วช. จับมือสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับพัฒนาเครื่องฟอกอากาศ แบบผลิตออกซิเจนบวก-ลบ เพื่อป้องกัน PM 2.5 และฆ่าเชื้อโรค



สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  ประสบผลสำเร็จในการสนับสนุนการวิจัยแก่สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ  เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องฟอกอากาศที่สามารถดักจับละอองฝุ่น PM 2.5 และสามารถกำจัดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อโรคในอากาศได้ 


    ดร. วิภารัตน์  ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่ามลพิษทางอากาศเป็นปัญหาใหญ่ที่คุกคามต่อสุขภาพของประชาชน หลายภาคส่วนจึงพยายามคิดค้นหาทางออกเพื่อแก้ปัญหามลภาวะที่เกิดขึ้น  รวมถึงวิธีการบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากมลภาวะที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากฝุ่นละออง  PM 2.5  รวมไปถึงเชื้อแบคทีเรียและเชื้อโรคที่กระจายอยู่ในอากาศ  ซึ่งโดยปกติเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์เหล่านี้ประเทศไทยต้องนำเข้าจากต่างประเทศ  และมีราคาสูงมาก  การส่งเสริมให้มีการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพทั้งในเรื่องกรองฝุ่นละออง ขณะเดียวกันก็สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อโรคในอากาศ ซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยในปัจจุบัน  นอกจากจะเป็นการส่งเสริมในเรื่องสุขภาพของคนไทย  ยังช่วยประหยัดเงิน และลดการพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศอีกด้วย


    นายพิศิษฐ์  มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ เปิดเผยว่า จากปัญหามลภาวะทางอากาศจึงได้คิดประดิษฐ์เครื่องฟอกอากาศขึ้น  โดยเทคโนโลยีที่ให้ความสนใจนำมาใช้ในเครื่องฟอกอากาศเป็นเทคโนโลยีจากต่างประเทศ คือ เทคโนโลยีไบโพลาร์ ไอออนไนเซอร์ (Biopolar Ionizer Technology)  ซึ่งทำงานด้วยวิธีการผลิตไอออนที่เป็นประจุบวก-ลบ เพื่อให้กระจายรอบพื้นที่ เพื่อดักจับและทำลายเชื้อโรคต่างๆ เช่น เชื้อรา แบคทีเรียและเชื้อโรคที่อยู่ในอากาศได้ โดยไม่ก่อให้เกิดสารตกค้างหรือสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย หากนำเข้าจากต่างประเทศจะมีราคาค่อนข้างแพง จึงได้พัฒนาขึ้นมาเองโดยใช้เวลาถึง 3 ปี  จนประสบผลสำเร็จ  ในเครื่องฟอกอากาศที่ประดิษฐ์ขึ้นจะมีชั้นกรองถึง 3 ชั้น คือ ชั้นแรกเป็นไส้กรองพลาสติกผสมกับอนุภาคนาโนซิลเวอร์ (มีคุณสมบัติในการกำจัดเชื้อแบคทีเรีย)  เพื่อดักจับฝุ่นละอองและเชื้อที่มีขนาดใหญ่)  ชั้นที่สองจะเป็นไส้กรองที่ทำด้วย Hepa Filter - H 13 มีคุณสมบัติในการกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ถึง 0.3 ไมครอน สามารถป้องกันละอองฝุ่น PM 2.5  ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่ใช้ทำหน้ากาก N-95 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน  สำหรับชั้นสุดท้ายเป็นเทคโนโลยีไบโพลาร์ ไอออนไนเซอร์ ซึ่งทำหน้าท่ี่ผลิตสารฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อโรคที่อยู่รอบตัว เมื่อเปิดเครื่องฟอกอากาศจะเกิดปฏิกิริยาไฟฟ้าเคมีกระตุ้นให้ออกซิเจนในอากาศแตกตัวไปเป็นขั้นบวกและลบ  โดยออกซิเจนส่วนหนึ่งจะไปรวมตัวกับความชื้นของน้ำในอากาศแล้วเปลี่ยนเป็น ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์  และรวมตัวกับไฮโดรเจนกลายเป็นไฮดร็อกซิลหรือแอลกอฮอล์  แต่จะอยู่ในสถานะเป็นก๊าซ ซึ่งในทางการแพทย์เราใช้สารทั้งสองตัวนี้ในการล้างแผลและฆ่าเชื้อโรค  สารทั้งสองตัวนี้จะสามารถฆ่าแบคทีเรียและเชื้อโรคที่อยู่ในอากาศได้ 

ปัจจุบันมีการผลิตเครื่องฟอกอากาศนี้แจกจ่ายไปตามโรงพยาบาลและสถานพยาบาลต่างๆ เพื่อช่วยเหลือและใช้ป้องกันเชื้อโรคให้กับบุคลากรที่อยู่ด่านหน้า เช่นโรงพยาบาลกลาง  โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ  โรงพยาบาลตากสิน  โรงพยาบาลรามาธิบดี  โรงพยาบาลตำรวจ  โรงพยาบาลพุทธโสธร 6  ศูนย์เอราวัณ  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และสภากาชาดไทย