สพฉ.วอนหน่วยงานเห็นความสำคัญด่านหน้าช่วยผู้ติดโควิด19 เร่งวัคซีนป้องกันความเสี่ยง
สพฉ.ป่วนหนัก สั่งกักตัวพนักงาน เจ้าหน้าที่ หลังพนักงานปฏิบัติการฉุกเฉิน ประจำรถพยาบาลเอกชนที่ระดมมาช่วยรับ-ส่งผู้ป่วยทั้งที่อาคารนิมิบุตร รพ.บุษราคัม และ รพ.ต่างๆตั้งแต่กลางเดือนเม.ย. ป่วยโควิด 19 ต้องเข้ารับการรักษาตัวที่รพ.มงกุฏวัฒนะ
สถานการณ์การระบาดของโควิด 19 เริ่มลามเข้าสู่พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการบนรถฉุกเฉินที่ไม่ใช่รถพยาบาลระดับก้าวหน้าหรือ Advance Ambulance ของโรงพยาบาลต่างๆ เมื่อ ผู้ใช้ชื่อเฟซบุ๊ค ว่า ตั้ม สยามแอมบูแลนซ์ ได้โพสต์ข้อความในช่วงเย็นวันที่ 23 พ.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่า “ร่างกายผมติดเชื้อโควิด 19 อาการโดยทั่วไป มีไข้ 38 องศาเซลเซียส ปวดเมื่อยตามร่างกาย จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่สามารถที่จะรับรสได้ “ โดยติดแฮชแท็ก ว่า #ภารกิจนี้ผมเป็นคนเลือกเอง ปรากฏว่า ได้เกิดความวุ่นวายโกลาหลอย่างมากในสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ. เนื่องจาก บริษัทสยามแอมบูแลนซ์ เป็นหนึ่งในริษัทรถพยาบาลเอกชนที่ถูกระดมมาช่วยงานตั้งแต่กลางเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา และได้ปฏิบัติภารกิจต่อเนื่องมาจนถึงกลางเพือนพ.ค.
ทั้งนี้ นายการันต์ ศรีวัฒนบูรพา เจ้าหน้าที่ชำนาญการด้านการสื่อสารองค์กร ในฐานะผู้ช่วยโฆษกสพฉ. ได้รายงาน ในที่ประชุมวอร์รูมของสถาบัน ว่า ตนได้รับแจ้งจากนายอาทิตย์ วิชาโคตร หัวหน้าหน่วยรถพยาบาลสยาม เมื่อเวลาประมาณ 12.30 น.ของวันที่ 23 พ.ค. ว่า นายอาทิตย์ ได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ เนื่องจากติดเชื้อโควิด 19
โดยนายการันต์ รายงานผู้บังคับบัญชา ว่า จากการสอบสวนผู้ป่วยทราบว่า ได้เข้ารับการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี rt-pcr เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ได้ผลตรวจเป็นลบ จึงได้ออกปฏิบัติงานรับ-ส่งผู้ป่วยต่อ ระหว่างวันที่ 16-18 พ.ค. และเมื่อวันที่ 19 พ.ค. ได้เข้าร่วมอบรม หลักสูตรลำเลียงผู้ป่วยรุ่น 2 ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ ก่อนเข้าอบรม ทำการตรวจ Rapid AG Test ด้วยวิธี Nasal swab ได้ผลเป็นลบ
ต่อมาในวันที่ 20 พ.ค. เริ่มมีไข้ 21 พ.ค. มีไข้ อ่อนเพลีย ลิ้นไม่รับรส 22 พ.ค. ไปตรวจโควิด ที่ รพ.มงกุฏวัฒนะ
23 พ.ค. โรงพยาบาลโทรมาแจ้งผลว่าเป็นบวก และให้เข้ารับการรักษา
หลังจากที่มีการรายงานดังกล่าว นายอรรถพล ถาน้อย เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการบัญชาการสถานการณ์ ได้แจ้งให้พนักงานและเจ้าหน้าที่ของสถาบัน ทราบว่า นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ ได้สั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่สัมผัสกับผู้ป่วยรายดังกล่าวหยุดปฏิบัติงาน กักตัวที่บ้าน และให้เข้ารับการตรวจโรค เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สัมผัสใกล้ชิดรวมถึงปฏิบัติตามแนวทางการปฏิบัติของบุคลากรทางการแพทย์ ที่สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน COVID-19 ส่วนผู้ที่สัมผัสหรือติดต่อกับกลุ่มที่ 1 ให้ทำงานที่บ้าน หากจำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่นอกที่ตั้งต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา รวมถึงปฏิบัติตามแนวทางการปฏิบัติของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน COVID-19 ฉบับวันที 21 พฤษภาคม 2564
นพ.ไพโรจน์ ยังได้มีคำสั่งให้ บุคลากรที่มีความจำเป็นหรือมีอาการที่ต้องเข้ารับการตรวจโรค ทาง สพฉ. จะมีหนังสือส่งตัวไปยังโรงพยาบาลที่ได้ประสานไว้ต่อไป และในกรณีของกลุ่มที่มีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยและมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่นอกที่ตั้ง สพฉ. ให้แจ้งต่อหัวหน้างานเพื่อส่งรายชื่อให้เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยโดยด่วน เพื่อประสาน วางแผนส่งทีมสำรองไปปฏิบัติหน้าที่แทนต่อไป
ทั้งนี้มีรายงานข่าวมาก่อนหน้านี้ว่า บุคลากรทางการแพทย์ทั้งแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่เป็นกลุ่มที่ได้รับการฉีดวัคซีนไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่ไม่รวมพนักงานปฏิบัติการของรถฉุกเฉินที่เป็นรถพยาบาลเอกชนและรถมูลนิธิ เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้เสนอต่อกระทรวงสาธารณสุขที่จัดบุคคลเหล่านี้เป็นกลุ่มที่สมควรได้รับวัคซีน เนื่องจากมีการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง หรือแม้แต่บุคลากรของสพฉ.เองก็เพิ่งได้รับวัคซีนเข็มแรกไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จึงทำให้ก่อนหน้านี้มีอาสาสมัครมูลนิธิจำนวนมากถูกกักตัว เนื่องจากมีความเสี่ยงในการออกปฏิบัติการ นอกจากนี้ ในช่วง 1 เดือนก่อนหน้านี้ สพฉ. เพิ่งมีการเรียกระดมรถกู้ชีพฉุกเฉินให้มาช่วยรับส่งผู้ป่วย ทั้งที่สพฉ.และอาคารนิมิบุตร โดยไม่มีการประสานเรื่องการฉีดวัคซีนและจัดอบรมเรื่องการใส่และถอดชุด PPE เป็นเวลาครึ่งวันก่อนออกปฏิบัติการ