23 สิงหาคม 2564
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สถาบันคลังสมองของชาติ จัดอบรมหลักสูตร “การพัฒนาผู้จัดการงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม (RDI Manager) ด้านชุมชนและพื้นที่” ในวันที่ 23–28 สิงหาคม พ.ศ.2564 เพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้จัดการงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม ที่มีบทบาทรับผิดชอบสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับองค์กร หรือในระดับแผนงานวิจัย ด้านชุมชนและพื้นที่ ให้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมของหน่วยงานในระบบ ววน. ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ให้มีประสิทธิภาพ โดยการอบรมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านพื้นที่และชุมชน หน่วยงานด้านการวิจัยระดับกรม และมหาวิทยาลัย เข้าร่วมกว่า 60 คน
รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับหน่วยงานในระบบ ววน. จะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องขับเคลื่อนทั้ง 3 ส่วนคือ การพัฒนาหน่วยงาน พัฒนาหลักสูตร และพัฒนากำลังคน ผู้จัดการงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม หรือ RDI managers (Research Development & Innovation managers) ที่ทำงานทั้งในหน่วยบริหารและจัดการทุน (Program Management Unit : PMU) และสถาบันวิจัยต่างๆ ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญ ที่จะขับเคลื่อนการบริหารจัดการงานวิจัยของประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมายความสำเร็จ (Objective Key Results) ที่กำหนดไว้ สถานการณ์ที่ผ่านมา ระบบ ววน.ของประเทศไทย ขาดแคลน RDI managers จึงมีความจำเป็นต้องหนุนเสริมทั้งทักษะ ความรู้และมีความสามารถทั้งในแง่ 1) กำหนดเป้าหมาย กรอบการดำเนินงาน งบประมาณ และกลยุทธ์ บริหารทรัพยากรและ กิจกรรม (Action plan) ของแผนงานที่รับผิดชอบและขับเคลื่อนให้บรรลุและสอดคล้องกับเป้าหมาย นโยบาย และพันธกิจของหน่วยงาน รวมถึงแผน ววน. ของประเทศ 2) วิเคราะห์ระบบนิเวศน์ (Ecosystem) เข้าใจห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) ของงาน และสามารถบูรณาการทำงานข้ามศาสตร์ได้ 3) ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ จัดให้เกิดเป็นเครือข่ายความร่วมมือทั้งภายในและภายนอก เพื่อผลักดันผลงานให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ 4) ติดตาม ให้คำปรึกษา และช่วยแก้ปัญหาให้กับโครงการภายใต้แผนงาน เพื่อผลักดันให้แผนงานประสบความสำเร็จ และ 5) มองภาพอนาคตเพื่อพัฒนาข้อเสนอแผนงานโจทย์วิจัยใหม่ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ความต้องการของประเทศ ทั้งในระดับชุมชน ภาครัฐและภาคเอกชนที่เป็นผู้ใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมได้
การจัดอบรมในวันนี้ ถือเป็นการอบรมหลักสูตรนำร่องของ ผู้จัดการงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมด้านชุมชนพื้นที่ เนื่องจากประเทศไทยมีสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย หน่วยงาน ที่มีประสบการณ์ในการทำงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมด้านชุมชนและพื้นที่อยู่แล้ว แต่มีความแตกต่างและหลากหลาย ดังนั้น หากสามารถสร้างกลไกพัฒนาบุคลากร RDI manager ด้านชุมชนและพื้นที่ สร้างพื้นที่ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน จะเกิดเครือข่ายที่ขับเคลื่อนการพัฒนาและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชนและพื้นที่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น
