สกสว. ระดมผู้ทรงคุณวุฒิ หนุน ววน. รับวิกฤตภัยแล้งและน้ำท่วม



วันนี้ (20 กรกฎาคม 2564) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดเวทีเสวนาออนไลน์ TSRI Talk ในหัวข้อ “ววน. รับมือภัยแล้งและน้ำท่วม ปี 2564” โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญทางด้านการบริหารจัดการน้ำ และนักวิจัยเข้าร่วมประชุม เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ภัยแล้งและน้ำท่วม ประเด็นสำคัญ และโอกาสหนุนเสริมจากระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เพื่อสร้างสมดุลด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศ
 
รศ.ดร.ชนาธิป  ผาริโน  รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับความแปรปรวนของธรรมชาติซึ่งส่งผลต่อปริมาณน้ำฝนของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ทำให้ในปีที่ผ่านมา สกสว. ได้มีการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริม ววน. เพื่อสนับสนุนงานวิจัยเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำด้านภัยแล้งและน้ำท่วม โดยงบประมาณเกินครึ่งเป็นการแก้ปัญหาภัยแล้งภาคการเกษตรและทุนท้าทายไทยด้านภัยแล้ง

ทั้งนี้ นักวิจัยได้คาดการณ์ว่าในเดือนกรกฎาคม 2564 ปริมาณน้ำฝนน้อยลงในทุกภาค ให้เฝ้าระวังพื้นที่ภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วง ยกเว้นพื้นที่ภาคตะวันออกที่มีฝนมากและอาจเกิดน้ำท่วม ในขณะที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ตอนล่างจะมีฝนตกมากในช่วงเดือนสิงหาคม อาจส่งผลให้น้ำท่วมในพื้นที่ นอกจากนั้น กรอบการวิจัยและนวัตกรรมประจำปีงบประมาณ 2565 โปรแกรม 17 แก้ปัญหาวิกฤตเร่งด่วนของประเทศ ซึ่งระบุถึงแผนงานวิจัยและนวัตกรรมด้านภัยแล้งและวิกฤตน้ำ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความเสี่ยงหรือความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ อุทกภัย และน้ำไม่มีคุณภาพลง ร้อยละ 50 ซึ่งการเสวนาในวันนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เห็นถึงโอกาสในการหนุนเสริมจากระบบ ววน. เพื่อสร้างการบริหารจัดการน้ำของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
 
ทางด้าน รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานเข็มมุ่งการบริหารจัดการน้ำ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า ปัจจุบันคณะทำงานอยู่ระหว่างการจัดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ส่วนหนึ่งมีประเด็นยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มีส่วนเชื่อมโยงกับแผนด้าน ววน. โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนโปรแกรมที่ 17 การแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศระบุถึงแผนงานวิจัยและนวัตกรรมด้านภัยแล้งและวิกฤตน้ำ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความเสี่ยงหรือความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ อุทกภัย และน้ำไม่มีคุณภาพลง ร้อยละ 50 อย่างไรก็ตามแนวโน้มของงานวิจัยและนวัตกรรมในอนาคตจะต้องออกแบบในลักษณะชุดโครงการวิจัยที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และมีระยะเวลาต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปี โดยมีการบูรณาการกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่นปัจจุบันมีการเชื่อมโยงประเด็นการวิจัยทั้งในเรื่องของการคาดการณ์ปริมาณฝน การประเมินความต้องการน้ำ การประเมินต้นทุนการใช้น้ำ และการบริหารจัดการแหล่งน้ำ ซึ่งการเชื่อมโยงโจทย์ในลักษณะดังกล่าวจะช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำเอางานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ได้ทันที

นอกจากนี้ การเสวนาในครั้งนี้ยังมีนักวิจัยที่ร่วมเสนอองค์ความรู้ และเทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างเช่น การคาดการณ์ความเสียหายอุทกภัยกรณี “ข้าว” ในเดือนกันยายน 2564 อาจมีมูลค่าความสูญเสียรวมสูงถึง 5,313 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นได้ว่าระบบ ววน. มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเข้าไปหนุนเสริม รับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น