วันนี้ (30 สิงหาคม 2564) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) เปิดตัวหนังสือ “Multi Mentoring System วิจัยไทยก้าวไกลด้วย MMS” ภายในงาน Brainpower Symposium “New Era, New Brainpower, New Skills: ทัศนะการพัฒนากำลังคนเพื่อโลกยุคใหม่”
ที่มีผู้บริหารระดับสูงจากมหาวิทยาลัยและนักวิจัยจากทั่วประเทศเข้าร่วมการประชุมโดยหนังสือเล่มนี้เป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์การพัฒนาระบบการสนับสนุนนักวิจัยผ่านระบบ Multi Mentoring System (MMS) โดยระบบได้มีการพัฒนา “นักวิจัยพี่เลี้ยง” (Mentor) ขึ้นในมหาวิทยาลัย และมี “หัวหน้าทีมนักวิจัยพี่เลี้ยง” (Head Coach) ที่เป็นนักวิจัยผู้ประสบความสำเร็จสูง ที่ร่วมสร้างคุณประโยชน์ไม่เฉพาะแก่นักวิจัยรุ่นใหม่เท่านั้น แต่ยังสร้างผลดีต่อสถาบันและชุมชนให้เห็นคุณค่าของการวิจัย รวมทั้งช่วยยกระดับความเข้มแข็งด้านการวิจัยของสถาบันวิจัย
นอกจากนี้กลไกของ MMS ไม่ได้มีเฉพาะนักวิจัยพี่เลี้ยง และหัวหน้าทีมนักวิจัยพี่เลี้ยงเท่านั้น ยังมีกลไกระดับสถาบัน ที่รวมตัวกันเป็นเครือข่ายร่วมมือกัน ในการยกระดับขีดความสามารถด้านการวิจัย และยกระดับคุณภาพ ปริมาณผลงานวิจัย ผ่านปฏิสัมพันธ์แบบเครือข่าย ที่มีความร่วมมือและช่วยเหลือกัน หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะสมกับผู้บริหารหน่วยงานรวมถึงนักวิจัยสามารถนำเอาองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้พัฒนาระบบงานวิจัยไทยซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ
ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. กล่าวว่า นักวิจัยถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ โดยใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ในการพาประเทศก้าวผ่านวิกฤตเข้าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งการพัฒนากำลังคนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของระบบ ววน. ของประเทศ โดยในอดีตที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ริเริ่มการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัย โดยมีการแบ่งเส้นทางเริ่มจากอาจารย์นักวิจัยรุ่นใหม่ นักวิจัยรุ่นกลาง เข้าสู่การเป็นเมธีวิจัยอาวุโส และศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น โดยจากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า หนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้นั้นคือ การที่ประเทศมีนักวิจัยอยู่ในปริมาณที่เพียงพอต่อการพัฒนา นอกจากนี้ในเชิงคุณภาพจะทำให้เกิดการสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ซึ่งหลังจากการปฏิรูประบบ ววน. ของประเทศ สกว. ได้เปลี่ยนบทบาทเป็น สกสว. จัดสรรงบประมาณกองทุนส่งเสริม ววน. ทำให้เกิดการบูรณาการกับทุกภาคส่วน นอกจากนี้ยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลัง ซึ่งการพัฒนานักวิจัยในรูปแบบ MMS ก่อให้เกิดการทำงานบนฐานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาคนโยบาย มหาวิทยาลัยและนักวิจัยรุ่นต่าง ๆ ก่อให้เกิดผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ประสิทธิภาพ
ทางด้าน ศาสตราจารย์ ดร.โสพิศ วงศ์คำ เมธีวิจัยอาวุโส กล่าวว่า ระบบ MMS เป็นกลไกในการสนับสนุนและส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่ให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานวิจัยให้กับประเทศ รวมถึงการพัฒนานักวิจัยรุ่นกลาง กลับเข้ามาขับเคลื่อนการทำงานด้านการวิจัยต่อไป MMS เป็นกลไกการเชื่อมต่อเชิงซ้อนซึ่งสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆ เข้าด้วยกันจนกระทั่งสามารถเป็นระบบการพัฒนานักวิจัยระดับประเทศ นอกจากนักวิจัยจะมีพี่เลี้ยง (Mentor) ในรายบุคคลแล้ว ยังมีมหาวิทยาลัย และโค้ช (Coach) ในแต่ละภูมิภาค รวมตัวกันเชื่อมโยงเป็นระบบแม่ข่าย โดยแบ่ง MMS ออกเป็น 9 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1-4 ภาคกลาง กลุ่มที่ 5 ภาคเหนือ กลุ่มที่ 6 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มที่ 7 ภาคใต้ กลุ่มที่ 8 มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และกลุ่มที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏ ราชมงคล ซึ่ง MMS แต่ละกลุ่มสามารถออกแบบการดำเนินงานที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ตามยังคงมีเป้าหมายร่วมกันคือการทำให้นักวิจัยสามารถมีเส้นทางอาชีพและตอบโจทย์การแก้ปัญหาให้กับประเทศ โดยจากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า ปัจจัยความสำเร็จของงานวิจัยจากนักวิจัยรุ่นใหม่ มีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง 3 ส่วนประกอบด้วย 1) ปัจจัยด้านตัวนักวิจัย 2) ปัจจัยด้านการบริหาร 3) ปัจจัยภายนอก ซึ่งได้รวบรวมในหนังสือหนังเล่มนี้ด้วย
อย่างไรก็ตามหนังสือ “Multi Mentoring System วิจัยไทยก้าวไกลด้วย MMS” เป็นการถอดประสบการณ์และองค์ความรู้จากการพัฒนาระบบนักวิจัยพี่เลี้ยง MMS ซึ่งสามารถส่งต่อองค์ความรู้และภาระสำคัญที่เป็นแนวหน้าในการพัฒนากำลังคนวิจัย หน่วยงานต้นสังกัดโดยเฉพาะมหาวิทยาลัย และ สป.อว. รวมถึงหน่วยงานในระดับหน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU) โดย สกสว. มุ่งมั่นการสนับสนุนหน่วยงานแนวหน้าในทุกมิติ เพื่อให้สามารถสร้างบุคลากรวิจัยที่มีคุณภาพและสร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป
โดยผู้สนใจสามารถดาวน์โหลด หนังสือ “Multi Mentoring System วิจัยไทยก้าวไกลด้วย MMS” ในรูปแบบ E-Book ได้ที่ www.tsri.or.th