ถือเป็นการกลับมาร่วมงานกับ หม่อมน้อย-หม่อมหลวง พันธุ์เทวนพ เทวกุล อีกครั้งหลังจากครั้งแรกที่เข้าวงการมาใหม่ๆจากภาพยนตร์ “อันดากับฟ้าใส” เกือบ 20 ปี สำหรับพระเอกฝีมือคุณภาพเยี่ยม ชาคริต แย้มนาม ใบนท“ชนะชล สุพรรณภูมิ” นักธุรกิจหนุ่ม CEO ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่โต ในภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เรื่อง“แม่เบี้ย” ของค่าย สหมงคล ฟิล์ม ร่วมด้วยนักแสดงอาทิ แม็กกี้- อาภา ภาวิไล, เพ็ญเพชร เพ็ญกุล และ กานต์พิสชา เกตุมณี ในบท “เมขลา” โดยชาคริตเผยว่า
“กับหม่อมน้อย เพิ่งมาร่วมกันก็อีกทีก็เรื่อง“แม่เบี้ย” ครั้งแรกติดต่อมาเราก็ไม่รู้ด้วยว่าจะเล่นเรื่องอะไร คือนั่งเมาท์ๆ เรื่องแกอยู่ คิดถึง แซวเล่นบ่อยอยู่แล้ว จริงๆ เป็นปีที่ไม่ได้คุยกับหม่อมเลย แกก็โทรเข้ามาพอดี หลอนเลย “ว่างมั้ย พรุ่งนี้เข้ามาหาหน่อย” ไม่น่าเชื่อว่าว่างพอดี ปกติมีงานทุกวัน ก็ไปหาแกที่บ้าน ก็มีหม่อม มีผู้ช่วยฯ เค้าก็เล่าๆ เรื่องให้ฟัง เราก็บอกว่าเดี๋ยวก่อนหม่อม อันนี้บังคับใช่มั้ย หม่อมก็บอกว่า ฉันไม่ได้บังคับ แต่ฉันขอ เพราะว่าตั้งแต่ฉันรู้จักแกมา ฉันเป็นพ่อแกมา ฉันเคยขออะไรแกมั้ย งั้นก็ขอบทมาก่อนแล้วกัน แต่พอขึ้นไปข้างบนบ้านหม่อม โอ้ว... ทั้งนางเอก ทั้งฮัท นักแสดงอื่นๆ อยู่กันพร้อมเลย เค้าซ้อมกันมาหลายเดือนแล้ว หม่อมก็ให้ผู้ช่วยโทรหาผู้จัดการผมเลย และด้วยพลังของหม่อม ผมก็ได้มาอยู่ในกองนี้ (หัวเราะ)
ในเรื่องผมรับบทเป็น “ชนะชล สุพรรณภูมิ” เป็นนักธุรกิจหนุ่ม เป็น CEO ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่โต แต่ก็ไม่ใช่คนที่จะตัดสินใจอะไรเลยทีเดียว จะมี อาดิเรก (เพ็ญเพชร เพ็ญกุล) ที่ช่วยชีวิตเค้าไว้ในตอนเด็กๆ ที่เค้าจมน้ำเกือบตาย จึงได้มาอยู่ที่บ้านสุพรรณภูมิ เขาเลยมีภูมิหลังที่กำลังตามหาอยู่ว่าจริงๆแล้วเค้าเป็นใคร เพราะว่าเค้ารู้แค่ว่ามีคู่สามีภรรยามหาเศรษฐีเก็บเค้ามาเลี้ยง แต่ก็รักเหมือนลูกจริงๆ โชคดีมากๆ ที่ได้ความรักที่อบอุ่น ได้ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ในทางกลับกัน มันเหมือนไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ ทุกอย่างมันเลยดูปลอมสำหรับชนะชลไปหมด และเหมือนกับเค้าฝันเห็นอะไรอยู่ ผูกพันกับอะไรอยู่ซ้ำๆ แล้วก็มีความผูกพันอยู่กับบ้านเรือนไทยหลังหนึ่ง ซึ่งไม่รู้ว่าด้วยเหตุผลอะไร สิ่งที่มันเหมือนจริงสำหรับเค้า แต่ไม่สามารถจับต้องได้ เป็นสิ่งที่หาคำตอบให้ไม่ได้ จนกระทั่งเค้าได้มาที่บ้านเรือนไทยหลังนั้นซึ่งเป็นบ้านของ “เมขลา” (กานต์พิสชา เกตุมณี) และหลงใหลกับบ้านเรือนไทย ที่มันเหมือนกับดึงเขากลับไปในยุคพีเรียด กับภาพผู้หญิงคนหนึ่งคือเมขลานี่แหละที่ตอนแรกเห็น ต้องเข้าฉากกับงู เราได้เล่นหนังผี หรือเล่นมาในหลายๆบทบาท ก็รู้ว่าการแสดงอาการอึดอัดต้องทำอย่างไร ปวดหัวที่สุดก็คือ การต้องเห็นงูพร้อมกันด้วย แต่ในเวอร์ชั่นนี้ มันเป็นจิตใต้สำนึกของแต่ละคน เพราะฉะนั้นไซส์ของงูจะไม่เท่ากัน งูจะสื่อถึงสิ่งที่แพ้ภัยตัวเอง อยากรู้ ดันทุรัง และนำความหายนะมาให้กับตัวเองและคนรอบข้าง บางครั้งอยู่เฉยๆ ชีวิตก็สบาย ไม่ต้องไปไขว่คว้าอะไรเพิ่มเติม แต่เหมือนกับเรามีปมเล็กๆ ที่ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ ก็เหมือนรนหาที่นะตัวชนะชล
เสน่ห์ของแม่เบี้ยเวอร์ชั่นนี้ถ้าบอกว่าเป็นหนัง หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล ผมเชื่อว่าเค้าจะมีแฟนคลับของเค้าอยู่แล้ว สำหรับคนที่เข้าใจในเรื่องการทำหนัง ของภาพ กับการเล่าเรื่องของภาพยนตร์ มันคือเป็นเรื่องของบทกับนักแสดงจริงๆ คือไม่ได้เน้นหวือหวาหรือเทคนิคอะไรมากมาย แต่พอเป็นเรื่องนี้ มี CG เข้ามาเกี่ยวข้องเยอะอยู่ ฉากต่างๆไม่ต้องบอกของแกนี่สวยแน่นอนอยู่แล้ว และจะมีงู เดี๋ยวเราไปลุ้นกันว่าออกมาเป็น CG แล้วมันจะเป็นยังไง ผมคิดว่ามันเป็นอะไรที่แปลกใหม่สำหรับตัวพี่น้อยเอง ซึ่งผมก็รู้สึกแปลกใหม่ที่ได้มาร่วมทำงานแนวนี้กับพี่น้อย ส่วนเรื่องของการเล่าเรื่อง ด้วยแก่นของความเป็นมนุษย์ ความคิดอันลึกซึ้ง ความคิดอันดิบ อะไรหลายๆ อย่าง ผมคิดว่าพี่น้อยเค้าไม่ตกเลยทีเดียว เค้าเก็บได้ทุกอณู ถ้าจะบอกว่าเวอร์ชั้นนี้ใกล้เคียงกับบทประพันธ์ของ อาจารย์วาณิช ผมคิดว่าน่าจะใกล้เคียงที่สุด แต่มันก็ต้องมีการดัดแปลงเพื่อมาเอนเตอร์เทนในเชิงภาพยนตร์เพื่อให้สนุก เพราะการจะทำภาพยนตร์ให้ตรงกับหนังสือ ผมว่าให้ตายยังไงมันก็สู้หนังสือไม่ได้ แต่นี่คือการดัดแปลงให้มันจบได้ภายในสองชั่วโมง แต่เชื่อว่าการเล่าเรื่องไม่ใช่แค่เพียงหนังอีโรติกหรือหนังขายเซ็กส์ที่ทุกคนเคยเข้าใจ “แม่เบี้ย” มา ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องของสันดาน หรือความรู้สึก เบื้องลึกของมนุษย์มากกว่า ที่มันจะนำไปสู่ความหายนะต่างๆ ของชีวิต เพราะฉะนั้นมันค่อนข้างลึกพอสมควร ลองมาให้โอกาสและลองมาดูกันคงได้ข้อคิดเยอะเลยทีเดียวครับ”