ปัจจุบัน โทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือสื่อสารที่แทบทุกคน ในทุกวิชาชีพต่างก็มีติดตัว เช่นเดียวกับ “ไลน์” ซึ่งเป็นโปรแกรมที่โทรศัพท์ทุกเครื่อง และผู้ใช้ทุกคนต่างก็ต้องลงติดไว้ประจำเครื่อง เพราะเป็นโปรแกรมที่ใช้สื่อสาร พูดคุย ส่งภาพ ส่งข้อความได้โดยไม่ต้องเสียเงิน ส่วนว่าใครจะนำเครื่องมือทั้งสองอย่างนี้ไปใช้ประโยชน์ในทางใดก็สุดแล้วแต่ว่า แต่ละคนจะเห็นความสำคัญของการนำเครื่องมือสื่อสารพื้น ๆ เหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันได้อย่างไร
เป็นเวลา 3 ปีมาแล้ว ที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดลำปาง ได้ใช้โปรแกรมไลน์มาเป็นเครื่องมือช่วยในการอบรมเกษตรกรในโครงการ “เกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง 210,000 ราย” ซึ่งเป็นโครงการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ริเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในพื้นที่จังหวัดลำปาง ทางสหกรณ์การเกษตรอำเภอสบปราบ จำกัด ได้เป็นแกนกลางในการประสานงาน และคัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมฝึกอบรม จำนวน 100 คน
นายสนิท หิรัญพิพัฒน์พงศ์ นักวิชาการสหกรณ์ชำนาญการ กลุ่มจัดตั้งและส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดลำปาง ผู้ที่คลุกคลีกับโครงการนี้มาตั้งแต่ปีแรกเล่าให้ฟังว่า โปรแกรมไลน์ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในปี 2560 โดยตั้งชื่อกลุ่มว่า “ทฤษฎีใหม่ สบปราบ 2560” เพื่อให้เกษตรกรในโครงการเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม ระยะแรกไม่ค่อยมีใครให้เห็นความสำคัญมากนัก แต่เมื่อทำไปได้ระยะหนึ่งเกษตรกรก็เริ่มหันมาให้ความสนใจ จากเป้าหมายที่ตั้งไว้เพื่อแจ้งข่าวสาร วันเวลาฝึกอบรม การประชุม การนัดตรวจสอบแปลง ต่อมาเมื่อเกษตรกรที่มีปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินงานตามโครงการ หรือปัญหาผลผลิตเป็นโรคต่าง ๆ เขาก็จะโพสต์ถามในไลน์กลุ่ม และมีการเชิญให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดหน่วยงานนั้นเข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่มเพื่อตอบปัญหาให้เกษตรกร ส่วนราชการจึงเริ่มเห็นความสำคัญและใช้ประโยชน์จากไลน์กลุ่ม มาภายหลัง หน่วยงานใดต้องการแจกพันธุ์พืช สัตว์ หรือปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ก็จะมาโพสต์ข้อความลงในไลน์กลุ่มเพื่อสื่อสารให้สมาชิกได้รับทราบ เพราะประหยัดและสะดวกกว่าการติดต่อทางโทรศัพท์ หรือการลงประสานงานกับเกษตรกรในพื้นที่ ระยะเริ่มแรกกลุ่ม “ทฤษฎีใหม่สบปราบ 2560” มีสมาชิก 73 คน และกลุ่ม “ทฤษฎีใหม่สบปราบ 2561” มีสมาชิก 70 คน
จากความสะดวกของการใช้ไลน์ในการประสานงาน และให้ความรู้แก่เกษตรกร ในปี 2562 กลุ่ม “ทฤษฎีใหม่ สบปราบ 2562” มีสมาชิกเพิ่มขึ้นถึง 111 คน จึงได้กำหนดเป็นระเบียบสำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ อำเภอสบปราบ ทุกคน จะต้องมาสมัครเป็นสมาชิกไลน์กลุ่ม พร้อมทั้งกำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์จากไลน์กลุ่มในเรื่องการแจ้งข่าวสารในหลาย ๆ ด้าน เช่น หากมีปัญหาเกี่ยวกับปัจจัยการผลิตที่ได้รับ ให้ถามปัญหาในกลุ่มไลน์ จะมีนักวิชาการหน่วยงานผู้รับผิดชอบด้านปัจจัยการผลิต เป็นผู้ตอบปัญหา หรือหากจำเป็นจะต้องให้เจ้าหน้าที่ลงไปช่วยดูในพื้นที่ ก็เพียงแต่ปักหมุดที่ตั้งของเกษตรกร ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับเจ้าหน้าที่ ด้านตลาด สหกรณ์การเกษตรสบปราบ จำกัด, ตลาดชุมชน, ตลาดประชารัฐ/ตลาดวีมาร์เก็ต มีปัญหาด้านตลาด ส่งภาพสินค้าผ่านกลุ่มไลน์ เกษตรกรมีผลผลิตจะขายก็จะโพสต์ภาพของสินค้า ผลผลิต และสถานที่จะขายลงในไลน์ บางครั้งก็มีผู้ซื้อไปรับสินค้าถึงที่บ้าน การตรวจเยี่ยมจากหน่วยงานพี่เลี้ยง สำนักงานสหกรณ์จังหวัดลำปาง ร่วมกับ สหกรณ์การเกษตรสบปราบ จำกัด หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (5 ประสาน) กำหนดวันเวลาลงพื้นที่แปลงเกษตรกร และแจ้งให้ทราบในกลุ่มไลน์ ฯ
จากมุมมองของส่วนราชการ “ไลน์” ถูกนำมาใช้อำนวยความสะดวกในการพัฒนาเกษตรกรค่อนข้างกว้างขวาง แต่ในสายตาของเกษตรกรที่ร่วมโครงการ นอกจากการรับข่าวสารการประสานงานจากส่วนราชการแล้ว เขาได้ประโยชน์อะไรบ้างจากการเข้าร่วมในไลน์กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่
อรพิน คำแสน และ ฟองจันทร์ สุวรรณศรี เกษตรกรที่เป็นสมาชิกกลุ่ม “ทฤษฎีใหม่ สบปราบ 2560” มีความเห็นพ้องกันว่า นอกจากความสะดวกในการติดต่อประสานงานจากส่วนราชการในการอบรมตามโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ สิ่งที่ได้จากไลน์กลุ่มคือความรู้ในด้านต่าง ๆ ที่สมาชิกนำมาโพสต์ บางครั้งก็เป็นความรู้ทั่วไป การป้องกันโรคระบาดพืช สัตว์ ความรู้เกี่ยวกับโรคระบาดและการป้องกันตัวจาก โควิด-19 บางครั้งก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับการรับสมัครงานของบุตรหลาน ความรู้เกี่ยวกับการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เช่น การทำไข่เค็ม ที่สำคัญคือ ไลน์เป็นช่องทางในการขายสินค้าเกษตรที่ผลิต และเหลือจากการบริโภคในครัวเรือน เช่น พืชผัก สวนครัว ผักพื้นบ้าน ไข่ไก่ ปลา ฯ เกษตรกรจะโพสต์ภาพผลผลิตและสถานที่ขายลงในไลน์กลุ่ม มีสมาชิกบางรายสนใจเข้าไปซื้อสินค้าถึงที่บ้านเกษตรกรก็มี แต่ละครั้งสามารถขายสินค้าได้ถึง 300- 500 บาท จนถึงปัจจุบันไลน์กลุ่ม “ทฤษฎีใหม่ สบปราบ 2560” ก็ยังเปิดใช้และมีข่าวสารที่เป็นประโยชน์จากสมาชิกส่งมาลงตลอด
ทางด้าน สมคิด อุ่นแก้ว ผู้จัดการ สหกรณ์การเกษตรสบปราบ จำกัด กล่าวว่า ในโครงการนี้ส่วนราชการเป็นผู้ดำเนินงานหลัก สหกรณ์เป็นเพียงหน่วยงานสนับสนุนเท่านั้น เช่น การอำนวยความสะดวกในการจัดประชุม หรือแจกผลผลิต ณ ที่ทำการสหกรณ์ สหกรณ์การเกษตรสบปราบจึงไม่ได้ประเมินผลสำเร็จของโครงการอย่างเป็นทางการ แต่เท่าที่ได้สัมผัสกับสมาชิกที่ร่วมโครงการ มีการนำแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่มาใช้ค่อนข้างชัดเจน เราได้เข้าไปช่วยด้านตลาด เช่น ในกรณีของการเพาะปลูก เกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่ปลูกข้าว เมื่อได้ผลผลิตก็นำมาขายให้สหกรณ์ ส่วนพืชผัก จะปลูกเล็ก ๆ น้อย ๆ เพียงพอไว้ใช้สำหรับการบริโภคในครัวเรือนเท่านั้น แต่เมื่อเข้าร่วมโครงการได้เรียนรู้แนวคิดทฤษฎีใหม่ เกษตรกรมีการจัดระบบ ระเบียบการเพาะปลูกพืชผักในครัวเรือนมากขึ้น มีการนำผลผลิตที่เหลือจากการบริโภคในครัวเรือนออกมาจำหน่ายในตลาดชุมชนเพื่อสร้างรายได้ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่เคยมีมาก่อน ส่วนกรณีของการนำไลน์มาใช้ นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวก เป็นแหล่งความรู้ให้เกษตรกร ยังเป็นการเพิ่มช่องทางขายสินค้าเกษตรให้กับเกษตรกรอีกด้วย