ด้าน รศ.ดร.จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ รองผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวให้ข้อมูลถึงหลักสูตรการอบรมพัฒนา RDI Manager ด้านชุมชนและพื้นที่ในครั้งนี้ว่า มุ่งเน้นการสร้าง RDI manager ที่มีระบบคิดเชิงกลยุทธ์ และออกแบบกระบวนการทำงานที่ดี สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงระดับชุมชนและพื้นที่ได้ทุกมิติ ทั้งนี้ ผู้บริหารจัดการงานวิจัยควรต้องมีฐานคิดดังนี้ 1.กระบวนทัศน์แบบคิดนอกกรอบ 2.กระบวนทำที่วางแผนเป็น 3.สร้างผลงาน โดยขับเคลื่อนผลลัพธ์ (Outcome) ออกมาให้ได้ 4.สร้างคน คือ ทีมวิจัย และ 5.ความสำเร็จที่มาจากการสร้างความเปลี่ยนแปลง
โดยการจัดอบรมครั้งนี้ เป็นการอบรมปฎิบัติการในรูปแบบ Active Learning Experience และระบบพี่เลี้ยง (Coaching & Mentoring System) ที่เน้นหลักการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติแบบมีส่วนร่วม การศึกษาองค์กรต้นแบบด้านการบริหารจัดการงานวิจัย ตลอดจนการฝึกปฏิบัติการจริงและนำเสนอ RDI manager ที่มีระบบคิดเชิงกลยุทธ์ และออกแบบกระบวนการทำงานที่ดี โดย ผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning Outcome) ที่ทางคณะผู้จัดทำหลักสูตรมุ่งเน้นเป็นอย่างยิ่งคือ การกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจ มีความมุ่งมั่นที่จะทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชน ส่งมอบผลลัพธ์และผลกระทบที่มีคุณค่า รวมถึงสนับสนุนให้ผู้อบรมเกิดกรอบความคิดที่เติบโต (Growth mindset) เข้าใจการจัดการการเปลี่ยนแปลง สามารถวิเคราะห์ช่องว่างของการวิจัย (Research gap) ได้
ในขณะที่ศาสตราจารย์ นพ.วิจารณ์ พานิช กรรมการบริหารสถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวถึงประเด็นคุณค่าของนักจัดการ RDI เพื่อชุมชนและพื้นที่ว่า “ผู้บริหารงานวิจัย” หรือ “ผู้จัดการงานวิจัย” นับว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการวิเคราะห์สภาพปัญหา ออกแบบแผนงานวิจัย บริหารจัดการ และส่งมอบผลงาน ในการพัฒนาแผนงานวิจัยต้อง เข้าใจสภาพจริง ความต้องการที่แท้จริง เข้าใจการเปลี่ยนแปลง หรือพลวัต ที่ซับซ้อน มีระบบคิดเชิงกลยุทธ์ เป็นนักออกแบบกระบวนการ อันนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม นอกจากนี้ RDI Manager ต้องเป็นผู้ที่สามารถโยงพลังรอบทิศเข้ามาเสริมนวัตกรรมของพื้นที่และชุมชน เชื่อมโยงโจทย์ของงานในพื้นที่กับภาพใหญ่ของประเทศ อาทิ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 แผนนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) พ.ศ. 2566 – 2570 เป็นต้น
RDI Manager ด้านชุมชนและพื้นที่ ต้องมีความสัมพันธ์แนวราบกับชุมชน หมายถึง การสร้างความสัมพันธ์แบบเป็นมิตร มีความเท่ากัน ไม่ได้เข้าไปในชุมชน พื้นที่ในฐานะผู้ให้เป็นเจ้าของเงิน เป็นผู้อุปถัมภ์ หรือ ผู้มีฐานะสูงกว่า เพราะงบประมาณที่นำมาทำงานวิจัยนั้นมาจากภาษีประชาชน ต้องไม่ตกเป็นมายาคติ ต้องสร้างความสัมพันธ์ แบบไม่เข้าไปสอน แต่เป็นไปแบบ ถามสารทุกข์สุขดิบว่า เขามีปัญหาอะไร ทำมาหากินอย่างไร อะไรทำให้ชุมชนมีความสุข ชวนคุยแล้วฟังเขาเพื่อรับฟังมุมมองหลากหลายแบบ นอกจากนี้ RDI Manager ด้านชุมชนและพื้นที่ ต้องเป็นผู้เชื่อมโยงชุมชนท้องถิ่นกับเป้าหมายใหญ่ของประเทศไทย โครงการวิจัยที่เกิดขึ้น ไม่ควรทำเป็นโครงการต่อเนื่องที่มีลักษณะเป็นเส้นตรงไปเรื่อยๆ แต่ควรสร้างผลกระทบ (Impact) ให้กับพื้นที่ ต้องมองว่าผลสัมฤทธิ์ของการทำโครงการนี้ไม่ใช่แค่โครงการสำเร็จแต่ว่าชุมชนควรจะต้องมีศักยภาพที่ไปต่อได้หลังโครงการจบ โจทย์ยากของการทำงานเชิงพื้นที่คือเรามักจะเจอความซับซ้อน จึงต้องออกแบบและวางแผนให้ดี