสริมการเจริญเติบโตของเชื้อในอาหาร และชุดตรวจแบบพกพาได้สะดวก ใช้งานง่ายและให้ผลอย่างรวดเร็ว โดยผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ ปัจจุบันชุดทดสอบ หรือ Test Kit อยู่ในขั้นทดสอบนำใช้ในหน้างานจริงใช้ภายในองค์กร คาดว่าจะให้ผู้บริโภคนำไปใช้เพื่อสร้างความมั่นใจในอาหาร โดยมีการทำงานเหมือนชุดตรวจ ATK ที่ใช้ตรวจหาเชื้อโรคโควิด-19 วิธีใช้เพียงนำเชื้อหยดในชุดทดสอบ ซึ่งให้ผลอย่างรวดเร็วในราคาไม่แพง โดยรู้ผลภายใน 24 ชั่วโมง จากเดิมต้องตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ ใช้เวลาประมาณ 3-7วัน นอกจากนี้การตรวจในห้องปฏิบัติการสนนราคาค่าใช้จ่ายประมาณ 200-1,500 บาท
"การพัฒนาชุดตรวจนี้ใช้หลักการเดียวกันกับชุดตรวจเชื้อโควิด-19 ถ้าเราไม่รู้ว่าเชื้อมีการกลายพันธฺุ์เป็นอะไร เราจะไม่สามารถจัดการวัคซีนมาต่อต้านได้ เช่นเดียวกัน ถ้าเรารู้จักเชื้อก่อโรคในอาหารมากเท่าไหร่ เราจะสามารถควบคุมหรือฆ่าได้ตั้งแต่ต้น รู้ว่าตรงไหนเป็นจุดเสี่ยง เป็นการนำฐานข้อมูลมาใช้ต่อเพื่อดูว่า เชื้อตัวนี้ตอบสนองกับการฆ่าแบบไหน การควบคุมแบบไหนและสร้างวิธีจัดการ รวมถึงสร้างวิธีตรวจสอบเพื่อให้เจอเชื้อได้ง่าย ขณะนี้ทำถึงขั้นที่ 2 ถ้าถึงขั้นที่3 ผู้บริโภคและร้านค้าปลีกจะสามารถที่จะทวนสอบย้อนกลับได้ว่าเชื้อมาจากที่ใด
ชุดตรวจที่พัฒนานี้หากนำออกขายเชิงพาณิชย์จะมีราคาประมาณ 200 บาท ซึ่งจะช่วยตอบสนองเรื่องความมั่นคงทางอาหารได้ นอกจากนี้การวิจัยครั้งนี้ยังทำให้ได้องค์ความรู้ที่นำมาใช้หน้างานได้จริง ไม่ใช่เป็นงานวิจัยแล้วขึ้นหิ้ง ซึ่งจะพยายามลดต้นทุน คาดว่าจะสามารถนำออกสู่เชิงพาณิชย์ได้ภายใน 2 ปี”
โมเดลการศึกษาวิจัยนี้ อาจเป็นประโยชน์แก่หน่วยงานเอกชนอื่น ๆ หรือหน่วยงานภาครัฐเพื่อช่วยควบคุมเชื้อก่อโรคอันตรายในอาหาร สร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับสังคมไทยได้ นอกจากนี้ภายในบูทซีพีเอฟ ยังโชว์ผลิตภัณฑ์ควบคุมโภชนาการจากโปรไบโอนิกและล่าสุดเป็นโปรตีนจากพืช ที่ช่วยให้ร่างกายได้สารอาหารวิตามิน อาหาร เกลือแร่ ครบถ้วนจากสูตรอาหารเข้มข้น ค่อย ๆ ปล่อยพลังงานออกมาทำให้ไม่รู้สึกหิว ใช้รับประทานแทนอาหารประจำวัน 1 มื้อ ช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดการรับประทานจุกจิก ตอบโจทย์ผู้ต้องการคุมน้ำหนัก ในราคาจับต้องได้