กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดพิธีมอบรางวัล Thailand Research Expo 2021 Award และมอบโล่แสดงความขอบคุณแก่หน่วยงานที่นำผลงานร่วมนำเสนอ ในพิธีปิดงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021) ซึ่งผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับรางวัล จะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ถ้วยรางวัลจากนายกรัฐมนตรี ถ้วยรางวัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และถ้วยรางวัลจากผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมเงินรางวัล และเกียรติบัตร พิธีมอบรางวัลในวันนี้ ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีปิด พร้อมมอบรางวัล Thailand Research Expo 2021 Award และมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวรายงาน ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021)” ณ เวที Highlight Stage โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า มหกรรมงานวิจัยประจำปีนี้ จัดขึ้นเป็นปีที่ 16 ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่ง วช. ได้จัดงานขึ้นเป็นอย่างดี มีทั้งในสถานที่และออนไลน์ แสดงให้เห็นว่าความร่วมมือภายใต้กระทรวง อว.และนอกกระทรวง อว. ได้ผนึกกำลังกัน เห็นได้ชัดในช่วง 5 วันที่ผ่านมา ว่างานวิจัยสามารถนำไปใช้งานได้จริง ตรงกับเป้าหมายการพัฒนาของรัฐบาล โดยเฉพาะการนำงานวิจัยไปใช้เชิงพื้นที่ ซึ่งตรงกับเป้าหมายหลักของกระทรวง อว. ที่ต้องการให้มหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัยต่าง ๆ มีบทบาท ในการขับเคลื่อนงานวิจัยและเอาไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้สนับสนุนและกระตุ้นให้หน่วยงานต่าง ๆ เห็นความสำคัญในการนำเสนอผลงานวิจัยและกิจกรรมส่งเสริมการวิจัยที่มีคุณภาพ เข้าร่วมในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021)” และได้จัดให้มีกิจกรรม Thailand Research Expo 2021 Award ซึ่งเป็นการพิจารณาคัดเลือกผลงานที่มีกระบวนการนำเสนอที่มีความโดดเด่นในรูปแบบที่หลากหลายและสามารถเชื่อมโยงส่งต่องานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ต่อไปได้ โดยแบ่งผลงานออกเป็น 4 ประเภท และมีหน่วยงานที่ได้รับรางวัลประเภทต่าง ๆ ดังนี้ รางวัล Platinum Award จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผลงาน “การพัฒนาชุมชนต้นแบบด้วยการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และยั่งยืนเพื่อยกระดับจังหวัดเพชรบุรีสู่เมืองสร้างสรรค์” และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผลงาน “การพัฒนาเทคโนโลยีการปลูกขมิ้นชันปลอดโรค และสารสำคัญสูงด้วยระบบ Substrate Culture” ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัล Platinum Award จะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล รางวัลละ 120,000 บาท และเกียรติบัตร รางวัล Gold Award จำนวน 4 รางวัล
ได้แก่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผลงาน “ระบบอบแห้งแบบผสมผสานอัจฉริยะ” สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผลงาน “Smart Safety Zone 4.0 "เชื่อมั่น อุ่นใจ ปลอดภัย ในชุมชน"” สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ผลงาน “การพัฒนาฟิล์มคาร์บอนเสมือนเพชรสำหรับบรรจุภัณฑ์อาหารแบบยั่งยืน” และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ผลงาน “การเพิ่มมูลค่าเส้นใยผักตบชวา สู่เชิงพาณิชย์ของจังหวัดปทุมธานี” ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัล Gold Award จะได้รับถ้วยรางวัลจากนายกรัฐมนตรี พร้อมเงินรางวัล รางวัลละ 70,000 บาท และเกียรติบัตร รางวัล Silver Award จำนวน 6 รางวัล ได้แก่ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ผลงาน “การประเมินผลโครงการนำร่องให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านขายยาเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ผลงาน “การถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของเกษตรผู้เลี้ยงปูขาว” มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ ผลงาน “แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินในการประกอบธุรกิจโรงแรม สถานที่พัก และการใช้ประโยชน์ที่ดิน กรณีศึกษา อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์” สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ผลงาน “การพัฒนาระบบป้องกันการเสพติดซ้ำของเด็กและเยาวชนโดยการตรวจสารเสพติดในเส้นผม” มหาวิทยาลัยพะเยา ผลงาน “Phayao Learning city บนฐานการเรียนรู้ในรูปแบบ BCG Economy Model” มหาวิทยาลัยรังสิต ผลงาน “เนื้อเทียมวีแกนเสริมโปรตีนข้าวไฮโดรไลเสท ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัล รางวัล Silver Award จะได้รับถ้วยรางวัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมเงินรางวัล รางวัลละ 50,000 บาท และเกียรติบัตร รางวัล Bronze Award จำนวน 8 รางวัล ได้แก่ ถ้วยรางวัลจากปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผลงาน “ชุดกังหันกระแสน้ำผลิตไฟฟ้านวัตกรรมทั่วถึง” กรมสุขภาพจิต ผลงาน “ระบบเฝ้าระวังคัดกรองสุขภาพจิตเชิงรุก Mental Health Check In เพื่อบริการประชาชนในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019”
มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ผลงาน “อาหารเพื่อสุขภาพเชิงสร้างสรรค์” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ผลงาน “การวิจัยพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ้าคราม” ถ้วยรางวัลจากผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้แก่ สถาบันพระบรมราชชนก ผลงาน “ผลการรักษาผิวเปลือกส้มบริเวณต้นขาด้วยสารสกัดตรีกฏุก” กรมวิทยาศาสตร์บริการ ผลงาน “คอนกรีตแห้งสำเร็จรูปสำหรับสภาพแวดล้อมทางทะเล” กรมทางหลวง ผลงาน “อุปกรณ์หัวจับยึดสำหรับอัดแรงยางพารา” บริษัท ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหาร ซีพีเอฟ จำกัด ผลงาน “โปรไบโอติกเพื่อสุขภาพ” ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัล Bronze Award ได้รับถ้วยรางวัลจากปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และถ้วยรางวัลจากผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมเงินรางวัล รางวัลละ 30,000 บาท และเกียรติบัตร รางวัลชมเชย จำนวน 12 รางวัล ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง ผลงาน “Smart Energy ระบบจ่ายไฟกลับอัตโนมัติ” มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ผลงาน “ระบบอำนวยการยิงปืนใหญ่ทางยุทธวิธีด้วยการติดต่อสื่อสารวิทยุทางทหารแบบดิจิตอลและระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ผลงาน “การสะท้อนอัตลักษณ์ชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช ในการออกแบบโคมไฟประดับตกแต่ง” มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ผลงาน “การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อส่งเสริมทักษะการออกแบบการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ด้วยกระบวนการชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพสำหรับครู สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา สุพรรณบุรี” มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ผลงาน “การจัดการการเรียนรู้โรงเรียนเกษตรกร (Farmer Academy) ตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ อย่างมีส่วนร่วมของท้องถิ่น” มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ผลงาน “มหัศจรรย์ฟองอากาศขนาดเล็กจิ๋ว : เกษตรกรรมบนวิถีปกติใหม่” สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ผลงาน “การพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มฟังก์ชันจากข้าวสีไทยในเชิงพาณิชย์” มหาวิทยาลัยบูรพา ผลงาน “นวัตกรรมเซนเซอร์แบบกระดาษเพื่อทดสอบฟอร์มาลินในอาหาร”กระทรวงกลาโหม ผลงาน “ระบบอากาศยานไร้คนขับเพื่อการลาดตระเวนทางทะเล” มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ผลงาน “พื้นที่ทางวัฒนธรรม ท่าลาว และตลาดพังพลาย ผ่านทางแผนที่ทางวัฒนธรรม”มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผลงาน “โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกและการแปรรูปมะเขือเทศเชอรี่อินทรีย์สำหรับชุมชนฐานราก จังหวัดอุบลราชธานี” และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ผลงาน “ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ” ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัลชมเชย จะได้รับเงินรางวัล รางวัลละ 10,000 บาท และเกียรติบัตร