วช.หนุนทีมวิจัย ม.เกษตร ถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปกล้วยเพิ่มมูลค่า ช่วยแก้ปัญหากล้วยล้นตลาด พร้อมต่อยอดขยายผลสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน



ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง  ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ  กล่าวว่า  วช.ได้ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อการพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน ผ่านกลไกรูปแบบการจัดการความรู้การวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาให้แก่กลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ  (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  จึงสนับสนุนทุนวิจัยภายใต้โครงการจัดการความรู้การวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์ ประจําปี 2562 ให้กับโครงการ “ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์ คุกกี้กล้วยและขนมกล้วยกึ่งสําเร็จรูปในพื้นที่ตําบลคลองนกกระทุง อําเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม”  โดยมี “นางจันทร์เพ็ญ แสงประกาย” จากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ  เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้จากเจ้าของผลงานวิจัยโดยตรง เพื่อให้สามารถนำไปต่อยอดขยายผล สร้างอาชีพและรายได้กับชุมชน 


    นางจันทร์เพ็ญ แสงประกาย  สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เนื่องจากชาวตำบลคลองนกกระทุง อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐมประสบปัญหาเรื่องกล้วยล้นตลาด  องค์การบริหารส่วนตำบลคลองนกกระทุงฯ  จึงประสานงานกับคณะวิจัยฯ เพื่อนำองค์ความรู้ไปช่วยแปรรูปกล้วยให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้นและมีอายุการเก็บนานขึ้น  ซึ่งเมื่อคณะทำงานเข้าไปสำรวจชุมชนดังกล่าวพบว่า เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่ม ติดกับแม่น้ำท่าจีนและลำคลองสาขาหลายสาย ประชากรในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำสวน มีผลผลิตจำพวกพืชไร่ไม้ผลออกจำหน่าย ชุมชนสามารถปลูกกล้วยได้ผลผลิตสูง ทำให้เกิดปัญหากล้วยล้นตลาดในช่วงที่ความต้องการของตลาดต่ำ 


ทางคณะผู้วิจัยจึงร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร จัดทำโครงการเรื่อง “การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์ คุกกี้กล้วยและขนมกล้วยกึ่งสําเร็จรูปในพื้นที่ตําบลคลองนกกระทุง อําเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม”   เพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชนในตำบลคลองนกกระทุง สามารถเข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากคณะผู้วิจัยที่เป็นเจ้าของผลงานวิจัยโดยตรง และสามารถนำไปต่อยอดขยายผลเพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ชุมชน


    โดยคณะผู้วิจัยคัดเลือกองค์ความรู้จากงานวิจัยและเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาถ่ายทอดให้แก่ชาวชุมชน  2 ผลงาน คือ  1.ผลิตภัณฑ์คุกกี้กล้วยที่ไม่มีส่วนผสมของไขมันทรานส์ ซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับการจดอนุสิทธิบัตร เมื่อปี 2558  และ  2.ผลิตภัณฑ์ขนมกล้วยผงกึ่งสำเร็จรูป  ซึ่งเป็นผลงานจากงานวิจัยที่ได้รับทุนจาก วช. เมื่อปีงบประมาณ 2552  ผลงานผลิตภัณฑ์จากกล้วยทั้ง 2 ผลงานนี้เป็นการผลิตที่ใช้อุปกรณ์ เครื่องมือและเทคโนโลยีระดับพื้นฐาน เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์กล้วยในรูปแบบใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด และช่วยแก้ปัญหาเมื่อเกิดภาวะกล้วยล้นตลาดภายในชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถทำการผลิตเพื่อจำหน่ายในระดับท้องถิ่นและระดับจังหวัดได้ 


สำหรับเครื่องมืออื่น ๆ ที่เข้าไปสนับสนุนชุมชนได้แก่ เครื่องตีผสมอาหาร เครื่องปั่นแห้งรอบความเร็วสูงสำหรับบดแป้งกล้วย ตู้อบลมร้อน  เตาอบแก๊สควบคุมด้วยไฟฟ้า เครื่องซีลภาชนะบรรจุอาหาร นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยยังได้จัดทำคู่มือเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต ผลิตภัณฑ์คุกกี้กล้วยและขนมกล้วยกึ่งสำเร็จรูป โดยอธิบายกรรมวิธีการทำในแต่ละขั้นตอน จนได้เป็นผลิตภัณฑ์คุกกี้กล้วย และผลิตภัณฑ์ ขนมกล้วยกึ่งสำเร็จรูปที่ถูกสุขลักษณะ มีคุณค่าทางโภชนาการบรรจุอยู่ในซองอะลูมิเนียมฟอยล์พร้อมบริโภค 


    นางจันทร์เพ็ญ กล่าวว่า   โครงการนี้มีจุดเด่นอยู่ที่คณะวิจัยมีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีการผลิตอาหาร และแปรรูปอาหารจากวัตถุดิบท้องถิ่นเพื่อการเก็บรักษาที่ยาวนานขึ้น อีกทั้งยังคงคุณสมบัติทางโภชนาการของวัตถุดิบได้เป็นอย่างดี ผลงานวิจัยที่นำมาถ่ายทอดในโครงการ ทั้ง ผลิตภัณฑ์คุกกี้กล้วย และผลิตภัณฑ์ขนมกล้วยผงกึ่งสำเร็จรูป  ถือเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ไม่เคยมีวางจำหน่ายมาก่อน และเป็นเทคนิคที่ชาวบ้านสามารถผลิตได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังมีอายุการเก็บรักษาได้นาน 
คณะผู้วิจัย คาดหวังว่าชาวชุมชนจะสามารถนำความรู้ ทักษะที่เรียนและการฝึกอบรมปฏิบัติไปใช้ในการแปรรูปกล้วยน้ำว้าให้เป็นผลิตภัณฑ์ประจำชุมชน เพื่อสร้างรายได้และอาชีพที่มั่นคงต่อไป