วิจัย นวัตกรรมดีดี มีที่ วช.



เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมเด่น ปี 2564 มาแถลงข่าว “วิจัย นวัตกรรมดีดี มีที่ วช.” เป็นผลงานวิจัยที่ช่วยแก้ไขปัญหาในภาวะวิกฤตและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักวิจัยไทย  
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรม ที่ วช. ให้การสนับสนุนจนสามารถนำไปต่อยอดและใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ในปี 2564 ชี้ให้เห็นว่า วช. ได้วางกรอบแนวทางบริหารจัดการทุนไว้อย่างชัดเจน ภายใต้แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และเนื่องจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลก จากปัญหาสิ่งแวดล้อมและโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้น อย่างเช่นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 เป็นโรคอุบัติใหม่ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ ได้สนับสนุนการใช้วิจัยและนวัตกรรมฝีมือคนไทยที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โควิด-19 ทั้งมิตินวัตกรรม และวิชาการ ตอบรับความต้องการของบุคลากรได้ถึง 3 เฟส ของการแพร่ระบาด และมีความก้าวหน้าเป็นไปตามมาตรฐานการวิจัย วช. จึงนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมพร้อมใช้มาถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้แก่สังคม เพื่อช่วยแก้ปัญหา สร้างโอกาสช่วยลดผลกระทบจากสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19
ในวันนี้ วช. นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมดีดี บางส่วนที่ วช. ได้ให้การสนับสนุนและนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม 10 ด้าน มานำเสนอ ได้แก่ ด้านโควิด -19 อาทิ ศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ mRNA Vaccine เพื่อป้องกันการรักษาการติดเชื้อไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ด้านการแพทย์และสาธารณสุข อาทิ ชุดตรวจปัสสวะสำเร็จรูปสำหรับตรวจวินิจฉัยโรคพยาธิใบไม้ตับในชุมชน และแผ่นดามกระดูกและสกรูทางออร์โธปิดิกส์ ด้านการรองรับสังคมสูงวัย อาทิ เตียงพลิกตะแคง ป้องกันแผลกดทับ และเปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง ด้านการเกษตร อาทิ 
ยืดอายุ “มะม่วงน้ำดอกไม้” ส่งออกต่างประเทศ และยืดอายุทุเรียนเพื่อการส่งออก ด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ 
เครื่องตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 และการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และของเสียอันตรายชุมชน ด้านสัตว์เศรษฐกิจ อาทิ ธนาคารปูม้าชุมชน เพื่อความยั่งยืน และไก่พื้นเมือง และไก่ลูกผสมพื้นเมือง สู่เชิงพาณิชย์ วิจัยปรับปรุงสายพันธุ์ “ไก่ลิกอร์” ไก่พื้นเมืองลูกผสม สายพันธุ์ใหม่ ด้านการศึกษา อาทิ ระบบซอฟต์แวร์โดรนแปรอักษร รายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้านเทคโนโลยี AI อาทิ ระบบปัญญาประดิษฐ์ในการประเมินการใส่หน้ากากอนามัย (AiMASK)  ด้านเศรษฐกิจฐานราก อาทิ มังคุดวิจัย และเศรษฐกิจฐานรากภาคเหนือตอนบน หวังเพิ่มมูลค่าหัตถกรรมชุมชนในยุค New Normal (KOYORI) ด้านการพัฒนาสังคมและชุมชน อาทิ พัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสาธารณสุขและแกนนำชุมชน เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 บริเวณพื้นที่ชายแดน และสร้างตำบลต้นแบบ 15 จังหวัด ผ่านปราชญ์เพื่อความมั่นคง และเครือข่ายภาคประชาชน ฯลฯ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวในการนำเสนอในช่วงท้ายว่า วช. ให้ความสำคัญในการช่วยลดผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 โดย วช. จะมุ่งเน้นผลงานงานวิจัยและนวัตกรรมเชิงสุขภาพให้หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค และมุ่งเน้นผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ส่งเสริมอัตลักษณ์ในแต่ละท้องถิ่น เพื่อการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน และจะผลักดันให้เกิดผลงานที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งหมดนี้ วช. ได้ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ในโอกาสหน้า วช.จะฉายภาพงานวิจัยและนวัตกรรมดีดี เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่นักวิจัย และนักประดิษฐ์ไทย ในการพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตประชาชนต่อไป