โรงพยาบาลชุมชนท่ามกลางขุนเขาแห่งจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่เป็นตัวอย่างของความสำเร็จในการทำงานด้านสุขภาวะที่ใช้ระบบเครือข่ายหลายภาคส่วนราชการอย่างแข็งขันและมีความรับผิดชอบ จนได้รับการรับรองเครือข่ายระบบสุขภาพระดับอำเภอหรือDHSA จากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล(องค์การมหาชน)หรือสรพ.นับเป็นต้นแบบหรือโมเดลของการขับเคลื่อนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างชัดเจน นั่นคือโรงพยาบาลขุนยวม ที่บริหารโดยนายแพทย์หนุ่มจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่เป็นคนแม่ฮ่องสอนโดยกำเนิดนั่นคือนายแพทย์พิทยา หล้าวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขุนยวม แห่งนี้ ไปดูกันว่าการขับเคลื่อนแบบบูรณาการของชุมชนที่ไปสร้างคุณภาพชีวิตของพวกเขาได้อย่างมีความสุข
นายแพทย์พิทยา หล้าวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขุนยวม เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนงานเครือข่ายระบบสุขภาพระดับอำเภอ จนได้รับการรับรอง DSHA จาก สรพ. นั้น โรงพยาบาลได้มุ่งเน้นมิติของ การส่งเสริมและป้องกัน ลดปัจจัยเสี่ยงภัยสุขภาพเพื่อสร้างสุขภาวะ พชอ.กำหนดประเด็นร่วมที่สำคัญ ไว้9 เรื่อง อาทิ ปี 2560 เริ่มด้วยปัญหาไข้เลือดออก, ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ,ปัญหาการฆ่าตัวตาย ,ปัญหาอนามัยแม่และเด็ก และปัญหาด้านอุบัติเหตุ และในปี 2561 มีการพิจารณา 2 ประเด็นเพิ่มเติม คือ เกษตรปลอดภัย เน้นกิจกรรมอาหารปลอดภัยเป็นหลัก และการบริหารจัดการขยะ ในปี 2562 พิจารณาเพิ่ม 2 ประเด็น คือ การท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี และการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยการแก้ไขประเด็นปัญหาสุขภาพทั้ง 9 เรื่องนี้จะมุ่งเน้นมิติการส่งเสริมป้องกัน ลดปัจจัยเสี่ยงทั้งทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ในแต่ละประเด็นมี กลยุทธ์ในการดำเนินการที่ชัดเจน ตัวอย่างเช่น ปัญหาไข้เลือดออก มีการระดมอัตรากำลังทั้งจากเครือข่ายบริการสุขภาพและภาคีเครือข่ายอื่น เช่น เทศบาล อบต. อสม. ช่วยกันในการบริหารจัดการเพื่อไม่ให้โรคไข้เลือดออกระบาดมากยิ่งขึ้นโดยผ่าน การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการโรคไข้เลือดออก มีการประชุมทุก 3 เดือน ทำให้สามารถลดอัตราป่วย และเสียชีวิตได้
สำหรับประเด็นการท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเมืองปอน ได้จัดกิจกรรมการดูแลแบบผสมผสาน เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพกลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น การใช้ธาราบำบัด ในการดูแลรักษากลุ่มผู้ที่ป่วยโรค ข้อเข่าเสื่อมในชุมชนเมืองปอน ในการจัดการอาการปวดจนสามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ ตัวอย่าง ยายป๊าง มโนเลิศ เกิดอุบัติเหตุเดินไม่ได้ ไปไหนต้องนั่งเก้าอี้มีคนช่วยยกคนละข้าง จนมาแช่บ่อน้ำพุร้อนของชุมชน วันละ15 นาที พร้อมทั้งบีบนวดตามหลักการนวดแผนไทย ปรากฏว่าขณะนี้สามารถเดินได้เป็นปกติ จนปัจจุบันก็ยังมาใช้บริการอยู่เรื่อย ๆ และยังมีผู้สูงอายุอีกหลายคนที่มีร่างกายแข็งแรงขึ้น ทางชุมชนได้ให้บริการคนในชุมชน และผู้ที่สัญจรไปมาสามารถเข้ามาใช้บริการได้ ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีชื่อเสียงอีกด้วย
อีกตัวอย่างที่เป็นความร่วมมือจนสำเร็จคือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลห้วยนา มีราษฎรอยู่ 4 หมู่บ้าน จำนวน1,243คนมีปัญหาหลักอยู่ 3 เรื่องคือ สุขภาพจิต ฆ่าตัวตาย เรื่องความดันหรือหลอดเลือดพบว่าตายปีละ 6 คน และโรคถุงลมโป่งพอง เกิดจากการสูบบุหรี่ ความสำเร็จเกิดจากการตั้งข้อตกลงร่วมกัน อาทิ ห้ามขายเหล้าในวันพระหรือวันอาทิตย์ ห้ามเลี้ยงเหล้าในงานศพ ห้ามดื่มเหล้าในวัด ห้ามสูบบุหรี่ในรพ.สต. หรือเวลาไปเยี่ยมผู้ป่วย ผลของความสำเร็จในชุมชนแห่งนี้คือ มีร้านที่ยกเลิกขายเหล้า มีหลังคาเรือนที่ปลอดบุหรี่แล้วจำนวน 50 หลังคาเรือน งดเหล้าเข้าพรรษา และเทศกาลมหาพรต และวันสำคัญอื่นๆ ที่สำคัญทางรพ.สต.ได้จัดหาเครื่องผลิตออกซิเจนให้กับผู้ป่วยถุงลมโป่งพอง ขณะนี้มีอยู่ 4 เครื่อง
นอกจากนี้ยังได้ร่วมกันจัดการกับปัญหาฝุ่นละอองจิ๋ว PM 2.5 ในชุมชนที่มีผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง ด้วยการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน มีนโยบายห้ามเผาป่าเผาขยะเพื่อลดหมอกควันในพื้นที่ และอบต.สนับสนุนงบประมาณในการเฝ้าระวังการเผาป่าในพื้นที่ในชุมชน รพ.สต.ได้รับการสนับสนุนเครื่องวัดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ เพื่อทราบสถานการณ์และประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนทราบ รวมถึงการสนับสนุนเครื่องมือพ่นละอองน้ำให้กับบ้านของผู้ป่วยเพื่อจัดการลดฝุ่นละอองในอากาศ โดยปล่อยละอองน้ำบนหลังคาเมื่อมีหมอกควันมากด้วย
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเปิดเผยว่าการที่โรงพยาบาลได้รับการรับรองมาตรฐานและผ่าน HA มาตลอด 3 ปีนั้น เกิดจากชุมชนได้มีส่วนร่วมกันทำงาน มีภาคี เครือข่าย และจะทำไปเรื่อยๆเพื่อสุขภาวะของคนในชุมชน สิ่งที่คิดไว้สำหรับโรงพยาบาล คือระบบการส่งต่อ เราไม่มีแพทย์เฉพาะทาง และการเดินทางไปเชียงใหม่ใช้เวลา 7 ชั่วโมง จึงได้ทำข้อตกลงกับทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และตำรวจตระเวนชายแดนในข้อปัญหาดังกล่าว
ด้านนพ.กิตตินันท์ อนรรฆมณี ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) เปิดเผยว่า สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล(องค์กรมหาชน) หรือ สรพ. มีบทบาทส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพและให้การรับรองคุณภาพสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศไทย ตามมาตรฐาน HA (Healthcare Accreditation) โดยมีรูปแบบการประเมินรับรองที่หลากหลาย อาทิ การรับรองขั้นก้าวหน้า, การรับรองเฉพาะโรค , การรับรองเครือข่ายบริการสุขภาพระดับจังหวัด และการรับรองเครือข่ายระบบสุขภาพระดับอำเภอ
โรงพยาบาลชุมชนขุนยวมถือว่าได้ผ่านคุณภาพมาตรฐาน HA ที่ผ่านการรับรองเครือข่ายระบบบริการสุขภาพระดับอำเภอ (DHSA) ในพื้นที่โรงพยาบาลขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนโดยเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของภาคส่วนต่าง ๆ ในชุมชน อาทิ โรงพยาบาล หน่วยงานราชการ หน่วยงานส่วนท้องถิ่น ประชาชนในชุมชน ที่มาร่วมกันแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยการรับรองเครือข่ายระบบสุขภาพระดับอำเภอ เป็นหนึ่งในระบบการประเมินและรับรองที่ สรพ. จัดทำขึ้นและเป็นเครื่องมือสำคัญที่ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการสร้างสุขภาวะในชุมชน พัฒนาคุณภาพงานบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ และเกื้อหนุนการเชื่อมโยงถักทอกระบวนงานในระหว่างสถานพยาบาลให้เกิดการบริการไร้รอยต่อ และยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันจ นเกิดเป็นวัฒนธรรมการเรียนรู้ นำมาสู่การได้รับบริการที่ดี และความสามารถที่จะดูแลตนเองได้ ปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่ผ่านการรับรองเครือข่ายระบบสุขภาพระดับอำเภอ (DHSA) จำนวน 17 แห่ง ทั้งนี้โรงพยาบาลขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้รับการรับรองเครือข่ายระบบสุขภาพระดับอำเภอ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 โดยมีอายุการรับรอง 3 ปี