สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย จัดสัมมนา “แพทย์ผิวหนังพบประชาชน” เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี ภายใต้คอนเซ็ปต์ “4 ทศวรรษ พัฒนาความรู้ คู่ความปลอดภัย เพื่อคนไทยทุกคน” เผยเตือนคนไทยให้ระวังผลข้างเคียงจากการใช้เครื่องสำอางชนิดต่าง ๆ ระวังการเลือกใช้บริการหัตถการต่าง ๆ และการนำสเต็มเซลล์มาใช้เพื่อความงามและการชะลอวัย
รศ.นพ.นภดล นพคุณ นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวเนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี ของสมาคมแพทย์ผิวหนังฯ ภายในงานสัมมนา “แพทย์ผิวหนังพบประชาชน” ภายใต้คอนเซ็ปต์ “4 ทศวรรษ พัฒนาความรู้ คู่ความปลอดภัย เพื่อคนไทยทุกคน” ว่าสมาคมแพทย์ผิวหนังฯ ในปัจจุบัน ได้ทำงานในการเผยแพร่ส่งเสริมการประกอบวิชาชีพเวชกรรมทางด้านผิวหนังให้แพร่หลายกว้างขวางถูกต้องตามหลักวิชาการ ให้การสนับสนุนส่งเสริมการวิจัย และเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนอย่างสม่ำเสมอ ในแต่ละปีจะมีการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เดินทางไปในแต่ละจังหวัด เพื่อตรวจรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคผิวหนังชนิดต่างๆ พร้อมให้ความรู้กับประชาชนร่วมกับโรงพยาบาลในท้องถิ่นอยู่เป็นประจำ ในปีนี้เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี ของทางสมาคมแพทย์ผิวหนังฯ จึงได้จัดกิจกรรม “แพทย์ผิวหนังพบประชาชน” ขึ้น โดยเนื้อหาสาระที่จัดในงานสัมมนาจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะในเรื่องของการเลือกใช้เครื่องสำอาง, การใช้ยา, ยารับประทาน และการรับประทานอาหารเสริมเพื่อสุขภาพความงามและผิวพรรณ หรือวิธีการรักษาด้วยหัตถการต่างๆ อาทิเช่น การใช้เลเซอร์, ฟิลเลอร์, โบท็อกซ์, ร้อยไหม, ไอแอลพี, อาร์เอฟ : ใช้อย่างไรปลอดภัย รวมถึงเรื่องที่เป็นกระแส และกำลังเป็นที่นิยมมากที่สุด คือ เรื่องการนำสเต็มเซลล์มาใช้เพื่อเสริมความงาม และการชะลอวัย รวมถึงปัญหาอันตรายจากการใช้สเต็มเซลล์เพื่อเสริมความงาม ซึ่งต้องการกระตุ้นเตือนให้ประชาชนได้ตระหนัก และตอกย้ำถึงอันตรายจากสิ่งที่ยังไม่มีผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์มารับรอง
ผศ.พญ.สุวิรากร โอภาสวงศ์ ประธานประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคผิวหนัง เกี่ยวข้องกับผลข้างเคียงจากการใช้ยา เพื่อแต่งเสริมเติมแต่งความงามของร่างกาย ทำให้เกิดอันตรายในหลายลักษณะด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น ครีมหน้าขาวที่มีส่วนผสมจากไฮโดรควิโนน (Hydroquinone), ผลข้างเคียงจากการใช้สเตียรอยด์, การใช้ผลิตภัณฑ์ Whitening ที่ทำให้ผิวขาว, เครื่องสำอางปลอม และการเลือกซื้อสินค้าผลิตภัณฑ์ด้านความงามจากการการโฆษณาทางอินเตอร์เน็ต เหล่านี้ล้วนเป็นอันตราย โดยเฉพาะครีมทาผิวบางชนิด ที่ใช้ได้เฉพาะที่ เช่น ทาบริเวณผิวหน้าเท่านั้น ห้ามนำมาทาตัว หรือทาบริเวณทั่วร่างกายห้ามทาบริเวณใบหน้า