สกสว. จับมือภาคีวิจัยประชุมเข้ม ลำดับความสำคัญงานวิจัยแก้โควิด – 19 ปีงบ’64



สกสว.  พร้อมด้วย ภาคีวิจัยร่วมกันหารือจัดลำดับความสำคัญงานวิจัยแก้โควิด – 19  ปีงบประมาณ 2564 เฟ้นหาโจทย์จำเป็น เน้นการแก้ปัญหาทั้งในเชิงการแพทย์ พร้อมเชิงเศรษฐกิจและสังคมอย่างสมดุล

25 พฤศจิกายน 2563 


ศ.นพ. สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เปิดการประชุม  “การจัดสรรงบประมาณพร้อมรับมือโควิด - 19”  ณ โรงแรมอนันตรา สยาม

กรุงเทพฯ โดย  รศ.ดร ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. เปิดเผยข้อมูลว่า การประชุมครั้งนี้มีขึ้นเพื่อระดมสมอง      แนวทางการจัดลำดับการจัดสรรงบวิจัยรับมือโควิด – 19  ที่มีการวางกรอบงบประมาณวิจัยไว้ 1,200 ล้านบาท   ซึ่งสืบเนื่องจากการจัดสรรงบประมาณไปแล้วจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.)  ภายใต้การดูแลของ สกสว. ในช่วงปี 2563  ตลอดจนเป็นพื้นที่ของการออกแบบการทำงานร่วมกันสำหรับงบประมาณวิจัยปี  2564 – 2565
โอกาสนี้ ศ.นพ. สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ  ได้กล่าวถึงความจำเป็นที่ประเทศต้องมีนโยบายการลงทุน ววน. ด้านการแพทย์ ว่า  เมื่อเกิดเหตุการณ์โควิด – 19 สังคมรับทราบว่าประเทศไทยรับมือได้ดี มีจำนวนผู้ป่วยน้อย มีอุปกรณ์การแพทย์ที่พอเพียง พร้อมทั้งมีแผนรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นอีก  ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกันระหว่างหลายภาคส่วนเพื่อแก้ปัญหาทั้งเชิงสุขภาพและเศรษฐกิจ  จากสถานการณ์โควิด – 19 ทำให้เห็นความจำเป็นของการที่ประเทศไทยต้องลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมด้านการแพทย์ ทั้งหมดด้วย   โดยควรเป็นการวิจัยที่แก้ปัญหาทั้งทางต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัคซีน การแพยท์ทางไกล ระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (E – Health) ซึ่งต้องทำเชื่อมโยงร่วมกันทั้งหมด  เครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมการแพทย์ การประกันอุปกรณ์การแพทย์ สมุนไพร  ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานทางการแพทย์ จีโนมิกส์ (การวิจัยด้านกลุ่มยีน หรือพันธุกรรมของเซลล์สิ่งมีชีวิต) เป็นต้น 

ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง  รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  รักษาราชการแทน ผอ.วช. ได้นำเสนอ  ผลงานจากการสนับสนุนงบประมาณ ววน. สำหรับโรคโควิด – 19 ในปีงบ 2563 ผ่านมาว่า             วช. สนับสนุนทุนวิจัยทั้งในเรื่องชุดตรวจโควิด  หน้ากากผ้าและหน้ากากอนามัย การคิดค้นวัคซีน การเยียวยาและลดผลกระทบ   การวิจัยด้านเวชภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษา การวิจัยเชิงเศรษฐกิจและสังคม การกำจัดเชื้อในอุปกรณ์เวชภัณฑ์ต่างๆ  โดยมีการจัดเวทีระดมสมองจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholders) เพื่อให้ได้แผนงานวิจัย โจทย์วิจัยที่จำเป็นกับสถานการณ์จริง ภายใต้งบประมาณกว่า 360 ล้านบาท โดยสัดส่วนของงบประมาณอยู่ที่เรื่องวัคซีนมากที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับกรอบวิจัยขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ออกแบบไว้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน วช. ยังคงติดตามสถานการณ์การทำงานของหน่วยงานภาครัฐถึงการออกแบบมาตรการต่างๆ เพื่อให้เกิดการสนับสนุนการวิจัย ให้ได้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายที่สำคัญของประเทศต่อไป  


ต่อมาในที่ประชุม นำโดย นายแพทย์สุวิทย์  วิบุลผลประเสริฐ  ที่ปรึกษาสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข ด้านการต่างประเทศ   เป็นประธานหารือ ร่วมกับ สกสว.  สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)  หน่วยงานภาคีวิจัยอย่าง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)   หน่วยบริหารจัดการทุนวิจัย (พีเอ็มยู) มหาวิทยาลัยต่างๆ  ตลอดจน กองยุทธศาสตร์และแผนงาน – กระทรวงสาธารณสุข (กยผ.)  สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) และ ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อจัดลำดับความสำคัญของการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อการจัดสรรงบประมาณรับมือโควิด – 19  โดยเบื้องต้นที่ประชุมเสนอประเด็นวิจัยเร่งด่วนของประเทศ ทั้งในประเด็น การวิจัยเตรียมพร้อมกรณีเกิดโรคระบาดเร่งด่วนในอนาคตอีก  จริยธรรม (สิทธิการได้รับวีคซีนก่อนหลัง) วัคซีนที่ดีที่สุดควรมีประสิทธิภาพอย่างไร ประเทศไทยควรลงทุนทำวัคซีนเพื่อรองรับการรักษาและนำไปสู่การขายเชิงพาณิชย์ การพัฒนาทุนมนุษย์ด้านการวิจัยทางการแพทย์ โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ของศูนย์สัตว์ทดลองการลงทุนในห้องปฏิบัติการ (Laboratory) เวชภัณฑ์เพื่อการวินิจฉัยและการรักษา   เป็นต้น อย่างไรก็ตามข้อสรุปสำคัญจากการประชุมนี้ จะนำไปสู่กระบวนการต่อไปของการจัดลำดับความสำคัญของงานวิจัยโควิด – 19 และการออกแบบแผนวิจัยต่อไป