สกสว. เปิดอบรม RDI Planning ครั้งที่ 2 หนุนนโยบายพัฒนากำลังคน เสริมศักยภาพการบริหารแผนงาน - ประเมินผล คนวิจัยในกระทรวง



2 กันยายน 2564
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  (สกสว.)  จัดการอบรมหลักสูตร “การกำหนดและออกแบบแผนงานวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” (Research Development and Innovation Planning : RDI Planning) ครั้งที่ 2  เพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารแผนงานวิจัย การติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์แผนงานวิจัย โดยมีบุคลากรด้านการกำหนดและออกแบบแผนงาน ววน. ของหน่วยงานจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เข้าร่วมกว่า 50 คน
 
รศ.ดร.ชลิตา ศรีนวล รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) สกสว.เผยว่า บุคลากรด้านการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมที่เข้มแข็ง ถือเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) สำคัญในการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมของหน่วยงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย ผลักดันการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ดังนั้น จำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการกำหนดและออกแบบแผนงาน ววน. ด้วยเหตุนี้ สกสว. จึงจัดทำหลักสูตร RDI Planning ขึ้น โดยมุ่งเน้นทักษะทางด้านการจัดทำแผน ววน. ในการอบรม ครั้งที่ 1  เมื่อวันที่ 8 - 9 กรกฎาคม ที่ผ่านมา และการอบรมในช่วง วันที่ 2 – 3 กันยายน นี้ มุ่งเน้นการเสริมทักษะการบริหารแผนงานวิจัย และการติดตามและประเมินผลแผนงานวิจัย
 
ด้าน ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้ถ่ายทอดแนวทางการจัดทำแผนด้าน ววน. โดยระบุว่า กุญแจสำคัญของการบริหารจัดการวิจัยนั้น  นักบริหารจัดการงานวิจัย ต้องมองเชิงยุทธศาสตร์ ออกแบบงานเชิงระบบ  โดยต้องเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) ด้านการวิจัย เพื่อให้แผนงานวิจัยของหน่วยงานเป็นผลผลิตที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงควบคู่ไปกับการสร้างองค์ความรู้ โดยงานวิจัยที่สร้างการเปลี่ยนแปลงนั้น ต้องเป็นโจทย์ที่มีเป้าหมายชัด มีผู้ใช้ประโยชน์ เกิดจากความร่วมมือ ทำแล้วสร้างผลกระทบ (Impact) ที่ชัดเจนและขยายผลได้ นอกจากนี้ต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ อาทิ ฐานข้อมูล องค์ความรู้ที่หน่วยงานมี ทรัพยากรบุคคล ทั้งนักบริหารจัดการงานวิจัย นักจัดการงานวิจัย และนักวิจัย ระบบติดตามและประเมินผล ตลอดจนสร้างองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริง ฯลฯ  
 
นอกจากนี้การอบรมดังกล่าว ยังมีการจัดการเสวนาหัวข้อ “Knowledge sharing การบริหารแผนงานวิจัยของหน่วยงาน” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในแผนงานวิจัยของกระทรวงไปสู่การฏิบัติ โดยผู้แทนจากกระทรวง 3 กระทรวง  หน่วยบริหารจัดการทุนและ สกสว. ซึ่งได้แก่ นายแพทย์ สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการกองการแพทย์จีโนมิกส์ และสนับสนุนนวัตกรรม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข


คุณมนิดา ลิ่มนิจสรกุล ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คุณรุ่งตะวัน งามจิตอนันต์ นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ รอง ผอ.ด้านบริหารงานวิจัย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และ ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญระดับสูง กลุ่มภารกิจการพัฒนา ววน. ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เชิงพื้นที่ และลดความเหลื่อมล้ำ  สกสว. เห็นตรงกันว่า การสร้างการมีส่วนร่วม (Community Engagement) กับเครือข่ายนักวิจัย ถือเป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จ เพราะได้ถอดบทเรียนร่วมกัน ทำให้เกิดเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้นว่าควรแผนวิจัยประเด็นใด บุคลากรในหน่วยงานรับงบประมาณวิจัย ต้องมีความรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของผลงานร่วมกัน (Sense of Belonging) ในส่วนของหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัย ต้องดำเนินการที่ต่อเนื่อง มีการจัดทำฐานข้อมูล ผู้เชี่ยวชาญ เครื่องมือในการวิจัย เพื่อประโยชน์ต่อนักวิจัย นอกจากนี้ควรสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งระหว่างหน่วยงานวิจัยและเครือข่ายในพื้นที่วิจัย
 
สำหรับการอบรม RDI Planning มีขึ้นเป็นระยะเวลา 2 วัน ในช่วงระหว่างวันที่ 2  – 3 กันยายน 2564  โดยในวันที่ 3 กันยายน นี้ จะมุ่งเน้นการสร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่อง และกิจกรรมภาคปฏิบัติเรื่องการติดตาม และประเมินผล โดยการใช้เครื่องมือการประเมินผลกระทบทางสังคม (Social Impact Assessment: SIA)  และการประเมินผลกระทบและผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (Social Return On Investment: SROI) ในงานวิจัยและพัฒนา ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้การบริหารจัดการงานวิจัย เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