ดังนั้นการซื้อครีมทาผิว ต้องอ่านฉลากให้ละเอียดเสียก่อนนำมาใช้ ทั้งในส่วนที่วางขายตามท้องตลาดทั่วไป, ตามเว็บไซต์ต่างๆ หรือการโปรโมทขายสินค้าตามรายการโทรทัศน์เคเบิ้ลทีวีบางช่อง สื่อเหล่านี้ให้ระวัง เพราะมักจะมีการโฆษณาเกินจริง บางครั้งครีมทาผิวดังกล่าวอาจจะเป็นของเลียนแบบ, ของปลอม หรือมีส่วนผสมของสารโคเบตาซอล ซึ่งเป็นสเตียรอยด์ชนิดที่แรงที่สุด เอาไว้รักษาโรคผิวหนังอักเสบที่เป็นเรื้อรัง หรือเป็นผื่นหนา และมีคำเตือนว่าห้ามใช้ติดต่อกันเกิน 4 สัปดาห์ สารนี้จัดเป็นยาและไม่สามารถอยู่ในเครื่องสำอางได้ สารชนิดนี้ออกฤทธิ์ที่ผิวหนังถึงชั้นหนังแท้และอาจเป็นแผลถาวร ซึ่งผลของมันนอกจากไปยับยั้งการสร้างเม็ดสีผิว, ไปรบกวนเรื่องของการสร้างอิลาสติน และคอลลาเจนของผิวหนังแล้ว ยังทำให้เกิดการแตกลายงาของผิวหนัง ทำให้ผิวบางและเส้นเลือดขยาย หากไปทาที่ใบหน้า หรือบริเวณที่มีต่อมไขมันเยอะจะทำให้เกิดสิวซึ่งรักษายากกว่าสิวทั่วไป และเมื่อผิวบางโดนอะไรจะแพ้ง่าย และมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังได้ด้วย
ในประเทศไทยปัญหาการใช้ครีมหรือขี้ผึ้งสเตียรอยด์พบได้ค่อนข้างบ่อย เพราะยาในกลุ่มนี้ประชาชนสามารถซื้อหาได้เองโดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ และมีราคาถูก 10 กรัมราคาเพียง 50 บาท มีเป็นร้อยยี่ห้อ ส่วนมากประชาชนมักจะคิดว่า ครีมทาผิวภายนอกไม่ค่อยมีอันตราย ในขณะที่ประเทศเจริญแล้ว เช่น อเมริกา, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์ ครีมในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด ประชาชนไม่สามารถซื้อใช้เอง ต้องมีใบสั่งแพทย์ ร้านขายยาจึงจะขายให้ เพราะผิดกฎหมาย ครีมสเตียรอยด์มีประโยชน์ คือ แก้แพ้ แก้คัน แก้ผื่นผิวหนังอักเสบ บางคนพอใช้แล้วหน้าเรียบ ก็เลยใช้ต่อเนื่อง ถ้าใช้ช่วงสั้น ๆ ไม่เป็นไร แต่ถ้าใช้นานๆ จะติด ไม่ใช้ไม่ได้ และเพิ่มความแรงของยาขึ้นเรื่อย ๆ ตรงนี้เองที่ทำให้เกิดปัญหาหยุดไม่ได้ พอหยุดผิวหนังจะอักเสบเห่อขึ้นมา
โดยผลข้างเคียงจากการใช้ครีมสเตียรอยด์ แบ่งได้ดังนี้
1. ประเภทเฉียบพลัน ได้แก่ 1.1.การเกิดสิว ครีมกลุ่มนี้ทำให้เกิดสิว โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า และหน้าอก โดยสิวที่เกิดจากสเตียรอยด์ จะแตกต่างจากสิวทั่วไป จะเห็นเป็นสิวในแบบเดียวกันทั้งหมด คือ เป็นตุ่มนูนแดง (ไม่มีหัวหนองหรือไขมันอุดตัน) 1.2 รอยโรคเดิมเป็นมากขึ้น พวกนี้ส่วนมากเกิดจากการใช้ยาผิดโรค เช่น เป็นโรคกลากเกลื้อนแล้วใช้ครีมสเตียรอยด์ทาจะทำให้เป็นมากขึ้น 1.3 เกิดผื่นแพ้สัมผัส ซึ่งอาจเกิดการแพ้สารกันบูดหรือน้ำหอมที่ใส่ในครีมสเตียรอยด์ได้ ส่วนการแพ้ตัวสเตียรอยด์เองนั้นก็พบได้แต่พบได้น้อย
