“คาร์บอนบาลานซ์ (Carbon Balance Scheme)”
ท่องเที่ยวอย่างสมดุล ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์



8 องค์กรพันธมิตร จาก 3 กระทรวง บูรณาการขับเคลื่อนการส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ช่วยลดโลกร้อน
กรุงเทพฯ  (10 กันยายน 2564) : นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดพิธีลงนามบันทึกความตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนประเทศไทยมุ่งสู่การท่องเที่ยวที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์หรือการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนนิวทรัล (Carbon Neutral Tourism) ภายใต้โครงการคาร์บอนบาลานซ์ (Carbon Balance Scheme)
พิธีลงนามบันทึกความตกลงความร่วมมือโครงการคาร์บอนบาลานซ์ เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของ 8 องค์กรพันธมิตร ประกอบด้วย องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านการจัดงานอีเว้นท์และจัดการท่องเที่ยวที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์หรือการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนนิวทรัล (Carbon Neutral Tourism) ให้กับหน่วยงาน ทั้งภาครัฐภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ชุมชนท่องเที่ยว นักเดินทาง นักท่องเที่ยว และแหล่งท่องเที่ยว เพื่อบรรเทาผลกระทบทางลบต่อโลกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) และ ช่วยลดโลกร้อน

โอกาสนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวในพิธีลงนาม ว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการดำเนินงานร่วมกันของ 8 หน่วยงาน ที่จะร่วมกันผลักดันให้ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไมซ์ในไทย ให้มีการดำเนินธุรกิจที่สอดรับกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกที่ให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ นำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน


โดยตนได้มอบแนวทางและนโยบายแก่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) และ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวง อว. ให้ดำเนินการจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยให้การสนับสนุนทุนวิจัย เพื่อสร้างผลงานวิจัย ต่อยอด ขยายผลงานวิจัย  ด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่สอดคล้องกับการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ทั้งใน มิติการบรรเทา หรือทำให้ดีขึ้น (Mitigation) ที่มุ่งเน้นในการทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศคิดเป็นร้อยละ 8 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของโลก (Malik, 2018) ทั้งนี้กิจกรรมการท่องเที่ยวและการจัดงานที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากคือ การเดินทาง ขนส่ง และที่พัก เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากภาคการท่องเที่ยวกิจกรรมการท่องเที่ยวและการมีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วยการนำแนวปฏิบัติที่ทำให้กิจกรรมการท่องเที่ยวปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำลงหรือมีคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์


อีกแนวทางหนึ่งที่สำคัญ คือ มิติการปรับตัว (Adaptation) เพราะการจะลดก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นให้เป็นศูนย์ ในปัจจุบันเป็นเรื่องที่มีความเป็นไปได้ยาก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ Climate Change) และ การเปลี่ยนแปลงต่อสถานการณ์ของโลก เช่น การท่องเที่ยวแบบการท่องเที่ยวแบบ Low Carbon คือ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งช่วยลดการใช้พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น มีการคัดแยกและการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ เช่น ขาย ทำปุ๋ย ใช้ซ้ำ รวมถึงการนำพลังงานสะอาดมาใช้ทดแทนการเดินทาง และ ที่พัก ตลอดจนการออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยว โดยให้นักท่องเที่ยวได้ท่องเที่ยวควบคู่การปลูกต้นไม้


ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวถึงบทบาทที่ทั้ง 8 หน่วยงานโดยสรุปว่า เป็นการดำเนินงานแบบบูรณาการเพื่อทำภารกิจให้สำเร็จ ภายใต้โครงการ คาร์บอนบาลานซ์ ได้แก่ (1) ร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ที่เหมาะสมกับบริบทของภาคธุรกิจท่องเที่ยวไทย (2) สนับสนุนให้เกิดการจัดการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ผลักดันให้เกิดเส้นทางท่องเที่ยว กิจกรรม บริการ และนวัตกรรม (3) ส่งเสริมเครือข่ายผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยวไทยและการจัดงานไมซ์ให้มีการนำแนวทางท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ไปใช้ในการจัดการและเข้าถึงแนวทางการออกแบบและสามารถชดเชยคาร์บอนได้โดยสะดวก (4) ร่วมดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ รณรงค์ สร้างความตระหนักรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


ทั้งนี้ในด้านของ รองศาสตราจารย์ ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการ บพข. กล่าวถึง การบริหารจัดการทุนปี 2564 บพข. ในกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่เป็นแผนงานหนึ่งที่มุ่งเน้นการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ได้จัดสรรทุนวิจัย ประเด็นเร่งด่วนเพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ประเทศ กลุ่มท่องเที่ยวไทยไร้คาร์บอน จำนวน 4 แผนงาน/โครงการ ซึ่งมีทั้งงานวิจัยที่ต่อยอดมาจากฐานงานวิจัยเดิมปี 2563 รวมทั้งงานวิจัยระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ ได้แก่ 1) การขับเคลื่อนคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์เพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน โดย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 2) เที่ยวน่าน ใส่ใจ ไร้คาร์บอน: น่านต้นแบบการขับเคลื่อนโมเดลการท่องเที่ยวสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3) การพัฒนาเครือข่ายห่วงโซ่อุปทาน เครือข่ายนักท่องเที่ยว และเส้นทางการท่องเที่ยว เพื่อการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในจังหวัดน่าน โดย สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.)  และ 4) การบริหารจัดการบัญชีต้นทุนทรัพยากรการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อมสำหรับพื้นที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติในภาคเหนือตอนบน โดยมหาวิทยาลัยพะเยา
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าว เป็นการใช้องค์ความรู้ ทั้งใน มิติการบรรเทา หรือทำให้ดีขึ้น (Mitigation) และ มิติการปรับตัว (Adaptation) ที่จะทำให้ท่องเที่ยวไทย บนฐานทรัพยากรธรรมชาติ และ ทุนวัฒนธรรม เกิดความยั่งยืน ตามแนวนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Economy) อีกทางหนึ่งด้วย