วช. หนุน มทร.รัตนโกสินทร์ ลุยพัฒนาท่องเที่ยวเมืองรอง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ด้วยโมบายแอปฯ



วันนี้ (10 กุมภาพันธ์ 2565) นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ได้รับมอบหมายจาก ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ นำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เยี่ยมชมผลงานวิจัยของคณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีรัตนโกสินทร์ พัฒนาโมบายแอปพลิเคชัน “ท่องเที่ยวโพธาราม” ภายใต้การสนับสนุนทุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ฟ้าใส สามารถ


รองอธิการบดี มทร.รัตนโกสินทร์ และ ดร.สันติ ไทยยืนวงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มทร.รัตนโกสินทร์ ให้การต้อนรับ พร้อมชวนสัมผัสวิถีชีวิตชุมชน ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ผ่านโปรแกรมท่องเที่ยวสุดสร้างสรรค์

ผศ.ดร.สุภัค เผียงสูงเนิน รองผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมงานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ เปิดเผยว่า โครงการ “การพัฒนารูปแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและอาหารพื้นถิ่น โดยใช้โมบายแอปพลิเคชันเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี” เป็นพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัด ผ่านการนำเทคโนโลยีโมบายแอปพลิเคชัน และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม นักวิจัยได้ออกแบบเส้นทางและโปรแกรมท่องเที่ยว อาหารพื้นถิ่นและของดีเมืองโพธาราม เป็น 2 โปรแกรม คือ โปรแกรมแบบ One day trip และโปรแกรมแบบ 2 วัน 1 คืน โดยการวิจัยมีการคาดการณ์ว่า นักท่องเที่ยวจะมีการจับจ่ายใช้สอยในเส้นทางท่องเที่ยว ประมาณ 1,000-1,500 บาทต่อคน นับว่าเป็นการสร้างรายได้ให้ประชาชนอำเภอโพธาราม และจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง ราชบุรี เป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้สามารถอยู่ได้ในยุคใหม่ และสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวให้ดีขึ้นได้อีกครั้ง ภายหลังการระบาดโควิด-19

โดยนักท่องเที่ยวสามารถดาวน์โหลด แอปพลิเคชัน “ท่องเที่ยวโพธาราม” บนระบบแอนดรอยด์ได้ เพื่อใช้เป็นช่องทางดูแหล่งท่องเที่ยวแนะนำ อาหารพื้นถิ่น ที่พัก สถานที่ราชการ และทริปแนะนำต่าง ๆ ในอำเภอโพธาราม ได้อย่างสะดวกสบาย โดยเชื่อมโยงกับโซเชียลมีเดีย และ Google Map อาทิ วัดขนอน ต.สร้อยฟ้า อ.โพธาราม ที่เชิดชูการแสดง “หนังใหญ่”อายุร้อยกว่าปี ให้คนไทยได้ร่วมอนุรักษ์และเรียนรู้หนังใหญ่ ซึ่งได้รับการจดทะเบียนจาก UNESCO วัดคงคาราม ตลาดวิถีไทย-มอญ และโครงการพระราชดำริเขาชะงุ้ม เป็นต้น

ซึ่งขณะนี้ ได้ต่อยอดแอปฯ เป็นปีที่ 2 แล้ว โดยจะพัฒนาเป็น Information tourist gateway ที่มีข้อมูลที่สมบูรณ์มากขึ้น เช่น ข้อมูลการเดินทาง ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ร้านค้า การจองที่พัก และผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นต้น พร้อมทั้งเพิ่มฟังก์ชันเทคโนโลยี AR เข้าไป ให้เกิดเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต บนโมบายแอปพลิเคชัน เช่น การสแกน AR หนังใหญ่ วัดขนอน ซึ่งจะช่วยสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวที่แปลกใหม่ ได้สัมผัสกับแผนการตลาดดิจิทัลที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น เป็นไปได้ว่า นักท่องเที่ยวจะเกิดความต้องการและตัดสินใจเดินทางมาสัมผัสประสบการณ์จริงได้ง่ายมากยิ่งขึ้น โดยสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดราชบุรี จะเข้ามาร่วมสนับสนุนด้วย

นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังได้ออกแบบบรรจุภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าอาหารพื้นถิ่น และตอบโจทย์การบริโภคสินค้า เพื่อนำกลับไปเป็นของฝาก หรือเพื่อการเดินทางแบบต่อเนื่อง จึงได้ออกแบบกระเป๋าเก็บความเย็น สำหรับบรรจุนมและไอศกรีมจากร้านแดรี่ฮัท สหกรณณ์โคนมหนองโพราชบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นทางท่องเที่ยวของโพธาราม พร้อมด้วย การออกแบบกระเป๋าที่ระลึกโพธารามเอนกประสงค์ โดยถอดอัตลักษณ์จุดท่องเที่ยวโพธารามที่สำคัญ เช่น ตลาดเก่าโพธาราม ตลาดด่านขนอน การถอดลวดลายการตอกหนังใหญ่ของวัดขนอน โดยกระเป๋าทั้งสองแบบนี้ ได้คาดการณ์อีกเช่นกันว่า จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยสินค้า และอาหารพื้นถิ่นของนักท่องเที่ยวมากขึ้นประมาณ 200-500 บาทต่อคน อันสร้างประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจให้ชุมชนและจังหวัดได้เป็นอย่างดี  

อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี นับว่าเป็นหนึ่งสถานที่ที่มีความหลากหลายทางศิลปวัฒนธรรม มีผู้คนหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ร่วมกัน อาทิ มอญ เขมร ไทย จีน เช่นเดียวกับชุมชนบ้านช้าง ต.สนามชัย อ.โพธาราม อันมีศิลปะประจำท้องถิ่นของตนเอง และพยายามสืบสาน ถ่ายทอดให้แก่นักท่องเที่ยวผู้มาเยือน สร้างความมั่นคงให้กับชุมชนด้วย Soft power ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ผ่านกิจกรรมเชิงวิถีชีวิตและภูมิปัญญา ต่าง ๆ เช่น การศึกษาวิถีทำสมุนไพร สปาสมุนไพร การแสดงและอาหารพื้นถิ่น นอกจากนี้ยังชูนวัตกรรมกระเป๋า”ตานี”เป็นผลิตภัณฑ์ Icon of  Siam สุดสร้างสรรค์ของเมืองไทย

นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ผลงานวิจัยในครั้งนี้ เกิดขึ้นภายใต้แผนงานวิจัย “การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง” ที่ วช.ให้การสนับสนุนแก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง 9 แห่ง เป็นการเชื่อมโยงการใช้ประโยชน์ และหนุนเสริมการขยายผลงานวิจัยสู่การพัฒนาชุมชน การท่องเที่ยวจังหวัดเมืองรอง โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เข้ามามีผลกระทบ ทำให้ทราบว่า งานวิจัยและนวัตกรรม สามารถเข้ามาสนับสนุนและตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนและประชาชนได้เป็นอย่างดี ช่วยยกระดับและฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง อีกทั้ง เป็นการส่งเสริมโครงการท่องเที่ยวเมืองรองตามนโยบายของรัฐบาล โดยมุ่งหวังให้เกิดเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับการท่องเที่ยวเมืองรอง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี และจังหวัดอื่น ๆ อย่างยั่งยืนต่อไป