2. ประเภทเรื้อรัง ได้แก่ ทำให้ผิวหน้าบางลง ออกแดดไม่ได้ เวลาเจอแดดก็จะแสบร้อน หลอดเลือดใต้ผิวหนังเปราะแตกง่าย ขนยาวขึ้นบริเวณทายา เกิดสิวและผื่นอักเสบรอบปาก เกิดภาวะติดยา ซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อยในเมืองไทยและรักษายาก ภาวะนี้เกิดจาการใช้ครีมสเตียรอยด์เป็นเวลานาน เวลาหยุดยาแล้วจะแดง หรือโรคผิวหนังอักเสบเดิมจะเป็นมากขึ้น ทำให้หยุดใช้ยาไม่ได้และต้องใช้ครีมสเตียรอยด์แรงมากขึ้น นอกจากนี้อาจไปกดการทำงานของต่อมหมวกไต ซึ่งมักเกิดจากการใช้ครีมสเตียรอยด์ชนิดแรงเป็นเวลานานโดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงอายุ
รศ.พญ.รังสิมา วณิชภักดีเดชา ผู้ช่วยประชาสัมพันธ์ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลข้างเคียงจากการหัตถการต่างๆ อาทิเช่น การใช้เลเซอร์, ฟิลเลอร์, โบท็อกซ์ และร้อยไหม ไอแอลพี อาร์เอฟ: ใช้อย่างไรปลอดภัย เป็นสิ่งที่ประชาชนควรใส่ใจเป็นอย่างยิ่ง ประเด็นที่อยากพูดถึง คือเรื่องการใช้สารเติมเต็ม หรือฟิลเลอร์สำหรับรักษาปัญหาผิวพรรณนั้น ใช้หลักการคือ ผิวหนังซึ่งมีส่วนประกอบหลักที่สำคัญ คือ ใยคอลลาเจนและสารไฮยาลูโรนิก ที่มีความสามารถในการอุ้มน้ำมากกว่าตัวเอง 100 เท่า มีหน้าที่สำคัญคือเป็นองค์ประกอบที่ให้ความแข็งแรง และความยืดหยุ่นแก่ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังมีรูปทรงเต่งตึง แต่เมื่อเวลาผ่านไปเข้าสู่วัยชรา จะพบว่าใยคอลลาเจนและสารอุ้มน้ำจะค่อยๆ มีจำนวนลดน้อยลง ส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คือ ผิวหนังจะมีลักษณะบางลง เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่น และเพื่อแก้ไขภาวะดังกล่าว จึงมีความพยายามหาทางแก้ไข โดยการฉีดสารจากภายนอกเข้าไปในผิวหนังเพื่อทดแทน หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “Filler”
การฉีดฟิลเลอร์นั้นอาจเกิดอันตรายที่รุนแรง และสารเหล่านี้มีราคาแพงและอยู่ได้ไม่ถาวร อันตรายที่เกิดขึ้นสามารถเกิดจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ 1. ผู้ทำการฉีดต้องมีความรู้ความชำนาญสูง และต้องเป็นแพทย์เท่านั้น ถึงแม้ผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมและมีประสบการณ์สูงสุดก็อาจเกิดผลข้างเคียงได้ 2. สารที่ใช้แม้ว่าเป็นสารที่ผ่าน การรับรองจากองค์การอาหารและยา ก็สามารถเกิดผลข้างเคียงได้ แม้แต่การดูดไขมันของตัวเองมาฉีดก็เกิดอันตรายได้เช่นกัน 3. ตัวผู้รับการฉีด แต่ละคนมีกายวิภาคที่ต่างกัน ตำแหน่งของเส้นเลือดเส้นประสาท อาจมีความแตกต่างจากคนอื่นได้ โดยเฉพาะที่ได้รับการผ่าตัด, การฉีด, การร้อยไหม จะมีพังผืดทำให้เกิดอันตรายง่ายขึ้นอีก ดังนั้นผู้บริโภคควรตระหนักในการเลือกใช้เครื่องสำอางที่ได้รับรองจาก อย. เท่านั้น หรือในกรณีที่ไม่มั่นใจ ก็สามารถตรวจสอบไปที่ สายด่วนอย.หมายเลขโทรศัพท์ 1556
