สภาพัฒน์ เปิดฟลอร์พัฒนากรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับใหม่ สกสว. รับลูก พร้อมเชื่อมแผนวิจัยปี 66 - 70



1 เมษายน 2564 คณะผู้บริหารและบุคลากร สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)  ฟอร์มทีมร่วม การระดมความเห็น กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566 – 2570) ระดับกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1  (พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ ตาก) ณ โรงแรมท็อปแลนด์ จ.พิษณุโลก นำโดย รศ.ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ ที่ปรึกษาผู้อำนวยการ สกสว.และ ผอ.สำนักและพัฒนากองทุน ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญระดับสูง กลุ่มภารกิจพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ   และ ดร.ฉัตรฉวี คงดี ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักกลยุทธ์และพัฒากองทุน   เพื่อร่วมศึกษากระบวนการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระดับพื้นที่ ศึกษาการเชื่อมโยงกับแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ฉบับปี 2566 – 2570 ซึ่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ จัดขึ้น เพื่อรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนใน 18 กลุ่มจังหวัด นำมาประกอบการกำหนดกรอบของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 โดยมีนายรณชัย จิตวิเศษ  ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก และ นายดนุชา พิชยนันท์  เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้การต้อนรับ
ซึ่งการจัดงานวันนี้ มีผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน นักวิชาการ  เข้าร่วมกว่า 150  คน 

ศาสตราจารย์ ดร.สนิท  อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า สภาพัฒน์ ให้ความสำคัญกับกระบวนการระดมความเห็นจากทุกภาคส่วนมาก   ผ่านการจัดการประชุมในระดับภูมิภาค 18 กลุ่มจังหวัด เนื่องจากเป็นข้อมูลสำคัญจากความต้องการจริงของพื้นที่   ที่แต่ละภูมิภาคมีบริบทเชิงพื้นที่ และภูมิศาสตร์แตกต่างกัน ในการพัฒนากรอบแผนพัฒนา ฯ ฉบับที่ 13  ซึ่งอยู่ในช่วงของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี  ตลอดระยะเวลาการจัดทำแผนที่ผ่านมา มุ่งเน้นเรื่องการที่ประเทศต้องพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งสอดคล้องกับที่สาธารณรัฐประชาชนจีนมุ่งเน้นเรื่องนี้เช่นเดียวกัน

ในขณะที่นางสาว จินางค์กูร โรจนนันต์  รองเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ข้อมูลสำคัญถึงแนวทางการพัฒนา ร่างกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13  อาทิ  ภายใน 30 ปี ประชากรของโลกจะอาศัยในเขตเมือง โควิดทำให้จีดีพีโลกปี 2563 ที่ผ่านมา  หดตัว 4.3 % อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น 6.5 % และ ชั่วโมงการทำงาน ลดลง สำหรับในไทยจากสถานการ์โควิด ทำให้จีดีพี หดตัว 6.1 % อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น 1.9 %   31.6 % ของแรงงานอยู่ในภาคเกษตร แต่สร้างมูลค่าเพิ่มเพียง 6 % ของจีดีพี   นอกจากนี้ โควิด ทำให้เศรษฐกิจไทยเปราะบางขึ้นจากหนี้ครัวเรือน NPLs และหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น  ซึ่งข้อมูลเหล่านี้คือตัวเลขสำคัญส่วนหนึ่ง ที่สภาพัฒน์ทบทวน และนำมาออกแบบกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับดังกล่าว

อนึ่งหลังการประชุมครั้งนี้ คณะทำงานด้านแผนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (แผน ววน.)   สกสว.  จะได้นำข้อมูล กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) ซึ่งเป็นแผนระดับ 2 ของประเทศ มาประกอบการจัดทำแผนด้าน ววน. ฉบับปี พ.ศ. 2566 – 2570 ให้สอดคล้องกับเป้าหมายของการพัฒนาประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ต่อไป