สกสว. จัดหารือยกระดับเกษตรกรและอุตสาหกรรมการเกษตร พร้อมวางภาพอนาคตส่งออก Top 10 ของโลก



28 กันยายน 2564
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดเสวนา หัวข้อ : ที่มาและเส้นทางสู่ตำแหน่งใหม่ของระบบเกษตรไทย ครั้งที่ 2 กรณี ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย และยางพารา ในรูปแบบการเสวนาออนไลน์ ที่จัดขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ผลการวิจัยและ สถานการณ์ด้านการเกษตรและอาหารของประเทศและต่างประเทศ ร่วมกันระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิ และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากกระทรวงต่าง ๆ ตลอดจนการนำเสนอโครงการ “การวิจัยเชิงระบบเพื่อการปฏิรูปและปรับโครงสร้างภาคการเกษตรไทย” และ “ตำแหน่งและเส้นทางสู่เป้าหมายของระบบสินค้า: ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา” โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อารี วิบูลย์พงศ์ และ คณะนักวิจัย


โอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. เป็นประธานเปิดการเสวนา พร้อมกับกล่าวถึงการวิจัยเชิงระบบว่า เป็นเครื่องมือวิเคราะห์องค์ความรู้การวิจัย ทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ที่ สกสว.ให้การสนับสนุน เพื่อนำชุดข้อมูลมากำหนดเป้าหมาย และกำหนดเข็มทิศการวิจัย หรือที่เรียกว่า แผนการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ที่ตอบเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้ ฐานทรัพยากรอยู่ได้ มีความมั่นคงทางอาหาร และมีความสามารถในการแข่งขันไปด้วยกัน ทั้งในมิติของการสนับสนุนจากภาครัฐ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร และความร่วมมือกับต่างประเทศ ซึ่งผลการศึกษาครั้งนี้ได้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจ คือ ภาพอนาคตของภาคเกษตรไทยที่พึงประสงค์ โดยมีการกำหนดตำแหน่ง (Position) ที่ชัดเจนในเวทีโลก และเสนอยุทธศาสตร์การปฏิรูปเพื่อพลิกโฉมภาคเกษตร (Agricultural Transformation) พร้อมทั้งออกแบบระบบโครงสร้างใหม่และนโยบายให้เป็นวิถีทาง (Transformation Pathway) เพื่อยกระดับภาคเกษตรไทย และแนวทางการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและ นวัตกรรม (ววน.) ด้านการเกษตรที่สำคัญของพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย และยางพารา


ด้าน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อารี วิบูลย์พงศ์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ “การวิจัยเชิงระบบเพื่อการปฏิรูปและปรับโครงสร้างภาคการเกษตรไทย” กล่าวสรุปภาพรวมการวิจัย ว่า เป็นการศึกษาสถานการณ์ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอุปสงค์สินค้าเกษตรไทย เช่น ความเป็นเมือง (Urbanization), รายได้ (Income), จำนวนประชากร, สถานการณ์โควิด-19 ที่เปลี่ยนรสนิยมการบริโภค (Lifestyle) โดยการวิเคราะห์แนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคต่อกลุ่มสินค้าของโลกและผลของปัจจัยในประเทศ จากการทบทวนเอกสาร รวมถึงแนวโน้มการผลิตกลุ่มสินค้าเกษตรของประเทศผู้ผลิตหลัก เพื่อให้เข้าใจศักยภาพการแข่งขันของไทยโดยทบทวนสถิติและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานจากการวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง


นอกจากนี้ยังได้วิเคราะห์ถึงศักยภาพการผลิต (Potential Supply) ของกลุ่มสินค้า/รายสินค้าหลักด้วยแนวโน้ม อุปทาน ข้อจำกัดด้านทรัพยากร แรงงาน ที่ดินและน้ำ วิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้ม นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ วิจัย เทคโนโลยี ของประเทศไทยเปรียบเทียบกับต่างประเทศ (เทคโนโลยีการผลิตของโลกจะครอบคลุมไปจนถึง Biotechnology และ Internet of Thing/Digital ด้านการเกษตร) เพื่อวิเคราะห์ศักยภาพระบบการผลิตสินค้าทางการเกษตร และ กำหนดภาพอนาคตภาคเกษตรไทย ที่จะทำให้เกษตรกรไทยทั้งระบบมีคุณภาพชีวิตที่ดี จากการพัฒนาการเกษตรทั้งระบบเพื่อชิงส่วนแบ่งทางการตลาดให้ประเทศไทย มีการส่งออกสินค้าทางการเกษตร ติดอันดับ Top 10 ของโลก แม้จะไม่ใช่ผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด แต่การเกษตรไทยจัดอยู่ในชั้นแนวหน้าของโลก ตลาดระหว่างประเทศรู้จักสถานะของไทยจากการเป็นผู้นำ 1 ใน 5 ของผู้ส่งออกสินค้าหลัก คือ มันสำปะหลัง ทูน่ากระป๋อง (อันดับ 1) ข้าว น้ำตาล และผลิตภัณฑ์เนื้อปลา (อันดับ 2) นอกจากนี้สินค้า ใน 6-10 ลำดับแรกของโลกที่มีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก ได้แก่ เครื่องปรุงรส และ กุ้งนาเค็ม (อันดับที่ 6) ธัญพืช ผลไม้ ผักแช่แข็ง กุ้งนาจืด (อันดับ 9-10) สินค้าที่มีศักยภาพรองลงมาและมีตลาดใหญ่มาก คือ อาหารฮาลาล (อันดับที่ 13) สินค้าจากเกษตรกรรายย่อยที่มีการส่งออกในอันดับที่ 17 ของโลก ได้แก่ หอยและสัตว์น้ำบางชนิด
ขณะเดียวกัน การวิจัยได้พบแนวโน้มการบริโภคในอนาคต ทั้งจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้สร้างประสิทธิภาพเชิงมูลค่าอาหารและเกษตร รวมถึงความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และความต้องการใหม่ ๆ แต่ด้วยกระบวนการผลิตและการจัดการที่ห่างออกจากธรรมชาติมากขึ้นนี้ ได้สร้างความกังวลต่อผู้บริโภค ประกอบกับค่านิยมและความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ผลิตอาหารและเกษตรที่เพิ่มมากขึ้น ที่ตระหนักถึงโดยแยกออกเป็น 4 ประเด็น คือ 1) ความปลอดภัยของอาหารและประโยชน์ต่อสุขภาพเป็นทิศทางที่ต่อเนื่องจาก ค.ศ. 2000 มาตรฐานอาหารทวีความสำคัญมากขึ้นตามลำดับ 2) ความรับผิดชอบต่อสังคมของหน่วยธุรกิจ (Corporate Social Responsibility) ยิ่งกว่านั้น ธุรกิจอาหารขนาดใหญ่ของโลกตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม รับรู้และตอบสนองต่อจิตวิญญาณของผู้บริโภค โดยผู้บริโภคในประเทศรายได้สูงยินดีจ่ายเงินเพิ่ม 3) ระบบการผลิตและนวัตกรรมที่ยอมรับได้ โดยมีผู้บริโภคบางส่วนไม่ไว้วางใจในนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตอาหาร เช่น ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือ การตัดต่อพันธุกรรม และอื่น ๆ จึงทำให้อาหารเกษตรอินทรีย์มีการเติบโตสูงร้อยละ 10 ต่อปี เมื่อเทียบกับทศวรรษที่ผ่านมา โดยร้อยละ 50 ของผู้บริโภคเหล่านี้อยู่ในทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ และ 4) ความยั่งยืน ผู้บริโภคให้ความสำคัญทั้งด้านการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน โดยเฉพาะ สินค้าประมง การบริโภคอาหารจากวัตถุดิบในท้องถิ่นเพื่อลดการใช้พลังงานจากการขนย้าย รวมถึงให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น ฉลากบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Label) จึงให้ข้อมูลสำคัญต่อแหล่งกำเนิดอาหาร (Food Origin) ในปัจจุบัน
ที่สำคัญทิศทางข้างต้นเป็นการเปิดโอกาส ให้เกิดการผลิตอาหารที่ตอบสนองต่อผู้บริโภคกลุ่มต่าง ๆ สร้างคุณค่าในมิติต่าง ๆ ใหม่ เช่น ในประเทศอังกฤษ ใช้คำว่าคำว่า “สุขภาพ” และ “ความรู้สึกดี” เป็นจุดขาย ดังนั้น จึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำหรับภาคเกษตรและอาหารของไทยที่จะพัฒนาและเรียนรู้ ด้วยการสร้างคุณค่าเหล่านี้ เพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดโลก