วันนี้ (24 พฤศจิกายนน 2564) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) จัดเวทีเสวนา Research Expo Talk ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021) ครั้งที่ 16 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-26 พฤศจิกายน 2564 วช. เปิดตัว “เครื่องฟอกอากาศด้วยน้ำ เชื่อมต่อกับเทคโนโลยีอินเทอร์เนตของสรรพสิ่ง” ผลงานวิจัย นายแพทย์อานนท์ จำลองกุล แห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในการเสวนา Research Expo Talk ณ เวที Mini Stage ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)กล่าวว่า วช. ในฐานะหน่วยงานภายใต้อว.มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการวิจัยและนวัตกรรม มีผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์และผู้ใช้ประโยชน์แล้วจำนวนมาก โดยนวัตกรรมเครื่องฟอกอากาศด้วยน้ำเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง ที่มาจัดแสดงในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ เป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม จะช่วยลดอัตราการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 วช.ได้ให้การสนับสนุนในการส่งเข้าประกวดในเวทีระดับนานาชาติและได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณระดับเหรียญทอง จากเวที ” Innovation Week in Africa” (IWA 2021) จัดขึ้นโดยสมาคม OFEED แห่งประเทศโมร็อกโก นับเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจในฐานะตัวแทนประเทศไทยในเวทีระดับ นานาชาติ
นายแพทย์อานนท์ จำลองกุล เปิดเผยว่า ที่มาของนวัตกรรมชิ้นใหม่นี้เกิดจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาฝุ่นควันค่อนข้างมาก จำเป็นต้องใช้การนำเข้าแผ่นกรอง Hepa filter จากต่างประเทศซึ่งมีราคาค่อนข้างสูงและต้องมีการบำรุงรักษา จึงคิดอยากจะทำเครื่องกรองอากาศสำหรับพื้นที่รอยต่อระหว่างพื้นที่ปิดและพื้นที่เปิด โดยมีต้นทุนการบำรุงรักษาต่ำและไม่ต้องใช้แผ่นกรองที่มีความซับซ้อนยุ่งยาก เลยกลายเป็นต้นแบบเครื่องกรองอากาศ “บุ๋งบุ๋ง” ซึ่งที่เป็นผลงานพัฒนาเครื่องรุ่นที่3 โดยรุ่นที่ 1 ทำการทดสอบเปรียบเทียบกับเครื่องฟอกอากาศชนิดอื่นๆ และดูว่าตัวไหนที่ได้ผลดีจึงนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นเครื่องฟอกอากาศรุ่นที่ 2 ได้รับรางวัลจากการประกวดที่ประเทศตุรกี
เครื่องรุ่นที่ 3 มีหลักการทำงานโดยดึงอากาศลงไปในน้ำ จากนั้นอากาศจะลอยพ้นน้ำมาอีกด้าน ซึ่งจะมีตัวดักฝุ่น ดักฟองน้ำที่จะลอยคืนกลับให้ฟองน้ำแตกตัว โดยใช้แผ่นฟองน้ำ โดยไม่ให้ฟองอากาศลอยกลับไปอีกด้านและดูดอากาศกลับคืนสู่บรรยากาศ ซึ่งแตกต่างจากเครื่องรุ่นที่ 1 เป็นขนาดประมาณ 1 ฟุต รุ่นที่ 2 เป็นหลักการดันอากาศลงไปในน้ำด้วยปั๊มลมและมีอากาศกลับคืนสู่สิ่งแวดล้อมอีกด้านหนึ่ง แต่ตัวที่ 2 พบว่ายังให้ความชื้นค่อนข้างมาก กรองอากาศได้ แต่คืนความชื้นกลับมาด้วย รุ่นที่ 3 จึงปรับจากปั๊มลมที่ดันอากาศลงน้ำมาเป็นพัดลมอัดอากาศที่ดูดอากาศออกจากน้ำซึ่งช่วยลดแรงต้านทานออกจากน้ำ