ดร. นพ. เวสารัช เวสสโกวิท ประธานฝ่ายจริยธรรมสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าว่า ปัญหาของความงาม ผิวพรรณและปัญหาสุขภาพของผิวหนัง โดยเฉพาะในเรื่องของการนำสเต็มเซลล์มาใช้ในวงการแพทย์ ก่อให้เกิดอันตรายจากสิ่งที่ไม่มีผลทางวิทยาศาสตร์มารับรองนั้น ทำให้สมาคมแพทย์ผิวหนังฯ ต้องการกระตุ้นเตือนให้ประชาชนได้ตระหนักและตอกย้ำถึงการนำสเต็มเซลล์มาใช้เพื่อเสริมความงามและการชะลอวัย รวมถึงปัญหาอันตรายจากการใช้สเต็มเซลล์เพื่อเสริมความงาม โดยสเต็มเซลล์หรือเซลล์ต้นกำเนิด คือเซลล์ที่สามารถแบ่งตัวได้เรื่อยๆไม่มีขีดจำกัด และสามารถเปลี่ยนเป็นเนื้อเยื่อชนิดต่าง ๆ ได้หลากหลาย มี 2 ประเภท ได้แก่ 1. เซลล์ที่มาจากตัวอ่อน (embryo) และ 2. เซลล์ที่มาจากสิ่งมีชีวิตหลังคลอด ซึ่งเมื่อได้เซลล์ต้นกำเนิดมามักได้ปริมาณน้อย จะต้องมาทำการเพาะเลี้ยงในจานเพาะเลี้ยงเซลล์ กระบวนการดังกล่าวมีความยุ่งยากซับซ้อน บางกรณีจะใช้น้ำเหลืองจากวัวมาผสมในน้ำเลี้ยงเซลล์ ตลอดจนต้องใช้เซลล์พี่เลี้ยงที่เป็นเซลล์มาจากหนู เซลล์เหล่านี้ เลี้ยงยาก ตายง่าย ไม่สามารถเก็บรักษาไว้ในบรรจุภัณฑ์ต่างๆได้ และ เมื่อได้เซลล์จำนวนมากพอ อาจนำมาใช้รักษาผู้ป่วยได้ ทั้งนี้ส่วนใหญ่เมื่อเก็บเซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดโดยใช้ยากระตุ้นมักเก็บได้เซลล์ปริมาณมากพอ จนไม่จำเป็นต้องนำเซลล์มาเพาะเลี้ยงเพื่อเพิ่มปริมาณก่อนนำไปใช้ และการใช้เซลล์ต้นกำเนิดเพื่อการรักษาโรคในปัจจุบัน การรักษามาตรฐานมีเพียงโรคทางโลหิตวิทยาเท่านั้น ส่วนใหญ่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือด หรือภาวะโลหิตจางจากโรคธาลัสซีเมีย
ทั้งนี้อาจจะมีการศึกษาวิจัยเพื่อใช้เซลล์ต้นกำเนิดในการรักษาโรคต่าง ๆ มากมาย อาทิ โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต อย่างไรก็ดีจนถึงปัจจุบันการศึกษาวิจัยเหล่านี้ไม่สามารถแสดงให้เห็นว่าการใช้เซลล์ต้นกำเนิดก่อให้เกิดประโยชน์ได้ผลสม่ำเสมอในผู้ป่วยทุกราย ดังนั้นนอกจากโรคทางโลหิตวิทยา การใช้เซลล์ต้นกำเนิดเพื่อรักษาถือเป็นการวิจัยทั้งสิ้น โดยการรักษาเหล่านี้จะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการวิจัยและจริยธรรมฯ ก่อน ว่ามีความเหมาะสมที่จะวิจัย ตลอดจนจะต้องได้รับคำยินยอมจากผู้ป่วยเป็นลายลักษณ์อักษร แสดงความจำนงว่าจะเข้าร่วมการศึกษาวิจัย โดยทราบผลดีผลเสียที่ได้จากการวิจัย และผู้ป่วยจะต้องไม่เสียค่าใช่จ่ายในการเข้าร่วมโครงการวิจัยดังกล่าว
ดร. นพ.เวสารัช กล่าวย้ำว่า ไม่มีการศึกษาวิจัยที่ได้มาตรฐาน สำหรับการใช้เซลล์ต้นกำเนิดในด้านผิวหนัง ความงามและชะลออายุ การทำการรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิด นอกจากโรคทางโลหิตวิทยาซึ่งถูกควบคุมด้วยข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม เรื่อง การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อการรักษา พ.ศ. 2552 หากมีผู้ใดชักชวนให้ท่านรับการรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิดในโรคที่ไม่ใช่ทางโลหิตวิทยา กรุณาแจ้งมาที่แพทยสภา เพื่อจะได้มีการตรวจสอบว่าเป็นการรักษาที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่อย่างไร หรือหากมีข้อสังสัย สามารถส่งอีเมล์ มาที่ contact@dst.or.th ทางสมาคมแพทย์ผิวหนังฯ จะมีแพทย์คอยตอบคำถามเพื่อไขข้อสงสัยให้อยู่เสมอ