วช. ชูยุทธศาสตร์งานวิจัยเด่น ปี 2565 ยกระดับคุณภาพชีวิตพลเมืองในประเทศ
เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดกิจกรรมแถลงข่าว “NRCT Talk : การใช้ประโยชน์งานวิจัย ปี 65” พร้อมบรรยายแผนปฏิบัติการการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรมเชิงเป้าหมายยุทธศาสตร์ ณ ศูนย์จัดการความรู้การวิจัย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ถนนพหลโยธิน กรุงเทพมหานคร เพื่อให้สาธารณชนได้รับรู้ถึงการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ วทน. ตลอดเส้นทางการบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมเชิงเป้าหมายยุทธศาสตร์ในรูปแบบใหม่ บนบทบาทของ วช. ในปี 2565
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ให้ความสำคัญกับการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เพื่อหนุนเสริมการพัฒนาประเทศ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) หน่วยงานภายใต้การกำกับของกระทรวงจึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรมเชิงเป้าหมายยุทธศาสตร์ เพื่อใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตามแนวนโยบายของ อว. เพื่อสนองเป้าหมายแผนยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ ซึ่งแผนปฏิบัติการการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรมเชิงเป้าหมายยุทธศาสตร์ มี 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ 1) ยุทธศาสตร์สร้างการเติบโตสีเขียวสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ กำจัดขยะแบบ Zero Waste 2) ยุทธศาสตร์ส่งเสริมเกษตรมูลค่าสูง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นแหล่งอาหารโลก 3) ยุทธศาสตร์สร้างสังคมสูงวัย แบบพลังผู้เฒ่า 4) ยุทธศาสตร์สร้างการเติบโต แบบแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน และลดความเหลื่อมล้ำ และ 5) ยุทธศาสตร์การเพิ่ม ขีดความสามารถการแข่งขันลดการนำเข้า และขับเคลื่อนประเด็นเร่งด่วนของประเทศ ซึ่งยุทธศาสตร์ทั้ง 5 เป็นกรอบแนวคิดการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรมเชิงเป้าหมายยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาประเทศในรูปแบบใหม่บนแนวทางของ วช.
1) ยุทธศาสตร์สร้างการเติบโตสีเขียวสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ กำจัดขยะแบบ Zero Waste
วช. ตั้งเป้าหมายพัฒนาประเทศสู่วิถิยั่งยืน เน้นผลิตและบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหาท้าทายสำคัญในด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม green economy หรือเศรษฐกิจสีเขียว และ BCG Model ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ
2) ยุทธศาสตร์ส่งเสริมเกษตรมูลค่าสูง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นแหล่งหารโลกวช. จะนำงานวิจัยและนวัตกรรม มาปรับโฉมเกษตรกรจากเกษตรดั้งเดิมเป็นเกษตรสมัยใหม่ นอกจากนี้ วช. จะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ AI เข้ามาช่วยแปรรูปในการเพิ่มมูลค่าทำให้ประเทศไทยเป็นครัวโลก ทั้งนี้ วช.ยังมีการดูแลหลังการเก็บเกี่ยว รวมถึงการขนส่ง และการสร้างต้นแบบสมาร์ท ฟาร์มในที่ต่าง ๆ อีกด้วย
3) ยุทธศาสตร์สร้างสังคมสูงวัย แบบพลังผู้เฒ่า วช. จะสร้างสังคมโดยการนำผู้สูงวัยมาเป็นตัวขับเคลื่อนประเทศในมิติต่าง ๆ ของประเทศ ที่ไม่ใช่เฉพาะการเป็นผู้พึ่งพิง แต่จะทำให้เป็นพลังของประเทศ ในปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ยุทธศาสตร์สำคัญของกระทรวง อว. คือโครงการเปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง ได้ครอบคลุมในการดูแลกลุ่มผู้สูงวัย โดยเฉพาะกลุ่มก่อนอายุ 60 ปี กลุ่มนี้ยังมีความเข้มแข็ง มีความรู้ความสามารถ ยังมีพลังช่วยในเรื่องขับเคลื่อนคุณภาพให้เป็นพลังทางสังคม วช. จึงได้นำแนวปฏิบัติของ อว. มาสร้างแพลตฟอร์ม โดยการนำนวัตกรรมไปสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจผ่านกลุ่มผู้สูงวัย ในโครงการเปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง ในช่วงปีที่ผ่านมา วช. นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมลงไปช่วย 10 โครงการ ครอบคลุมทั้ง 4 ภูมิภาค ซึ่งเป้าหมายของการเข้าถึงผู้สูงวัยของ วช. เป็นหลักแสนคน ขณะนี้ บรรลุเป้าไปแล้ว 4-5 โครงการ อาทิ โครงการเปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง : เกษียณมีดี ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้ผู้สูงวัยมีงานทำ และตลาดจำหน่ายสินค้าในรูปแบบออนไลน์ มีผู้เข้าร่วมโครงการหลายหมื่นคนในเขตภาคเหนือ ถือเป็นกลยุทธที่ วช. กำลังจะเดินหน้าต่อไป
4) ยุทธศาสตร์สร้างการเติบโต แบบแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน และลดความเหลื่อมล้ำ วช. ได้นำนวัตกรรมไปถ่ายทอดเป็นองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาให้กับพี่น้องภาคประชาชน ซึ่งในส่วนการทำงานเป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตในการอาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมชนอย่างมีความสุขกับครอบครัว มีชีวิตที่ปลอดภัย มีความหมาย และยังมีความรู้สึกของความมีส่วนร่วมชุมชน โดยไม่ต้องเดินทางไปทำงานที่อื่น และนี้ก็สิ่งที่ วช. พยายามที่จะผลักดันให้ประชาชนในพื้นที่ สร้างผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาในท้องถิ่น วช. จึงเดินหน้าสร้างโครงการที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ และทำให้เกิดความภาคภูมิใจ
นอกจากนี้ วช.ยังมีการสร้างความเข้มแข็ง โดยการใช้กลไกมหาวิทยาลัยในพื้นที่มาช่วยส่งเสริมในด้านมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ให้กับชุมชน ซึ่ง วช. ได้มีกลยุทธการทำงานต่อเนื่องมาหลายปี โดยเฉพาะจังหวัดรอง วช. ได้ดึงสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว. ) เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนและสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้กับชุมชน และในปี 2565 วช. จะเดินหน้าต่อ ซึ่งจะมีผลิตภัณฑ์ที่เข้าสู่การรับรองเชิงมาตรฐานหลักร้อย จนถึงหลักพันครอบคลุมในหลาย 10 จังหวัด
5) ยุทธศาสตร์การเพิ่ม ขีดความสามารถการแข่งขันลดการนำเข้า และขับเคลื่อนประเด็นเร่งด่วนของประเทศ วช. มีนโยบายที่จะนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมพัฒนาต่อยอดและใช้ประโยชน์เพื่อบรรเทาปัญหาเร่งด่วนของประเทศ โดยนำองค์ความรู้และงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ อาทิ ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัญหาฝุ่นละออง และหมอกควัน เป็นต้น
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวทิ้งท้ายว่า วช. จะช่วยผลักดันและสนับสนุนผลงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทยให้ก้าวไกล มีศักยภาพ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในหลากหลายมิติลดปัญหาต่าง ๆ ของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อไป