ปัญหามลพิษทางอากาศของประเทศไทยกำลังเป็นปัญหาที่มีความสำคัญระดับชาติ และสถานการณ์ ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย ซึ่งได้ทวีความรุนแรงขึ้นอยู่ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงส่งผลกระทบเชิงลบในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ร่วมกับเครือข่ายนักวิจัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ปัญหาค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน จึงพร้อมหนุน 7 มาตรการเผชิญเหตุเร่งผลักดันการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน ดังนี้
1. มาตรการลดฝุ่นจากแหล่งกำเนิดทุกจุดอย่างเป็นระบบ ใช้ผลการศึกษาวิจัยสาเหตุการสะสมของควันและฝุ่นละอองในอากาศ จากการใช้เชื้อเพลิงในภาคคมนาคม อุตสาหกรรม และการเผาในพื้นที่เกษตรและพื้นที่ป่าในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทยและของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อหยุดการเกิดฝุ่นจากแหล่งกำเนิดทุกจุดทุกพื้นที่ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
2. มาตรการระยะสั้นเร่งด่วนเพื่อลดฝุ่นจากการคมนาคม
- ลดการใช้รถส่วนบุคคล และรถขนส่งที่เกิดฝุ่น PM 2.5 ได้สูง โดยให้สามารถทำงานจากบ้าน (Work from Home) เพื่อลดความเสี่ยงในช่วงฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษาใช้บริการขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้าและระบบขนส่งมวลชน และเพิ่มรถเมล์ปลอดควัน เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลให้มากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติ
- มาตรการ Park & Ride (จอดและจร) ด้วยบริการรถรับ-ส่ง จากจุดจอดรถชานเมืองเข้าถึง ตัวเมืองโดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายการเดินทางจากจุดจอดรถแล้วจร
- เหลื่อมเวลาการทำงานของหน่วยงานราชการ เพื่อลดความหนาแน่นของการจราจร และ การเกิดฝุ่นในช่วงเวลาเร่งด่วน (Peak Load) โดย อว. จะเหลื่อมเวลาทำงานของหน่วยงานของกระทรวง และมหาวิทยาลัยทุกแห่งเป็นการนำร่อง
3. มาตรการลดและหยุดการเผาในที่โล่ง และบริหารจัดการควบคุมการเผาผ่านระบบสารสนเทศ (IT Management) ให้มีการลงทะเบียนเพื่อจัดกลุ่มและควบคุมช่วงเวลา/อัตราการเผา/ทิศทางลม เพื่อลด ความหนาแน่นของฝุ่นควันจากการเผา (Peak Load)
4. มาตรการเผยแพร่ข้อมูลค่าฝุ่น PM2.5 แบบทันท่วงที (Real-time) ที่เข้าใจง่าย เพื่อให้ประชาชนสามารถนำข้อมูลไปใช้ประกอบการตัดสินใจในการดำเนินกิจกรรมในแต่ละวันได้ และพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จะแจ้งรายงานผลและคำแนะนำประจำวันจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง และเร่งติดตั้งเครื่องวัดปริมาณฝุ่น DustBoy เพิ่มขึ้นให้มีจุดวัด 8,000 จุดทั่วประเทศ
5. มาตรการลดผลกระทบสุขภาพของประชาชน
- เฝ้าระวัง แจ้งเตือน และรณรงค์ให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยที่ป้องกันฝุ่นได้ เพื่อป้องกัน ฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน รวมทั้งการแจกหน้ากากอนามัยให้แก่ประชาชน
- ลดค่าใช้จ่ายของอุปกรณ์วัดคุณภาพอากาศ อุปกรณ์ความปลอดภัย หน้ากากอนามัย โดย ลดการเก็บภาษีที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงอุปกรณ์ ในราคาที่เหมาะสมและได้มาตรฐานสำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยง
- จัดพื้นที่ปลอดภัย (Safe Zone) สำหรับประชากรกลุ่มเสี่ยงโดยติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ ที่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะในสถานศึกษา โรงพยาบาล และ พื้นที่บริการสาธารณะ เป็นต้น
6. มาตรการขับเคลื่อนการวิจัยและใช้ประโยชน์จากการวิจัยอย่างเป็นรูปธรรม
- สนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม และขยายผลไปสู่การใช้ประโยชน์โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาเซ็นเซอร์วัดอนุภาคฝุ่น ในอากาศแบบเรียลไทม์ การพัฒนาและใช้เครื่องลดฝุ่นในรูปแบบต่าง ๆ และ การประยุกต์ใช้ในเครือข่ายนานาชาติและบริหารความเสี่ยงต่อสุขภาพในเมืองอัจฉริยะ
- กิจกรรมตอบโจทย์ประเด็นท้าทาย (Grand Challenge) ทำโดยวิจัย นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ด้วยวิธีให้ทุนและการประกวดนวัตกรรมการตรวจวัดและการลดฝุ่น (ประกวดกิจกรรม X-PRIZE) - ขยายผลโครงการประเทศไทยไร้หมอกควัน ระยะที่ 3
- การพัฒนาระบบข้อมูลคุณภาพอากาศแบบเบ็ดเสร็จ (NRCT Air Quality Information Center: NRCT AQIC)
- การนำวิจัยนวัตกรรมไปจัดการกับวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กจากการเผา
7. มาตรการระยะยาว
- การแก้กฎหมาย ให้มี Thailand Environment Protection Agency ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการแก้ปัญหาเมื่อเกิดภาวะวิกฤติ - การแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน โดยการร่วมหารือและประเมินร่วมกันทุกปีเพื่อแก้ปัญหา
- การส่งเสริมอาชีพใหม่ที่ยั่งยืนและไม่ปล่อยมลภาวะสู่สิ่งแวดล้อม - การจัดตั้งเครือข่ายบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤตหมอกควัน
- การเพิ่มและฟื้นฟูพื้นที่ป่าและพืชคลุมดิน รวมทั้งการทำฝายชะลอน้ำ เพื่อให้มีน้ำใช้ในการเกษตร
- การส่งเสริมและควบคุมพัฒนาผังเมือง เพื่อนำไปสู่เมืองรถน้อยและเมืองไร้ควัน
อว. คาดว่า หากใช้ทั้ง 7 มาตรการดังกล่าวแล้วจะบรรเทาความรุนแรงของปัญหาจากปริมาณฝุ่น PM2.5 ได้อย่างเป็นรูปธรรม