สวทช. ผนึก วช. เฟ้นหา ‘เยาวชนคนเก่ง’ แข่งขันผลงานด้าน ‘วิทย์ฯ -เทคโนโลยี-นวัตกรรม’ บนเวที ‘NSTIF 2021’ ครั้งแรก เพื่อพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศ



(11 มีนาคม 2564 ) ที่โถงชั้น 1 อาคารสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ถนนโยธี : ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมแถลงข่าวความร่วมมือ “สวทช. ผนึก วช. สร้างเยาวชนคนเก่ง เปิดเวที “การประกวดผลงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1” หรือ ‘NSTIF 2021 ผู้บริหารของทั้ง 2 หน่วยงาน รวมทั้งเปิดเวทีเสวนาในหัวข้อ ‘ความร่วมมือในการพัฒนากำลังคนและความสำเร็จจากวันวาน..สู่วันนี้’ จากศิษย์เก่าโครงการการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ หรือ YSC และศิษย์เก่าการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย หรือ NSC ได้แก่ รศ.ดร.ทวีธรรม ลิมปานุภาพ หัวหน้าสาขาวิชาเคมีจากวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปี 2563 พร้อมด้วย นายณัฎฐ์ ปิยะปราโมทย์ Senior Software Engineer บริษัท Agoda Services Co., Ltd. เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ที่เคยอยู่ในแวดวงนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์จนถึงความสำเร็จในวันนี้กับหน้าที่การงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับแนวหน้าของไทย
 
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แถลงว่า สวทช. เป็นหน่วยงานด้านการวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยมีพันธกิจในด้านการสร้างและพัฒนาบุคลากรวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยีและนวัตกร เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ทั้งนี้การดำเนินพันธกิจดังกล่าว สวทช. ได้ร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีกลุ่มเป้าหมายหนึ่งที่สำคัญ คือ “เด็กและเยาวชน” เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความรักและสนุกกับการเรียนวิทยาศาสตร์ ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี นับตั้งแต่ปี 2545 สวทช. ได้จัดงาน “มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทย หรือ IT Contest Festival” ขึ้น และในปีนี้ สวทช. รู้สึกมีความยินดีที่ วช. ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพันธมิตรได้เข้ามาร่วมสนับสนุนการแข่งขัน ภายใต้ชื่อใหม่ คือ “การประกวดผลงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1 (The 1st National Science Technology and Innovation Fair 2021 หรือ NSTIF 2021)” ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างให้การประกวดผลงานในครั้งนี้มีความยั่งยืนและแข็งแกร่งเชิงวิชาการในระยะยาว 
“สวทช. และ วช. ร่วมกันผนึกกำลังจัดประกวดแข่งขันดังกล่าวขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ ในทุกภูมิภาคของประเทศ ส่งประกวดผลงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเฟ้นหาผู้ชนะเลิศจากการประกวดแข่งขันจาก 2 โครงการ ได้แก่ 1. การประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Scientist Competition: YSC) และ 2. การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (National Software Contest: NSC) ซึ่งทั้ง 2 โครงการ ได้คัดเลือกผู้ชนะในระดับภูมิภาค เพื่อมาเข้าประกวดแข่งขันในรอบสุดท้ายระดับประเทศ” 
 
ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมาได้มีการจัดการแข่งขันแบบออนไลน์แล้วสำหรับการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (YSC) ซึ่งมีผู้สมัครจากทั่วประเทศกว่า 1,606 โครงงาน (จำนวน 3,988 คน) และได้รับทุนสนับสนุนการพัฒนาโครงงานทั้งสิ้น 285 โครงงาน และผู้ชนะระดับภูมิภาคเข้าประกวดในรอบชิงชนะเลิศ จำนวน 62 โครงงาน (นักเรียนจำนวน 152 คน) 
และในวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมาได้มีการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (NSC) มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 1,394 ผลงาน (จำนวน 3,338 คน)  ได้รับทุนสนับสนุนการพัฒนาผลงานจำนวน 543 ผลงาน และผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศจำนวน 121 ผลงาน (นักเรียน นักศึกษา จำนวน 296 คน) โดยทั้ง 2 โครงการภายใต้เวทีการแข่งขัน การประกวดผลงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1 โดยจะมีประกาศรางวัลในวันที่ 19 มีนาคม 2564 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี
จึงขอเชิญชวนประชาชนและทีมที่เข้าร่วมแข่งขันทุกทีม ร่วมเป็นกำลังใจให้กับผู้เข้าแข่งขันรอบชิงชนะเลิศแล้วฟังการประกาศผลไปพร้อมๆ กัน ทางช่องทางออนไลน์ เพจเฟซบุ๊ก: NSTDA-สวทช. สำหรับผู้ชนะเลิศจากเวที NSTIF 2021 การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ จะเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขัน Regeneron International Science and Engineering Fair (Regeneron ISEF) ณ สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 16-21 พฤษภาคม 2564 ซึ่งถือเป็นเวทีประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในระดับโลก 
ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า  วช. ได้มีการให้ทุนสนับสนุนแก่เยาวชนผ่านเครือข่ายศูนย์ประสานงานภูมิภาค YSC จำนวน 6 หน่วยงาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อพัฒนาผลงาน เข้าประกวดในโครงการ YSC 
และให้ทุนสนับสนุนแก่เยาวชนผ่านเครือข่ายมหาวิทยาลัยภูมิภาค จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ เพื่อพัฒนาผลงานสำหรับแข่งขันในโครงการ NSC อีกทั้งยังมีความร่วมมือกับ สวทช. ในการจัดการประกวดผลงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติครั้งที่ 1 ประกอบด้วย
โครงการการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Scientist Competition : YSC) และโครงการการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (The National Software Contest : NSC)  ซึ่งจะเป็นเวทีที่สร้างและพัฒนาเยาวชนให้มีความพร้อมในการเป็นนักประดิษฐ์ที่มีคุณภาพ และศักยภาพ เพื่อเติบโตเป็นนวัตกรที่สำคัญของประเทศต่อไปในอนาคต