นายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย เผยวิธีการรักษาเพื่อยื้อชีวิตผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักในระยะแพร่กระจายให้หายขาด หรือมีชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้น 3- 5 ปี โดยการตรวจด้วยวิธีที่เรียกว่า "ไบโอมาร์เกอร์" (Biomarker) หรือ "ยีนบ่งชี้" และรักษาด้วยยาฉีดแบบมุ่งเป้า สามารถประคับประคองเพิ่มอายุขัยของผู้ป่วยได้มากขึ้น
รศ.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ นายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักในปัจจุบันได้มีนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการรักษาให้หายขาด หรือยืดชีวิตผู้ป่วยให้มีอายุขัยยาวนานเพิ่มขึ้นถึง 3-5 ปี โดยแนวทางการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักยุคใหม่ จะเน้นความจำเพาะต่อบุคคลมากขึ้น (Personalized Therapy) ด้วยการตรวจที่เรียกว่า "ไบโอมาร์เกอร์" (Biomarker) หรือ "ยีนบ่งชี้"การตรวจ "ยีนบ่งชี้" หมายถึงการตรวจยีนในร่างกายของเราเอง เพราะด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ ทำให้สามารถตรวจหายีนบ่งชี้สำหรับการรักษาอย่างเฉพาะเจาะจงในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โดยการนำชิ้นเนื้อตรงบริเวณที่เป็นมะเร็งมาตรวจ จะทำให้แพทย์สามารถเลือกชนิดยาที่ใช้ในการรักษาได้อย่างเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน โดยการตรวจจะทราบผลภายในเวลา 1-2 สัปดาห์ ซึ่งจะสามารถทำนายการตอบสนองต่อยารักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักได้ โดยตอนนี้ในประเทศไทยสามารถทำได้ในโรงพยาบาลของรัฐและโรงพยาบาลเอกชนหลาย ๆ แห่งทั่วประเทศแล้ว
รศ.นพ.วิโรจน์ กล่าวต่อว่า หลังจากที่ได้ตรวจ"ยีนบ่งชี้" แล้ว แพทย์จะสามารถเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน และทำการวางแผนในการรักษา เพื่อที่จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการคาดคะเนกับผลการรักษาได้ล่วงหน้า ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากขึ้น ผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแพร่กระจายระยะที่ 3 และระยะที่ 4 บางรายสามารถเลือกใช้ยามุ่งเป้าชนิดฉีด ที่สามารถใช้เดี่ยว ๆ ในการรักษาได้ โดยไม่ต้องใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัด โดยนวัตกรรมใหม่ในการรักษานี้ สามารถยืดอายุของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักที่ล้มเหลวจากการรักษาด้วยยามาตรฐานอื่น ๆ มาแล้ว โดยจากการศึกษาซึ่งทำในผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักระยะแพร่กระจาย พบว่า ครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่ได้รับยามุ่งเป้าชนิดฉีดสามารถยืดชีวิตมากขึ้นหลายปี
ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มักจะไม่แสดงอาการให้เห็นในระยะแรก ดังนั้นจึงต้องวางแผน และจะทำให้ผู้ป่วยตอบสนองต่อยาได้ดีขึ้น วิวัฒนาการในการรักษาโรคมะเร็ง สมัยก่อนเมื่อ 50 ปีที่แล้ว การรักษามะเร็งเป็นการรักษาแบบเหวี่ยงแห คนไข้ทุกคนใช้รักษาเหมือนกันหมด เช่น การใช้ยาเคมีบำบัดก็จะทำลายทั้งเซลล์ดีและเซลล์ไม่ดี เป็นการรักษาแบบไม่จำเพาะ แต่ต่อมาเมื่อช่วง 10 ปีที่แล้ว เราเริ่มรู้ว่าคนไข้แต่ละคนแม้เป็นโรคเดียวกัน แต่การรักษาไม่เหมือนกัน โดยการตรวจไบโอมาร์เกอร์หรือ"ยีนบ่งชี้" ทำให้เรารู้ว่าคนไข้แต่ละคนควรรักษาอย่างไร
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นโรคที่เซลล์มะเร็ง จะก่อตัวขึ้นบริเวณเนื้อเยื่อของลำไส้ใหญ่ ขณะที่มะเร็งทวารหนักเป็นโรคที่เซลล์มะเร็งจะเกิดขึ้นบริเวณเนื้อเยื่อในส่วนปลายสุดของลำไส้ใหญ่ใกล้กับทวารหนัก โดยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก พัฒนามาจากเซลล์ปกติ ที่แบ่งตัวอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นตัวเซลล์มะเร็ง และมีเนื้องอกในลำไส้ใหญ่และทวารหนัก สาเหตุของการเกิดโรคนั้น ยังไม่ทราบสาเหตุอย่างแน่ชัด แต่อุบัติการณ์หรือโอกาสเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก จะเพิ่มขึ้นตามอายุ ปกติจะพบน้อยในคนอายุไม่ถึง 40 ปี แต่ความเสี่ยงจะเพิ่มเป็น 2 เท่าหลังอายุ 50 ปี ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นอีกหากมีปัจจัยเสริมอื่นๆ เพิ่มเข้ามา และการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ นั้นค่อนข้างสลับซับซ้อนและยังไม่ชัดเจนว่าเกิดจากอะไร แต่ปัจจุบันมีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ อยู่หลายปัจจัย อาทิ คนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป, มีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่, คนที่เคยมีประวัติเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่, มะเร็งรังไข่,มะเร็งมดลูก และมะเร็งเต้านม คนที่เคยมีติ่งเนื้อ (Polyps) คนที่เคยเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ, เคยเป็นโรคอ้วนและสูบบุหรี่มาก่อน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะต้องเกิดมะเร็งทุกรายไป
ส่วนปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ได้แก่ ได้รับถ่ายทอดทางพันธุกรรม มีประวัติญาติในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มีประวัติเป็นลำไส้อักเสบเรื้อรัง โดยเฉพาะผู้ที่เป็นนานเกิน 7 ปี มีประวัติพบเนื้องอก (Polyps) ในลำไส้ สำหรับอาการของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ในระยะเริ่มต้นมักไม่แสดงอาการ แต่ถ้ามีอาการเลือดปนมาในอุจจาระ มีเลือดออก ทางทวารหนัก ปวดถ่ายอุจจาระบ่อย ๆ อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน อุปนิสัยการขับถ่าย เปลี่ยนไป เช่น เคยถ่ายอุจจาระทุกวันก็เปลี่ยนไป มีอาการท้องผูก มีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย ลำไส้อักเสบเรื้อรัง ลำไส้อักเสบเรื้อรัง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดมวนท้องเรื้อรัง อาจคลำได้ก้อนในช่องท้อง ซึ่งมักเป็นทางด้านขวาตอนล่าง ต่อเนื่องในระยะเวลานานพอสมควร เช่น 2 สัปดาห์ขึ้นไป แนะนำให้ไปพบแพทย์
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เกิดขึ้นจากเซลส์เยื่อบุลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นทางเดินอาหารส่วนปลายลำไส้ใหญ่ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วนคือ ลำไส้ใหญ่โคลอน (Colon) และมีส่วนลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย คือช่วงส่วนยาว 6 นิ้วสุดท้ายก่อนถึงทวารหนัก เรียกว่า ลำไส้ใหญ่ เรคตั้ม (Rectum) ลักษณะอาการที่ชวนสงสัยว่าอาจจะเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่พบบ่อย ได้แก่ อุจจาระมีมูกเลือดหรือสีดำคล้ำ หรือดำแดง นิสัยการขับถ่ายเปลี่ยนไป เช่น มีอาการท้องผูก สลับท้องเสีย, ขนาดของเส้นอุจจาระไม่สุด, มีอาการแน่นท้อง, ท้องอืด, ปวดท้อง, อาเจียน, มีอาการอ่อนเพลีย, น้ำหนักลด โดยไม่รู้สาเหตุ วิธีการป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ควรรับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะด้วยการรับประทานอาหารที่มีผักเป็นส่วนประกอบ
มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นมะเร็งชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุแห่งการเสียชีวิตในลำดับต้น ๆ ของผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด อุบัติการณ์ของการเกิดโรคมะเร็งและอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งในประเทศไทยพบผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่มากเป็นลำดับที่ 4 โดยพบผู้ป่วยรายใหม่โดยเฉลี่ย 11,496 ราย/ปี และมีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 6,845 ราย/ปี รองจาก มะเร็งตับ, มะเร็งปอด และ มะเร็งเต้านม สำหรับมะเร็งลำไส้ใหญ่ ถือเป็นสาเหตุแห่งการเสียชีวิตในลำดับที่ 3 ของผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมดในประเทศไทย
การคัดกรองในระยะเริ่มต้น มีความสำคัญในการช่วยตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการตรวจหาเลือดในอุจจาระการตรวจด้วยการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ หรือการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Colonoscopy) เมื่อมีอาการน่าสงสัยว่าจะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยโดยการส่องกล้องเข้าไปตัดติ่งเนื้อ แล้วนำชิ้นเนื้อไปวิเคราะห์ การตรวจทางทวารหนักด้วยนิ้วมือ และการตรวจเลือดเพื่อหาสาร CEA ซึ่งใช้ในการติดตามผลการรักษา ซึ่งโดยปกติแล้วมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 มะเร็งยังคงจำกัดอยู่ที่ผนังลำไส้ด้านใน ระยะที่ 2 มะเร็งเริ่มแพร่กระจายออกไปถึงชั้นกล้ามเนื้อของผนังลำไส้ ระยะ 3 เซลล์มะเร็งเริ่มแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง และระยะที่ 4 เซลล์มะเร็งเริ่มแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น ตับ, ปอด, เยื่อบุช่องท้อง และรังไข่ เป็นต้น