หมอประเวศแนะฟื้นประเทศหลังโควิด เลิกพัฒนาแบบแยกส่วน อุ้มเศรษฐกิจพร้อมสังคม
17 พฤศจิกายน 2563
รศ.ทนพ.ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศไทย ณ โรงแรมรามาการ์เด้น กรุงเทพฯ โดยมี รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. พร้อมด้วย นายสมปรารถนา ทวีสุข รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้การต้อนรับ โดยในงานนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมจาก อปท. ทั่วประเทศ กว่า 300 คน
โอกาสนี้ รศ.ทนพ.ดร.จักษ์ ให้ข้อมูลถึงแนวนโยบายและแนวทางการดำเนินงานการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง ของกระทรวง อว. ว่า ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ให้ความสนใจกับหลักปรัชญาเศรษกิจพอเพียงเป็นอย่างมาก โดยมีนโยบายให้ก่อตั้งสถาบันวิจัยด้านเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับผม มองว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจใน "แก่น" หรือ " กระพี้" มากกว่าเปลือก ต้องลงมือปฏิบัติมากกว่าการท่องจำ รัฐบาลมีการเปลี่ยนผ่านตลอดแต่ อปท. จะเป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนการนำแนวคิดดังกล่าวไปปฏิบัติจริงในระดับชุมชน ท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ การทำงาน "โครงการวิจัยนโยบายและยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และศาสตร์ของพระราชาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและประโยชน์สุข" จึงถือเป็นการทำงานที่ภาคนโยบายได้ทำงานด้านการพัฒนาบนฐานการวิจัยมากขึ้น ทั้งนี้โจทย์สำคัญคือ "ต้องทำให้คนเข้าใจแนวคิดนี้มากกว่าการท่องจำ เข้าใจว่าเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เรื่องแค่การเกษตร เป็นแนวคิดที่ใช้ได้กับผู้คนทุกอาชีพ"
ด้าน ศ.ดร.อภิชัย พันธเสน นักวิจัยผู้ประสานงานโครงการดังกล่าว เปิดเผยข้อมูลของการจัดงานครั้งนี้ว่า มีขึ้นเพื่อให้ประชาชนในวงกว้างเกิดความตระหนักรู้เรื่องหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เนื่องจากภายหลังสถานการณ์โควิด 19 ได้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า การพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจมากขึ้นจึงเป็นเป้าหมายสำคัญของวิถีเศรษฐกิจแบบใหม่ ที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศจากภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆ ได้ อีกทั้งเป็นการสานเครือข่าย อปท. ที่บริหารงานด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายในโครงการวิจัย” นโยบายและยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และศาสตร์ของพระราชาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและประโยชน์สุข ระยะที่ 2” ที่ได้รับการสนับสนุนจาก วช. และ สกสว. ซึ่งริเริ่มโครงการในระยะที่ 1 มาตั้งแต่ปี 2559 แล้ว โดยผลการดำเนินการโครงการระยะที่ 2 เบื้องต้น มี อปท. เข้าร่วมเครือข่ายทั้งประเทศรวมทั้งสิ้น 199 แห่ง พร้อมกันนี้ ทีมวิจัยยังได้จัดทำเวทีอิเล็กทรอนิกส์เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ชื่อ "SEP Action" ในรูปแบบ 2 ภาษา (ไทย อังกฤษ) เพื่อเชื่อมโยงเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงทั้งหมดที่มีอยู่ในโลกไซเบอร์เข้าไว้ด้วยกันซึ่งเปิดโอกาสให้ทั้งชาวไทยและต่างชาติเป็นสมาชิก มุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงทั่วโลก
พร้อมกันนี้ ทีมวิจัยยังได้จัดทำเวทีอิเล็กทรอนิกส์เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง
ชื่อ "SEP Action" ในรูปแบบ 2 ภาษา (ไทย อังกฤษ) เพื่อเชื่อมโยงเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงทั้งหมดที่มีอยู่ในโลกไซเบอร์เข้าไว้ด้วยกันซึ่งเปิดโอกาสให้ทั้งชาวไทยและต่างชาติเป็นสมาชิก มุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงทั่วโลก
ต่อมาศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี ราชบัณฑิตกิติมศักดิ์ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในยุคหลังโควิด - 19” ว่า
การพัฒนาประเทศไทยที่ผ่านมา มุ่งเน้นการพัฒนาแบบแยกส่วน มุ่งเน้นด้านเศรษฐกิจ แต่ไม่เชื่อมโยงกับมนุษย์ สังคม สิ่งแวดล้อม คล้ายคลึงกับเรื่อง "การศึกษา" ที่เอา "วิชา" เป็นตัวตั้งเป็นอย่างเดียว
การพัฒนาแบบแยกส่วนจึงนำไปสู่การเสียสมดุลอย่างรุนแรง พร้อมกันนั้นระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมยังสร้างความมั่งคั่งให้คนส่วนน้อย
แต่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวคิดการพัฒนาแบบสายกลางระหว่างคอมมิวนิสต์และทุนนิยม ที่สร้างประเทศเราให้มีภูมิคุ้มกันได้ แม้ในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด 19 เพราะทำให้เราพึ่งพาตนเองได้ หลังจากนี้จึงต้องมองทุกอย่างแบบองค์รวมและบูรณาการการทำงานร่วมกัน
นอกจากนี้ในภายในงานดังกล่าวยังมีการเสวนาเพื่อสร้างเครือข่ายขับเคลื่อนการทำงานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับ อปท. ทั้งในส่วนของเทศบาลเมือง เทศบาลตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เพื่อสรุปเรียนแนวทางการทำงานที่มีศักยภาพร่วมกัน