นักวิจัยวัสดุนาโน จาก VISTEC คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2564



วันนี้ (4 ตุลาคม 2564) มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2564 ในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 39 โดยภายในงานได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีและกล่าวแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัล


โอกาสนี้ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ยังได้ร่วมแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัลผ่านสาร สกสว. โดย สกสว. มีภารกิจในการขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผ่านการจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เพื่อกำหนดทิศทางอย่างมีเอกภาพ รวมทั้งจัดสรรและบริหารงบประมาณด้วยกลไกของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้แก่หน่วยงานในระบบ ววน. ตลอดจนมีการติดตามประเมินผลการปฏิบัติงาน และสนับสนุนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง สกสว. ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ เรื่อง “การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม” ในแผนด้าน ววน. ฉบับปี พ.ศ. 2566-2570 โดยมีจุดมุ่งเน้นเพื่อพัฒนาบุคลากร ด้าน ววน. ให้มีคุณธรรม จริยธรรม ควบคู่กับการมีสมรรถนะและทักษะสูง ตรงตามความต้องการของประเทศ โอกาสนี้ สกสว. ขอขอบคุณมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์ฯ ที่ได้ริเริ่มและจัดกิจกรรมโครงการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น และรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่มาอย่างต่อเนื่อง และขอแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น” และ “นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่” ประจำปี 2564 ทุกท่าน นับเป็นแบบอย่างที่น่าชื่นชมและควรเผยแพร่เกียรติคุณเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้แก่บุคลากรในวงการวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของไทยต่อไป


ศ.ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล ประธานคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น กล่าวว่า สำหรับในปีนี้ คณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ ศ.ดร.วินิช พรมอารักษ์ นักวิจัยวัสดุนาโนสำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล (School of Molecular Science and Engineering) สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ผู้คิดค้น “เทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ยุคใหม่และนวัตกรรมไฟส่องสว่างอนาคตเพื่อการปฏิรูปพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืน” (New Solar Cell and Innovative Lighting Technology for Renewable Energy Transformation) ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2564 ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 400,000 บาท


โดยการคิดค้น “เทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ยุคใหม่และนวัตกรรมไฟส่องสว่างอนาคตเพื่อการปฏิรูปพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืน” เป็นการวิจัยและพัฒนาวัสดุกึ่งตัวนำอินทรีย์และการประยุกต์ใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และสร้างนวัตกรรม โดยนำวัสดุกึ่งตัวนำอินทรีย์ที่เป็นสารประกอบของคาร์บอน มาออกแบบในระดับโมเลกุลให้มีคุณสมบัติเป็นสารกึ่งตัวนำที่สามารถเปล่งแสงได้ดี ดูดกลืนแสงได้ดี หรือนำไฟฟ้าได้ดี สามารถนำมาใช้แทนวัสดุกึ่งตัวนำซิลิคอนในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันได้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเกิดนวัตกรรมของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาทิ ไดโอดเปล่งแสงอินทรีย์ (OLED) เซลล์แสงอาทิตย์ยุคใหม่ อิเล็กทรอนิกส์แบบยืดหยุ่นหรือพับงอได้ เช่น โทรศัพท์มือถือแบบพับงอได้ รวมถึงอิเล็กทรอนิกส์แบบพิมพ์ได้ โดยงานวิจัยนี้เป็นการบูรณาการด้านเคมี วัสดุศาสตร์ ฟิสิกส์ และวิศวกรรมศาสตร์ เข้าด้วยกัน โดยสามารถนำองค์ความรู้ดังกล่าวมาทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อต่อยอดการพัฒนาวัสดุกึ่งตัวนำอินทรีย์ประสิทธิภาพสูงและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต้นแบบ สู่การผลิตในเชิงพาณิชย์และใช้งานได้จริง
สำหรับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2564 ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 100,000 บาท ได้แก่


1. รศ.ดร.ธีระพงษ์ สุขสำราญ อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้คิดค้นและพัฒนาระเบียบวิธีการศึกษาโครงสร้างเชิงคณิตศาสตร์แบบนามธรรมของระบบพีชคณิตที่มีชื่อเรียกว่า "ไจโรกรุป" (Gyrogroup) ซึ่งเป็นโครงสร้างทางคณิตศาสตร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับการรวมความเร็วแบบไอน์สไตน์ในทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ โดยมีผลงานวิจัยในสาขาคณิตศาสตร์ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่มีชื่อเสียงทางด้านพีชคณิตและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
2. ดร.สุดเขต ไชโย นักวิจัยเคมีวิเคราะห์เพื่อนวัตกรรมการตรวจวัดและการวินิจฉัย สถาบันวิจัยเทคโนโลยี ชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้คิดค้น “การพัฒนาเซ็นเซอร์รูปแบบใหม่สำหรับการวิเคราะห์ด้านเคมีและชีวภาพ” เป็นนวัตกรรมการตรวจวัดอย่างง่ายและรวดเร็ว สามารถนำไปประยุกต์ใช้สำหรับการประเมินความปลอดภัยทางอาหารและการเกษตร รวมไปถึงการพัฒนาเซ็นเซอร์เพื่อการตรวจวัดทางการแพทย์ โดยอาศัยการผสมผสานระหว่างสตริปเทส (Strip Test) และการตรวจวัดทางเคมีไฟฟ้า สำหรับการวินิจฉัยโรคหรือเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพเพื่อเพิ่มความถูกต้องและแม่นยำมากยิ่งขึ้น


การมอบรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2564 เป็นการมอบรางวัลให้กับนักวิทยาศาสตร์ที่ผ่านการคัดเลือกจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิทยาศาสตร์ระดับประเทศ เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณความสามารถของนักวิทยาศาสตร์ไทย รวมถึงยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ในการพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาประเทศต่อไป