นักเรียนพิการทำได้ ทีม “รร.โสตศึกษานครปฐม” คว้าแชมป์ KidBright for All โครงการสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัว ด้วยบอร์ด KidBright
(วันที่ 2 กรกฎาคม 2565) ณ ห้องออดิทอเรียม บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดกิจกรรมประกาศรางวัล KidBright for All : โครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวด้วยบอร์ด KidBright ของนักเรียนพิการ ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการส่งเสริมการเรียนโค้ดดิ้งสำหรับนักเรียนพิการด้วยบอร์ด KidBright หรือบอร์ดสมองกลฝังตัว ผลงานวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เนคเทค-สวทช. โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ นางสาววันทนีย์ พันธชาติ กรรมการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ผู้แทนกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ สพฐ. คณะกรรมการตัดสิน ครูและนักเรียนพิการรวมกว่า 250 คนเข้าร่วมงาน
นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า กิจกรรมประกาศรางวัล KidBright for All : โครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวด้วยบอร์ด KidBright ของนักเรียนพิการ เป็นความร่วมมือระหว่าง สวทช. มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และกองทุนส่งเสริมและพัฒนการศึกษาสำหรับคนพิการ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยการจัดกิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของกลุ่มนักเรียนพิการโดยเฉพาะ เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนได้มีโอกาสแสดงความสามารถและศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ ตลอดจนให้ครูและนักเรียนที่เข้าร่วมนำเสนอผลงาน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการจัดทำโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวซึ่งกันและกันระหว่างโรงเรียน โดยมีครูและนักเรียนพิการเข้าร่วมจำนวน 26 โรงเรียน และทาง สวทช. โดย เนคเทค เป็นผู้สนับสนุนบอร์ด KidBright ให้แก่โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการขยายผล จำนวน 50 บอร์ดต่อโรงเรียน ทั้งนี้ได้นำหลักสูตรและกิจกรรมที่ดำเนินงานกับโรงเรียนนำร่องของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ มาใช้ในการอบรมให้ความรู้แก่ครูและนักเรียนพิการตั้งแต่การใช้งานบอร์ด KidBright ขั้นพื้นฐาน การใช้เซนเซอร์ต่าง ๆ และบอร์ดขยายความสามารถร่วมกับบอร์ด KidBright ไปจนถึงการจัดทำโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัว ซึ่งคณะครูที่เข้าร่วมอบรมได้นำความรู้ไปขยายผลจัดกิจกรรมการสอนโค้ดดิ้งด้วยบอร์ด KidBright ให้แก่นักเรียนที่โรงเรียนเพิ่มเติมในวงกว้างร่วมด้วย
นางกุลประภา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้กองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สังกัด สพฐ. เห็นความสำคัญของการส่งเสริมการเรียนการสอนโค้ดดิ้งสำหรับนักเรียนพิการ จึงสนับสนุนงบประมาณให้ สวทช. ดำเนินงาน “โครงการส่งเสริมการเรียนโค้ดดิ้งสำหรับนักเรียนพิการด้วยบอร์ด KidBright” ในการจัดอบรมเพื่อพัฒนาความรู้ในการใช้งานบอร์ด KidBright ให้แก่ครูและนักเรียนพิการจากโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน และโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกายและการเคลื่อนไหว ในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 26 โรงเรียน ซึ่งการแข่งขันตลอด 2 วัน ปรากฏว่า ทีมที่ชนะเลิศได้แก่ โครงงานการแจ้งเตือนความปลอดภัยจากภัยน้ำท่วมอุโมงค์ทางลอดด้วยระบบควบคุมอัจฉริยะ จากโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดนครปฐม รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ โครงงานระบบช่วยเหลืออัจฉริยะสำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ จากรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ และรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ โครงงานระบบเตือนภัยการขับขี่จักรยานสำหรับคนพิการทางด้านการได้ยิน จากโรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์
ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามการจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นเวทีการประกวดโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัว เพื่อพัฒนาศักยภาพของครูและนักเรียนพิการจากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 26 โรงเรียนในการนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมโค้ดดิ้งด้วยบอร์ด KidBright ร่วมกับการใช้กระบวนความคิดทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรม มาพัฒนาโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวตามจินตนาการของตนเองหรือทีม โดยมีการวางแผนการสร้างโครงงานอย่างมีระบบและขั้นตอนให้ทำงานตามเป้าหมายจนได้ข้อสรุปหรือผลสรุปที่เป็นคำตอบในเรื่องนั้นๆ ซึ่งจะช่วยทำให้นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินสามารถเรียนรู้ได้ง่าย เกิดความเข้าใจจากภาพที่เห็นและสามารถต่อยอดที่จะไปเขียนโค้ดด้วยคำสั่งอื่นต่อไปได้
ศาตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญในการพัฒนาทักษะของนักเรียนพิการให้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพในศตวรรษที่ 21 สามารถสร้างความรู้ ความเข้าใจและส่งเสริมทักษะขั้นพื้นฐานในการนำข้อมูลสื่อและเทคโนโลยีดิจิทัลไปสร้างนวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเห็นได้จากผลงานที่นักเรียนและครูจากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการเรียนโค้ดดิ้งสำหรับนักเรียนพิการ สามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมอบรมมาพัฒนาโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวด้วยบอร์ด KidBright ได้อย่างน่าสนใจ
ทั้งนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเห็นความสำคัญในการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนทุกกลุ่ม รวมทั้งนักเรียนพิการให้เข้าถึงความรู้และเท่าทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ ดังนั้นโครงการส่งเสริมการเรียนโค้ดดิ้งสำหรับนักเรียนพิการจึงเป็นอีกโครงการฯ ที่มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ได้ริเริ่มขึ้นในโรงเรียนนำร่องที่จัดการเรียนการสอนนักเรียน ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินและนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกายและการเคลื่อนไหวจาก 10 โรงเรียนเมื่อปี 2561 จนสามารถขยายผลการดำเนินงานไปยัง 26 โรงเรียนทั่วประเทศในปัจจุบัน ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินงานของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ที่ต้องการให้หน่วยงานต้นสังกัดได้ดำเนินการต่อยอด ขยายผลการดำเนินงาน ให้นักเรียนพิการได้มีโอกาสเรียนรู้โค้ดดิ้งเช่นเดียวกับเด็กทั่วไป
ด้าน นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้รับผิดชอบการจัดการศึกษาของประเทศ ให้ความสำคัญกับการศึกษาพิเศษ และตระหนักถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนนโยบายโค้ดดิ้ง (Coding) ด้วยการพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดแบบมีตรรกะ และมีระบบในการแก้ปัญหา สามารถวางแผนการจัดการอย่างเป็นขั้นตอนในการดำเนินชีวิต การจัดการเรียนวิชาวิทยาการคำนวณ หรือ Coding เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายที่จะทำให้ผู้บริหารสถานศึกษา คุณครู นักเรียนและผู้ปกครอง เข้าใจเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน จึงมีความจำเป็นที่ต้องเริ่มพัฒนาการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับบริบทของผู้เรียนพิการต่อไป อย่างไรก็ตามเชื่อว่า Coding คือ ทางรอดของทุกวิกฤต โดยใช้ภาคการศึกษานำและใช้กลไกของกระทรวงศึกษาธิการในการขับเคลื่อนนโยบายอย่างต่อเนื่อง โดยหวังว่าเมื่อมีการเรียน Coding ในระดับที่สูงขึ้น จะสามารถสร้าง Platform ของประเทศไทยได้เองเพื่อสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ในที่สุด
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ1
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ2
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ2
“เราจะสร้างองค์ความรู้และปลูกฝัง Coding ให้กับประชาชนทุกภาคส่วน ซึ่งนโยบาย Coding For All ได้ถูกขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง นับว่าประสบความสำเร็จและมีความคืบหน้าไปอย่างมาก มีคณะทำงานและคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนในหลายภาคส่วนอย่างเป็นระบบ แม้จะเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แต่ก็สามารถขับเคลื่อนนโยบายได้อย่างรวดเร็ว โดยมีเป้าหมายที่ต้องการเร่งกระจายการเรียนรู้ Coding ไม่เฉพาะแต่ครูและนักเรียนเท่านั้น แต่ต้องกระจายไปสู่ทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ทุกช่วงวัยให้ได้มากที่สุด รวมถึงการปูพื้นฐานการปฏิรูปการศึกษาไปถึงเด็กทุกคนโดยไร้ขอบเขต สร้างโอกาสเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้เด็กมีทักษะชีวิตที่ดี สามารถพึ่งตนเองได้ รวมถึงการอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข มีศักดิ์ศรีและมีคุณภาพชีวิตที่ดี”
อย่างไรก็ตามกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ ยินดีให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมการเรียน Coding สำหรับนักเรียนพิการด้วยบอร์ด KidBright ในการจัดอบรมเพื่อพัฒนาความรู้ด้าน Coding ผ่านการใช้งานบอร์ด KidBright ซึ่งเป็นบอร์ดสมองกลฝังตัว ผลงานวิจัยของสวทช. โดย เนคเทค ให้แก่ครูและนักเรียนพิการจากโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนนักเรียน ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินและโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกายและการเคลื่อนไหว ในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ จำนวน 26 โรงเรียนต่อไป