เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 ณ ห้องประชุม. สพฐ. ๑ อาคาร สพฐ. ๔ ชั้น ๒ กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการลงนามความร่วมมือส่งเสริมการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ในโรงเรียน โดยมีตัวแทนจากสองหน่วยงาน คือ ดร.พรเทพ นิศามณีพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. และ นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นผู้ร่วมลงนาม
ดร.พรเทพ นิศามณีพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ประชาชนไทยส่วนใหญ่ขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์และรังสีว่ามีประโยชน์ในชีวิตประจำวัน และต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้อย่างไร จึงส่งผลให้การนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน หรือแม้กระทั่งนำมาสนับสนุนในการดำเนินธุรกิจก็ไม่ค่อยได้รับความสนใจและการสนับสนุนจากประชาชนเท่าที่ควร
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ในโรงเรียน เป้าหมายสำคัญของความร่วมมือคือ การสร้างความตระหนักต่อสาธารณะเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์และรังสี อันจะนำไปสู่การยอมรับต่อเทคโนโลยีและเกิดการใช้ประโยชน์ที่กว้างขวางยิ่งขึ้น ในเบื้องต้นจะสนับสนุนการเรียนการสอนในกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยเพื่อให้เป็นโรงเรียนต้นแบบด้านการส่งเสริมการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในโรงเรียน หลังจากนั้นจึงจะขยายไปยังโรงเรียนอื่น ๆ ต่อไป
สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ มีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา ๕ ปี กำหนดขอบเขตความร่วมมือ ดังนี้
3. สนับสนุน การฝึกฝนทักษะการวิจัย กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่ายวิทยาศาสตร์
4. สนับสนุนผู้ทรงคุณวุฒิ วิทยากรและแหล่งเรียนรู้
5. ความร่วมมืออื่นๆ ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพของโรงเรียนและนักเรียน
นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางการศึกษา กับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) โดยมีเจตนาร่วมกันที่จะพัฒนากลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เป็นโรงเรียนต้นแบบด้านการส่งเสริมการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในโรงเรียน ในด้านต่าง ๆ เช่น พัฒนาศักยภาพบุคลากรของโรงเรียนให้สามารถจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นต้นแบบในการขยายผล ไปยังโรงเรียนพื้นที่บริการต่อไปได้ พัฒนาแผนการเรียนการสอนที่ส่งเสริมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ สนับสนุนการฝึกฝนทักษะการวิจัย สนับสนุนผู้ทรงคุณวุฒิ วิทยากรและแหล่งเรียนรู้ และความร่วมมืออื่นๆ ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพของโรงเรียนและนักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพได้ต่อไปในอนาคต