สกสว.เปิดเวที Brainpower Symposium เผยทิศทางการพัฒนากำลังคนเพื่อโลกยุคใหม่
วันนี้ (30 สิงหาคม 2564) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดงานสัมมนาออนไลน์ Brainpower Symposium ในหัวข้อ “New Era, New Brainpower, New Skills: ทัศนะการพัฒนากำลังคนเพื่อโลกยุคใหม่” โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิและผู้บริหารระดับสูงจากสถาบันอุดมศึกษากว่า 100 แห่งทั่วประเทศ ร่วมรับฟังมุมมองต่อสถานการณ์และการคาดการณ์อนาคตด้านการพัฒนาบุคลากรนำไปสู่การออกแบบทิศทางการพัฒนาบุคลากรได้ตรงตามความต้องการของประเทศ นอกจากนี้ภายในงานยังมีการเปิดตัวหนังสือ “Multi Mentoring System วิจัยไทยก้าวไกลด้วย MMS” สังเคราะห์องค์ความรู้ด้านการพัฒนากำลังคนของประเทศ ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ริเริ่มและทำงานร่วมกัน
โอกาสนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในการเปิดงานพร้อมกับกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “The Next Step of Brainpower” ระบุว่า ในปัจจุบันจะพบว่าประเทศไทยมีแนวโน้มในด้านการพัฒนากำลังคนที่ดี เมื่อดูจากดัชนีการพัฒนามนุษย์ หรือ Human Development Index ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP ซึ่งรายงานว่าไทยมีค่าดัชนีเพิ่มขึ้น จาก 0.73 ในปี 2556 เป็น 0.77 ในปี 2561 และมีแนวโน้มสูงขึ้นในปีต่อไป อย่างไรก็ตาม การพัฒนากำลังคน ยังมีความท้าทายอยู่ในหลายมิติ เช่น ตามรายงานจาก Asian Productivity Organization หรือ APO ในปี 2562 ระบุว่า ผลิตภาพแรงงานไทยมีอัตราการเติบโตค่อนข้างต่ำมาตลอดช่วงสองทศวรรษ โดยปัจจุบันอยู่ในระดับใกล้เคียงกับประเทศจีนและอินโดนีเซีย แต่ยังคงต่ำกว่ามาเลเซียอยู่ 2 เท่า ต่ำกว่าเกาหลีใต้ 2.5 เท่า และต่ำกว่าสิงคโปร์ ถึง 4.5 เท่า ซึ่งเมื่อดูจากดัชนีความสามารถในการแข่งขันระดับโลก หรือ Global Competitiveness Index หรือ GCI ของ World Economic Forum ข้อมูลการจัดอันดับจากการสำรวจ 141 ประเทศทั่วโลก ระหว่างช่วงปี 2561 ถึง 2562 กับช่วงปี 2562 ถึง 2563 ซึ่งภายในระยะ 1 ปีนี้ พบว่า ในส่วนของตัวชี้วัดด้านทักษะ อันดับความสามารถในการปรับตัว ประเทศไทยตกอันดับจากอันดับที่ 66 มาอยู่ที่อันดับที่ 73 หรือนับเป็นอันดับที่ 6 ของภูมิภาคอาเซียน ส่วนตัวชี้วัดด้านชุดทักษะของผู้สำเร็จการศึกษา จากอันดับที่ 61 ตกลงมาเป็นอันดับที่ 79 และด้านทักษะดิจิทัลในกลุ่มประชากร จากอันดับที่ 61 ตกลงมาเป็นอันดับที่ 66 จึงเห็นได้ว่า ไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านอัตราการพัฒนากำลังคนที่ช้าลงและเริ่มจะไม่ทันโลก ซึ่งการผลิตกำลังคนนั้น จะต้องมีทิศทางและตรงต่อความต้องการของประเทศ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทั้งในเชิงวิชาการ และเชิงทักษะและความรู้ทั่วไป ที่เป็นความท้าทายเกิดจากอัตราการพัฒนาของเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงของสังคมและภูมิศาสตร์การเมืองของโลกที่รวดเร็วมากขึ้น และในบางกรณี ความเปลี่ยนแปลงก็อาจจะขึ้นโดยฉับพลัน ซึ่งการพัฒนากำลังคนจะต้องปรับตัวได้รวดเร็วและฉับพลันตามไปด้วย
ในด้านวิชาการนั้น หมายถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาตลอดเวลา ซึ่งหากประเทศไทยตามไม่ทัน จะส่งผลเสียในหลายด้าน ประเด็นเทคโนโลยีสำคัญที่กำลังจะมีบทบาทในอนาคต เช่น เทคโนโลยีควอนตัม ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ เช่น ควอนตัมคอมพิวเตอร์ ที่จะมาปฏิวัติขีดจำกัดศักยภาพของคอมพิวเตอร์ทั่วไปให้สูงขึ้น จนสามารถถอดรหัสรักษาความปลอดภัยที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้อย่างรวดเร็ว แม้แต่ในงานที่ต้องการความปลอดภัยสูงเช่นธนาคาร หรือผู้ให้บริการชั้นนำอย่าง Google หรือ Facebook ซึ่งหากประเทศไทยยังขาดผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถทัดเทียมในระดับสากล และในจำนวนที่เพียงพอต่อการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ของทั้งหน่วยงานรัฐ ภาคธุรกิจ และบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ของประเทศ ได้อย่างเหมาะสมและทันเวลานั้น ประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบอันตรายจากการโจมตีทางไซเบอร์ ในยุคที่กิจการส่วนใหญ่ได้ย้ายไปดำเนินการผ่านทางอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
ในอีกด้านหนึ่งคือทักษะและความรู้ทั่วไป ซึ่งจะครอบคลุมถึงทุกคนในสังคม ไม่ใช่เพียงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น ทักษะศตวรรษ ที่ 21, Digital Literacy, Entrepreneurship, Critical Thinking ตลอดจนทักษะภาษาที่ 2 ที่ 3 และการรู้ทันเหตุการณ์ต่างๆ ของโลก ที่เป็นทักษะและความรู้ที่หลายหน่วยงาน หลายภาคส่วน ช่วยกันผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะในสถาบันอุดมศึกษา สถาบันการศึกษาขั้นพื้นฐาน และโครงการอบรมส่งเสริมบุคลากรและสาธารณะชน เป็นต้น เพื่อพัฒนาศักยภาพของคนให้เป็นกำลังสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศ และยกระดับการเจริญเติบโต ทางเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งประเด็นเหล่านั้นจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงเพื่อเตรียมพร้อม ให้สามารถปรับตัวและรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
นอกจากการพัฒนากำลังคน อีกเรื่องที่มีความสำคัญคือ การรักษากำลังคนให้ทำงานเพื่อพัฒนาประเทศ และการดึงดูดกำลังคนต่างประเทศให้เข้ามามีความร่วมมือกับไทย โดยเฉพาะความร่วมมือในด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ที่ยังขาด เข้ามาใช้ประโยชน์และพัฒนาต่อยอดในประเทศ ทั้งนี้ ประเทศที่เป็นที่น่าดึงดูด ทั้งสำหรับบุคลากรภายในประเทศและต่างประเทศที่จะเข้ามาสร้างความร่วมมือ ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญโดดเด่นในเฉพาะด้าน เฉพาะสาขา หรือประเด็นที่ได้รับการพัฒนาส่งเสริมจนมีศักยภาพเด่นเป็นลำดับแนวหน้าของภูมิภาคหรือของโลก ประเทศเหล่านี้จะได้รับความสนใจในการสร้างความร่วมมือจากประเทศอื่นๆ และจะเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนในระดับนานาชาติ โดยด้านหรือประเด็นที่เชี่ยวชาญจะเป็นส่วนที่ดึงดูดความร่วมมือ เพื่อแลกกับการรับการถ่ายทอดในด้านหรือประเด็นที่ต้องการได้
ทางด้าน รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สกสว. มีภารกิจในด้านการบริหารนโยบายและการจัดสรรงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) โดยหนึ่งในประเด็น ววน. สำคัญ ที่ สกสว. มีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ คือ ประเด็นการพัฒนากำลังคน และสถาบันความรู้ ซึ่งมีหน้าที่ในการผลิตกำลังคน ไม่ใช่เพียงนักวิชาการหรือนักวิจัย แต่รวมถึงผู้คนในทุกภาคส่วนของสังคม โดยระบบ ววน. ของประเทศนั้น มีบทบาทที่สำคัญอย่างมากต่อศักยภาพและคุณภาพของคนในประเทศ
ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของ ววน. ต่อการพัฒนากำลังคนของประเทศ สกสว. โดยกลุ่มภารกิจการพัฒนา ววน. ด้านกำลังคนและสถาบันความรู้ จึงได้ริเริ่มจัดงาน Brainpower Symposium ขึ้น เพื่อเป็นเวทีทางวิชาการ ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดของผู้เชี่ยวชาญ ในประเด็นการพัฒนา ววน. ด้านกำลังคนและสถาบันความรู้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสนทนาเชิงวิชาการ และความตระหนักรู้ในประเด็นที่สำคัญต่อประเทศไทย สำหรับผู้กำหนดนโยบายและนักวิชาการ ซึ่งจะสามารถนำไปเป็นแนวทางในการศึกษาและออกแบบทิศทางการพัฒนาบุคลากรให้ตรงตามความต้องการของประเทศได้ และสำหรับภาคส่วนต่างๆ รวมถึงทั้งภาคเอกชนและประชาสังคมที่มีความสนใจ สามารถมีส่วนร่วมในการผลักดันการรับรู้ของสังคม และการสนทนาในโอกาสต่างๆ ในประเด็นที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ
นอกจากนี้ภายในงานยังมีการเสวนาในหัวข้อ “New Era, New Brainpower, New Skills: ทัศนะการพัฒนากำลังคนเพื่อโลกยุคใหม่” และหัวข้อ “ก้าวข้ามวิกฤติกำลังคนไม่ตอบโจทย์ประเทศ” โดย วิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากภาคนโยบายและภาคเอกชน ร่วมวิเคราะห์ทิศทางการพัฒนากำลังคนของประเทศ ซึ่งงานสัมมนาในครั้งนี้ก่อให้เกิดกลไกความร่วมมือระหว่างสถาบันความรู้ พัฒนาให้นักวิจัยมีบทบาทสำคัญในขับเคลื่อนประเทศและผู้บริหารหน่วยงานในระบบ ววน. ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพของกำลังคนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต