ก้าวสู่ความหวังอีกขั้น วช.เตรียมทดลองวัคซีน โควิด-19 ในลิง หากสำเร็จนำทดลองต่อในคน



หลังจากประเทศไทยได้ทดลองวัคซีน โควิด-19 ในหนูได้ผล วช.เตรียมทดลองต่อในลิง หากสำเร็จก็จะทดลองต่อกับคนต่อไป


ศาสตราจารย์ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์  ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เผยว่า เนื่องจากวัคซีนเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ ไวรัสโควิด-19เป็นเชื้อใหม่ที่คนทั่วโลกยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ดังนั้นวิธีที่จะป้องกันไม่ให้การติดเชื้อ มีอยู่วิธีเดียวคือต้องมีวัคซีนขึ้นมา ดังนั้นทั่วโลกจึงต้องเร่งพัฒนาให้ได้วัคซีน ปกติถ้ามีโรคใหม่เข้ามาจะต้องใช้เวลาประมาณ 10 ปี จึงจะมีวัคซีนได้ แต่ในกรณีของโควิด-19 เราไม่สามารถรอถึง 10 ปีได้ เราจำเป็นต้องเร่งกระบวนการทั้งหมดเข้ามา ดังนั้น การมีส่วนร่วมทั้งในระดับประเทศและระดับโลก เพื่อที่จะทำให้มีวัคซีนขึ้นได้ ซึ่งเป้าหมายหลักของประเทศตามนโยบายที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายไว้ว่าประเทศไทยต้องมีวัคซีนอย่างรวดเร็ว และให้ประชากรของไทยได้รับวัคซีนระดับต้นๆของโลก เราจึงวาง 3 แนวทางที่จะทำงานควบคู่กันไป 1.สนับสนุนวัคซีนในประเทศให้พัฒนาขึ้น 2.ร่วมมือกับนานาประเทศในการวิจัย 3.เตรียมพร้อมรับในกรณีที่ประเทศอื่นๆมีวัคซีนที่ดี เราก็ต้องสามารถนำมาใช้ได้ ดังนั้นวช.ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรม ด้านการแพทย์ การวิจัย และพัฒนา ของประเทศ เราทำหน้าที่ในการเจรจาความร่วมมือและต่อยอด ร่วมทำวิจัยกับประเทศต่างๆซึ่งตอนนี้ก็ทำกับสหรัฐอเมริกา แคนาดา จีน พร้อมทั้งพัฒนาวัคซีนในประเทศไปด้วย ทั้ง 3 แนวทางหากแนวทางใดแนวทางหนึ่งประสบความสำเร็จก่อน เราก็จะไปใช้แนวทางนั้น โดยเน้นวัตถุประสงค์หลักคือให้ประชาชนคนไทยมีวัคซีนใช้โดยเร็ว
สำหรับประเทศไทยวช.ร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ร่วมกันสนับสนุนวัคซีน 5 ชนิด ซึ่งวัคซีนในโลกนี้มีประมาฯ 150-200 แบบ วัคซีนแต่ละชนิดใช้รูปแบบและวิธีการแตกต่างกัน สำหรับ 5 วิธีที่ไทยใช้อยู่มีตั้งแต่การใช้เชื้อตัวตาย การใช้บางส่วน รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เลย เช่น DNAวัคซีน และ MRNAวัคซีน ขณะนี้มีความก้าวหน้าที่ทำได้รวดเร็ว 2 เทคโนโลยี คือ1. DNAวัคซีน มีการประเมินเบื้องต้นในหนู ผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ 2. MRNAวัคซีน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มากๆ ข้อดีคือสามารถใช้ได้ในคนจำนวนมากๆ และใช้ปริมาณไม่มาก ขณะนี้ผลของ MRNAวัคซีน ที่ดำเนินการโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ผลเบื้องต้นสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในหนูได้ โดยการเจาะเลือดไปทดลองว่าสามารถยับยั้งเชื้อได้ โดยมีปริมาณสารยับยั้ง 1 ต่อ 3,000 แปลว่า เมื่อเจือจางไปแล้ว 3,000 เท่า ก็ยังสามารถมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อได้ ผลเป็นที่น่าพอใจ ขั้นต่อไปจะนำไปทดลอบในสัตว์ใหญ่ที่มีลักษณะคล้ายมนุษย์ คือลิง โดยฉีด MRNAวัคซีนเข้าไปในลิง ดูว่าลิงจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อได้และทดสอบว่าหากลิงติดเชื้อจะสามารถป้องกันเชื้อได้หรือไม่ โดยการทดสอบในลิงจะใช้งบประมาณวงเงิน 60 ล้านบาท ใช้เวลาในการทดลอง 3-6 เดือน ถ้าการทดสอบในลิงสำเร็จขั้นต่อไปก็จะทดสอบในคน ซึ่งการทดสอบในคนจะแบ่งเป็น3 ระยะ ระยะที่1.ระยะฉีดในจำนวนคนที่ไม่มากแล้วดูว่าฉีดเข้าไปแล้วปลอดภัยหรือเปล่า ระยะที่2. คือสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และหากผลออกมาดีก็จะเข้าสู่ระยะที่ 3.คือการประเมินผล  และในวันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม 2563 นี้ วช.ร่วมกับเครือข่ายจะดำเนินการเอาวัคซีน MRNAไปทดสอบในลิงที่เราเตรียมพร้อมทดสอบในศูนย์วิจัยไพเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี  ซึ่งการดำเนินงานต่างๆเหล่านี้ด้วยความสำคัญเร่งด่วนของโควิด-19 ทำให้เราสามารถทดสอบวัคซีน ในหลายๆรูปแบบไปพร้อมๆกันหากผลทดสอบออกมาดีเราได้เจรจาบริษัทผลิตวัคซีนต้นแบบซึ่งเป็นบริษัทของคนไทยไว้เรียบร้อยแล้ว บริษัทและหน่วยงานผลิตวัคซีนของไทยก็จะสามารถผลิตวัคซีนได้ทันที หากสามารถผลิตวัคซีนของเราได้ก็จะถือว่าเป็นความมั่นคงด้านสุขภาพ ด้านสาธารณะสุขของประเทศ ผอ.วช.กล่าว