เครื่องรุ่นล่าสุด มีการแสดงผลมลภาวะทางอากาศผ่านจอ LCD ที่ตัวเครื่องและผ่าน LINE application และสามารถสั่งการเปิด-ปิดเครื่องผ่าน LINE application ได้ ในการใช้งานเปิดไฟเลี้ยงไว้และมีการตั้งค่าป้องกันฝุ่นPM2.5 ในสิ่งแวดล้อมไว้ที่ระดับ 50 เซนเซอร์หรือไมโครคอนโทรลเลอร์ จะคอยวัดระดับปริมาณฝุ่นPM 2.5 ไม่ให้เกิน 50 ถ้าเกิน 50 ไมโครคอนโทรลเลอร์จะสั่งการไปที่พัดลมดูดอากาศ เครื่องจะทำงานต่อเนื่องและจะหยุดทำงานเมื่อค่าฝุ่นต่ำกว่าระดับ 50
ทั้งนี้อัตราการดูดอากาศของปั๊ม 900 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง 2 ตัวรวม 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง สามารถใช้งานในพื้นที่วัดความสูงจากพื้นถึงเพดาน 2-3 เมตรเป็นพื้นที่ประมาณ 100-500 ตารางเมตร แต่ค่าที่แน่นอนยังต้องทำการทดสอบวัดค่าอัตราการสร้างอากาศบริสุทธิ์ (CADR) และการทำสอบทางไฟฟ้า ซึ่งอยู่ระหว่างรอทุนสนับสนุนการวิจัยต่อเนื่อง
นอกจากเครื่องฟอกอากาศจะช่วยทำให้อากาศในพื้นที่สะอาดแล้วเชื่อว่ายังจะสามารถฆ่าเชื้อไวรัสในอากาศได้ จากการวัดค่าฝุ่นที่เครื่องสามารถกรองได้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ PM0.3-0.10 ขณะที่ไวรัสโควิด-19 มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดPM 0.125 ซึ่งใกล้เคียงกับค่าฝุ่น PM 0.1 เครื่องวัดในห้องปฏิบัติการยังไม่สามารถวัดได้ แต่จากผู้คนที่เดินไปมา เชื้อไวรัสมีการปะปนออกมากับละอองน้ำลายที่มีขนาดเกินกว่า PM 0.3 จึงคาดการณ์ว่า จะสามารถกรองหรือฆ่าเชื้อได้
นายแพทย์อานนท์ กล่าวต่อว่า ต้นทุนการพัฒนาเครื่องต้นแบบรุ่นที่ 3 อยู่ที่ประมาณ 50,000 บาท แต่หากมีการผลิตในระดับอุตสาหกรรมจะอยู่ระหว่าง 20,000 -30,000 บาทหรือต่ำกว่านี้ได้ อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายถูกทั้งค่าน้ำและค่าไฟไม่เกิน 1,000 บาทต่อเดือน อีกทั้งสามารถปรับทำให้มีขนาดเล็กหรือใหญ่ตามที่ต้องการได้ เวลานี้มีการจดอนุสิทธิบัตรกระบวนการทำงานไว้แล้ว และจะมีการทดสอบประสิทธิภาพการกรองฝุ่นและการทดสอบทางไฟฟ้าจากห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานเพื่อนำผลงานเข้าสู่บัญชีนวัตกรรมไทย และเตรียมพร้อมสำหรับการจดแจ้งทรัพย์สินทางปัญญาระดับนานาชาติต่อไป ส่วนการถ่ายทอดองค์ความรู้ มีการตีพิมพ์งานวิจัยในวารสารเผยแพร่ให้ประชาชนและนักวิชาการสามารถอ่านได้ และหากต้องการทราบรายละเอียดหรือเจรจาซื้อขายทรัพย์สินทางปัญญาสามารถติดต่อกับทางมหาวิทยาลัยได้”
อนึ่งเครื่องฟอกอากาศด้วยน้ำ เชื่อมต่อกับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง ได้รับรางวัลระดับนานาชาติ เป็นประกาศเกียรติคุณระดับเหรียญทอง จากเวที ” Innovation Week in Africa” (IWA 2021) จัดขึ้นโดยประเทศมร็อกโก ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 – 12 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ณ กรุงราบัต ราชอาณาจักรโมร็อกโก และได้รับการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ จากบทความวิจัยเรื่อง Semi-outdoor filterless air purifier for smog and microbial protection with water purifier system ในวารสาร Environmental research ซึ่งอยู่ในฐาน Scopus ระดับ Q1 อีกด้วย