พล.อ. ประวิตร เร่งรัด บจธ. ช่วยผู้ไร้ที่ดินทำกิน 3 ปี ช่วยเกษตรกรได้ 2,631 ราย เนื้อที่ 3,151 ไร่



 

รัฐบาลโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เล็งเห็นความสำคัญในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ในเรื่องที่ดินทำกินมาโดยตลอด ซึ่งได้ดำเนินการผ่านโครงการของ สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. ให้ดำเนินภารกิจกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย การป้องกันการสูญเสียสิทธิในที่ดินจากการจำนอง ขายฝาก ตลอดจนส่งเสริมการใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยมีรองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นผู้กำกับดูแล 

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม 2563 สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. เปิดรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชน  เกี่ยวกับร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการเพื่อการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรม (องค์การมหาชน) พ.ศ. ..... ณ โรงแรมเซ็นทาราและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร  โดยมี พล.ต.อ. เฉลิมเกียรติ  ศรีวรขาน คณะทำงานด้านกฎหมายการสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชน รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร  วงษ์สุวรรณ) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม  มีภาคประชาชนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ดังกล่าว เป็นจำนวนกว่า 200 คน

นายกุลพัชร  ภูมิใจอวด รองผู้อำนวยการ ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. เปิดเผยว่า ปัญหาที่ดินทำกิน เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญและถือเป็นวาระเร่งด่วนแห่งชาติ ที่ผ่านมามีขบวนการเคลื่อนไหวของพี่น้องเกษตรกร ชาวนาชาวไร่จำนวนมากที่ประสบปัญหาขาดแคลนที่ดินทำกิน โดยเฉพาะการสูญเสียกรรมสิทธิ์ที่ดินให้นายทุน ขณะเดียวกันก็มีที่ดินของเกษตรกรอีกเป็นจำนวนมากที่กำลังจะหลุดจำนองจากธนาคารของรัฐโดยที่ยังไม่มีหน่วยงานใดยื่นมือเข้าไปช่วยแก้ไข ซึ่งจะซ้ำเติมปัญหาการไร้ที่ดินทำกินให้ขยายวงกว้างขึ้น ปัญหาที่ดินกลับยิ่งทวีความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น พลเอก ประวิตร  วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลงานของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ได้ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาผู้ไร้ที่ดินทำกิน จึงได้กำชับให้ บจธ. เร่งรัดดำเนินการจัดตั้งธนาคารที่ดินเพื่อจะได้เป็นเป็นที่พึ่งและแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้ไร้ที่ดินทำกิน 

ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา บจธ. ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรและผู้ไร้ที่ดินทำกินทั้งในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่  1) โครงการต้นแบบการบริหารจัดการที่ดินแบบครบวงจร เป็นการแก้ไขปัญหาที่ดินให้แก่สถาบันเกษตรกร โดยให้เกษตรกรที่ไร้ที่ดินทำกินรวมตัวเป็นกลุ่ม หรือสถาบัน เช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชน แล้วยื่นเรื่องขอรับความช่วยเหลือ  บจธ. จะพิจารณาจัดซื้อที่ดินให้ตามความเหมาะสม มอบที่ดินให้เป็นกรรมสิทธิ์ของชุมชน โดยเช่าซื้อระยะยาวกับ บจธ.

ปัจจุบันได้จัดซื้อที่ดินไปแล้ว 1 แห่ง คือ ชุมชนริมกก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ให้แก่เกษตรกร 65 ราย เนื้อที่ 60-1-96.4 ไร่  โดยเกษตรกรรวมกลุ่มเป็น “ วิสาหกิจชุมชนเชียงรายอุ่นไอรักษ์” นอกจากนี้ยังมีพื้นที่อยู่ระหว่างการดำเนินการอีก 9 ชุมชน คือ ที่จังหวัดนครราชสีมา 2 พื้นที่  เชียงใหม่ 4 พื้นที่  ลำพูน  เพชรบุรี    สุราษฎร์ธานี  2) โครงการแก้ไขปัญหาเกษตรกรและผู้ยากจนซึ่งมีปัญหาจะสูญเสียสิทธิที่ดินจากปัญหาการจำนองและขายฝาก แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านหนี้สินของเกษตรกร ผู้ยากจนที่จะสูญเสียสิทธิในที่ดิน  หรือสูญเสียสิทธิไปแล้ว โดย บจธ. จะซื้อที่ดินให้กลับคืนมาเป็นกรรมสิทธิ์ของเกษตรกร  ปัจจุบันได้ดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรไปแล้ว 323 ราย เนื้อที่ 2,378-2-12.5 ไร่  3) โครงการนำร่องธนาคารที่ดินในพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชน ในจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่ สามารถแก้ปัญหาให้เกษตรกรได้ถึง 488 ครัวเรือน เนื้อที่ 704-0-14.1 ไร่   4) โครงการตลาดกลางที่ดิน หรือโครงการพัฒนาระบบการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงที่ดิน  บจธ. จะส่งเสริมการจับคู่ระหว่างเจ้าของที่ดินกับเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรที่ประสงค์จะใช้ที่ดินเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยลงทะเบียนผ่านทางเวบไซต์ที่ บจธ. เป็นผู้ดำเนินการ  ปัจจุบันมีเจ้าของที่ดินที่เป็นบุคคลมาลงทะเบียนแล้ว 53 ราย  เป็นกลุ่ม/องค์กร 2 องค์กร สำหรับผู้ต้องการที่ดินที่ลงทะเบียนแล้ว เป็นบุคคลทั่วไป 257 ราย  กลุ่ม/ องค์กร 14 องค์กร  ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่ดำเนินการมา  บจธ. ได้ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรให้มีที่ดินทำกินไปแล้ว 2,631 ราย 877 ครัวเรือน จำนวนที่ดินที่ บจธ. ดำเนินการ 3,151 ไร่ ในโครงการตามภารกิจของ บจธ. ทุกโครงการ จะต้องน้อมนำแนวพระราชดำริของ ในหลวงรัชกาลที่ 9  เรื่อง “ศาสตร์พระราชา” มาเป็นหลักในการพัฒนาที่ดินในโครงการ

นายกุลพัชร กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า ขณะนี้ บจธ. กำลังดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ ทั้ง 6 ภาค เพื่อนำมาปรับปรุง “ร่างพระราชกฤษฎีกาสถาบันบริหารจัดการเพื่อการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรม (องค์การมหาชน)” หรือ ธนาคารที่ดิน ให้เป็นนวัตกรรมทางสังคมที่แก้ไขปัญหาที่ดินของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม