สวทช. จับมือ สรพ. พัฒนาการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข (2P Safety Tech)



(30 มิ.ย. 2565) ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) ร่วมกับ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) (สรพ.) ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข (2P Safety Tech) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมความปลอดภัยจากอุบัติการณ์ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจริงในโรงพยาบาลมาผสมผสานแก้ไขด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม สอดคล้องกับบริบทของแต่ละโรงพยาบาลให้ใช้ประโยชน์ได้จริง

ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) (สรพ.) พร้อมด้วย ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมเป็นประธานและลงนาม และ ดร.บรรจง จำปา รองผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) (สรพ.) คุณศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. (BIC) เป็นพยานในครั้งนี้

ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สรพ.และสวทช. ได้มีโครงการที่ร่วมมือกันในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรในโรงพยาบาล หรือ โครงการ 2P Safety Tech โดยเป็นโครงการที่ ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แล้ว ซึ่งผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า สามารถพัฒนานวัตกรรมต้นแบบที่แก้ปัญหาในโรงพยาบาล สามารถแก้ปัญหาหลายปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ พบว่ามีนวัตกรรมจำนวนหนึ่งที่จะมีการเตรียมขยายผลไปสู่หน่วยบริการสาธารณสุขอื่น ๆ จากความร่วมมือในการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรม ได้มีโรงพยาบาลที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการกว่า 78 โรงพยาบาลจากทั่วประเทศ  เกิดต้นแบบนวัตกรรม 40 ต้นแบบ ใช้จริง 22 นวัตกรรม มีการขยายผลไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ แล้ว 2 นวัตกรรม คือ นวัตกรรมที่พัฒนาร่วมกับโรงพระบาลระยอง และ โรงพยาบาลหาดใหญ่ โดยนวัตกรรม Rapid Response Alert ของ  รพ.หาดใหญ่ถูกกระทรวงสาธารณสุข นำไปใช้ในโรงพยาบาลศูนย์ทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จ ของโครงการ 2P Safety Tech ที่สามารถพัฒนา นวัตกรรม ให้สามารถใช้งานได้จริง เพื่อนำไปสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรสาธารณสุขเพื่อให้บริการผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น

เมื่อจะมีการนำนวัตกรรมขยายไปใช้กับโรงพยาบาลอื่น ๆ นั้น สวทช. และ สรพ. ในฐานะผู้ร่วมกันพัฒนาโครงการ ได้ตระหนักถึงความจำเป็นในหลายด้าน มีการหารือและเข้าใจตรงกันว่าการนำเทคโนโลยีใช้ขยายผลอาจจะพบกับ ความท้าทายหลายประเด็น อาทิ การบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา แนวทางการถ่ายทอดเทคโนโลยี ปัญหาด้านโครงสร้างของแต่ละหน่วยงานที่แตกต่างกัน เป็นต้น จึงเป็นวัตถุประสงค์หลักของการลงนามความร่วมมือกันอย่างเป็นทางการในครั้งนี้เพื่อที่จะมีการศึกษารูปแบบการพัฒนานวัตกรรม ทั้งด้านมาตรฐานความปลอดภัยของเทคโนโลยี ที่จะมีผลกระทบเชิงสาธารณสุข เรื่องการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา และรูปแบบวิธีการนำเทคโนโลยีต้นแบบไปใช้ใน  วงกว้างมากขึ้น ภายใต้แนวคิด 2P Safety Scale up รวมถึงการนำงานวิจัยที่ สวทช.มีอยู่มาร่วมกันถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับโรงพยาบาลที่มีความพร้อมรับถ่ายทอดเทคโนโลยี

พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) (สรพ.) กล่าวว่าสถาบันฯ มีบทบาทภารกิจสําคัญในการประเมินรับรอง ระบบงาน และรับรองคุณภาพสถานพยาบาลของสถานพยาบาล รวมทั้งกำหนดมาตรฐานของสถานพยาบาล เพื่อใช้เป็นแนว ทางการประเมินการพัฒนา และการรับรองคุณภาพของ สถานพยาบาล รวมทั้งรวบรวมข้อมูล ศึกษา วิเคราะห์ จัดให้มีการ วิจัยและจัดทําข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการส่งเสริม สนับสนุนและ พัฒนาคุณภาพให้สถานพยาบาลทั้งภาครัฐและภาคเอกชนใน ประเทศไทยผ่านการรับรองตามมาตรฐาน HA เพื่อให้ สถานพยาบาลมีมาตรฐานด้านการบริการดูแลรักษาผู้ป่วยให้มี ความปลอดภัยให้กับผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข และส่งเสริมให้เกิดกลไกในการพัฒนาระบบการให้บริการที่ดีมีคุณภาพและ มาตรฐานความปลอดภัยของสถานพยาบาลอย่างเป็นระบบ มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในประเทศ หรือ ต่างประเทศ และภาคเอกชนที่ดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาและการรับรอง คุณภาพสถานพยาบาล

ญ.ปิยวรรณ กล่าวเพิ่มว่า จากการดำเนินงานตามภารกิจของสถาบันฯ เพื่อให้เกิดระบบบริการที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยสำหรับผู้ป่วย สถาบันฯ ได้เข้าร่วมกับองค์การอมัยโลกในการขับเคลื่อนด้านความปลอดภัย ของผู้ป่วย จึงได้นำแนวทางมาเข้ามาขับเคลื่อนในประเทศไทย กำหนดเป็นนโยบายและส่งเสริมการดำเนินสู่การปฏิบัติ โดย กำหนดเพิ่มเติมด้านความปลอดภัยของบุคลากรสาธารณสุข เป็น Patient and Personnel Safety หรือ 2P Safety ตั้งแต่ปี 2560 มีการ review patient safety goals เป็น Patient and Personnel หรือ 2P Safety Goals 2018 : SIMPLE 2 ประกาศใช้เมื่อปี 2561 ด้วยกลไกการขับเคลื่อนสำคัญภายใต้ แนวคิด “Quality and Safety+ Coverage and Access จนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 2P Safety ระดับประเทศ มีการประเมินสถานการณ์ patient Safety ในประเทศไทย มีการพัฒนาระบบ National Reporting and Learning system ซึ่งมีโรงพยาบาลเข้าร่วมเป็นสมาชิก กว่า 855 แห่ง ในการเข้าร่วมเรียนรู้และรายงานอุบัติการณ์ในระบบ

จากการเรียนรู้มีการนำข้อมูลจากอุบัติการณ์ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจริงในโรงพยาบาลที่เป็นจุด pain point ของโรงพยาบาล ที่เป็นปัญหาต่อการปฏิบัติงานที่อยากจะพัฒนาเพื่อลด Human error ในการปฏิบัติงาน จึงเป็นที่มา “2P Safety Tech" ซึ่งเป็นหนึ่งในงานสำคัญของการขับเคลื่อนงานเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข หรือ 2P Safety Hospital ที่ สรพ. และ BIC ได้ร่วมมือกัน ตั้งแต่ปี 2562 - จนถึงปัจจุบัน

ตลอดระยะเวลา 3 ปี มีนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นไม่น้อยกว่า 132 ผลงาน จากแนวคิด Human Factor Engineering เพื่อป้องกัน ความเสี่ยงตามแนวทาง SIMPLE สรพ.ได้เปิดรับสมัครทีม โรงพยาบาลที่สนใจจากโครงการ 2P Safety Hospital และ คัดเลือกมาเข้าแคมป์อบรมพัฒนานวัตกรรมเพื่อความปลอดภัย ส่งเสริมให้เกิดเทคโนโลยีนวัตกรรมด้านความปลอดภัยของผู้ป่วย และบุคลากรสาธารณสุข โดยการจับคู่โรงพยาบาลกับนวัตกร Start Up ของ สวทช. เพื่อร่วมกันการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรม โดยมี รูปแบบการเคลื่อนงาน ภายใต้ 4C คือ Care : ด้านการดูแลรักษา , Change : นวัตกรรมด้านการเปลี่ยนแปลง, Collaboration : สร้างการมีส่วนร่วม, Call for Action : การออกแบบนวัตกรรมที่ กระตุ้นความสนใจ มีผลงานโดดเด่นได้รับรางวัลนวัตกรรมดีเด่น แบ่งตามรูปแบบการพัฒนานวัตกรรม ผอ.สรพ. กล่าวทิ้งท้าย