สวทช. ขยายผลสตาร์ทอัพเฮลท์เทค สู่ โรงพยาบาลกระบี่ มุ่งพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ ตอบโจทย์ BCG นโยบายเศรษฐกิจรัฐบาล



สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมใหม่ในโครงการ Startup Voucher (โครงการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีนวัตกรรม) ปี 2561 ในการขยายผลการใช้นวัตกรรมของสตาร์ทอัพเฮลท์เทค เรื่องนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ยา (Pharma Safe smart medication care platform) โรงพยาบาลกระบี่ จ.กระบี่ พร้อมเดินหน้าสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพ ส่งเสริมการเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ต่อไป

    ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช. กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) มีภารกิจมุ่งสนับสนุนนักวิจัยและผู้ประกอบการต่าง ๆ ในการนำผลงานการค้นพบและเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ซึ่ง ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี มีหน่วยงานย่อยภายใต้ศูนย์ฯ เช่น ศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) และโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) เป็นต้น ที่ทำงานขับเคลื่อนการนำผลงานวิจัยพัฒนาไปใช้ และสนับสนุนภาคเอกชนให้เกิดการยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมสินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือบริการแล้วเป็นจำนวนมากมาย ในการสร้างธุรกิจที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เป็นฐาน มีความสำคัญต่อการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจไทย ดังนั้น การพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีให้มีความสามารถทั้งในเชิงเทคโนโลยี การตลาด การบริหารธุรกิจ และการคิดค้นสินค้า หรือบริการใหม่ ๆ เพื่อต่อยอดธุรกิจให้มีความแตกต่างเหนือคู่แข่งและมีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น รวมถึงช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงบริการส่งเสริมของภาครัฐได้สะดวกยิ่งขึ้น สามารถเลือกบริการให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการเอง จึงเป็นส่วนสำคัญช่วยสร้างระบบนิเวศน์ในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ออกสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นที่มาของ “โครงการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีนวัตกรรม (Startup Voucher)” ภายใต้การดำเนินของศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC)

“โครงการ Startup Voucher สนับสนุนด้านการเงินให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงและสร้างโอกาสการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงบริการของหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ การร่วมวิจัย การรับถ่ายทอดผลงานวิจัยเพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์นวัตกรรม การศึกษาตลาด การพาออกตลาดทั้งในและต่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและธุรกิจ การจ้างงานพัฒนาเทคโนโลยี การทำเนื้อหา เป็นต้น อันจะนำมาสู่การขยายตลาดและสร้างรายได้อย่างก้าวกระโดด จากการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ทันกับการแข่งขันในระดับสากล ซึ่ง Startup Voucher เริ่มมาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมใหม่หรือสตาร์ทอัพที่ได้รับ Voucher แล้วกว่า 300 ราย ข้อมูล ณ 30 เมษายน 2561 พบว่า โครงการฯ สามารถสร้างรายได้รวม 354 ล้านบาท ซึ่งบริษัท วายอิง จำกัด ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน PharmaSafe ถือเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมใหม่ ที่เข้าร่วมโครงการฯ ในปี 2561 และได้มีการขยายผลนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ยา (Pharma Safe smart medication care platform) สู่การใช้งานจริงในโรงพยาบาลกระบี่ จ.กระบี่”

    ดร.ฐิตาภา กล่าวต่อว่า “ในด้านการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์และสุขภาพ สวทช. โดย ศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) ได้ดำเนินโครงการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรในโรงพยาบาล (2P Safety Tech) โดยร่วมกับ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ตั้งแต่ปี 2561 มีโรงพยาบาลทั่วประเทศที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ 18 แห่ง พร้อมด้วยบริษัทเทคโนโลยีการแพทย์ 12 แห่ง และสามารถพัฒนานวัตกรรมต้นแบบได้ถึง 15 ผลงาน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สามารถนำมาใช้ได้จริงในโรงพยาบาล โดยนวัตกรรมนั้น ๆ จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาและป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยและบุคลากรที่ปฏิบัติงานของในโรงพยาบาลได้ โดยในปีถัดไปจะมุ่งเน้นในเทคโนโลยีด้าน ROBOT สำหรับแก้ปัญหาในโรงพยาบาล ด้าน AI สำหรับแก้ปัญหาในสาธารณสุข และด้าน Logistic ในโรงพยาบาล ซึ่งการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวจะเป็นหนึ่งในฟันเฟืองเพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ต่อไป”

นพ.สุพจน์ ภูเก้าล้วน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกระบี่ กล่าวว่า “โรงพยาบาลกระบี่ เป็นโรงพยาบาลทั่วไป ระดับ S ขนาด 341 เตียง มีประชากรในพื้นที่ 466,393 ราย โรงพยาบาลมีบุคลากรจำนวน 1,085 คน ให้บริการผู้ป่วยนอกโดยเฉลี่ย 1,282 รายต่อวัน ผู้ป่วยใน 314 รายต่อวัน ผลลัพธ์ของการให้บริการโดยภาพรวม มีระยะเวลาในการรอคอยในการค้นประวัติผู้ป่วย 20 นาที/ราย รอพบแพทย์ 96.25 นาที/ราย รอรับยาหลังแพทย์ตรวจเสร็จ 40.16 นาที/ราย ซึ่งจากการสำรวจมีร้อยละความพึงพอใจในการรับบริการผู้ป่วยนอกร้อยละ 80.02 และผู้ป่วยใน ร้อยละ 86.18 ซึ่งที่ผ่านมา โรงพยาบาลกระบี่วางความสำคัญในด้านการนำวัตกรรมไอทีมาใช้กับงานบริการในลำดับต้น ๆ ของการพัฒนาระบบบริการเรื่อยมา อย่างการนำนวัตกรรมแอปพลิเคชัน PharmaSafe ไปใช้ประโยชน์ในโรงพยาบาล จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยใช้ยาได้ถูกต้อง ปลอดภัยและเคร่งครัดมากขึ้น ถูกต้องในที่นี้คือ ถูกโรค ถูกคน ถูกวิธี ถูกขนาด และถูกเวลา เสมือนหนึ่งเป็นผู้ช่วยเตือนผู้ป่วยอีกทางหนึ่ง ผู้ป่วยใช้ยาอย่างถูกต้องตามคำสั่งแพทย์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการรักษาโรคของผู้ป่วย”

ในปีงบประมาณ 2560 - 2562 โรงพยาบาลกระบี่ได้ลงทุนทางด้าน IT infrastructure อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนปรับปรุงซอฟต์แวร์ในงานบริการเพื่อรองรับนวัตกรรมไอทีใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอีก 1 เดือนข้างหน้า โดยจะเริ่มให้บริการระบบตรวจรักษาแบบ Electronic medical record ระบบคิวอัตโนมัติ ระบบลงทะเบียนด้วยตัวเอง ระบบซักประวัติด้วยตัวเอง (Self-history taking) ระบบซักประวัติ Online เป็นต้น พร้อมกันนี้ จะพัฒนาระบบบริการ และระบบงานต่าง ๆ เพื่อเข้าสู่ Smart hospital ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขโดยการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้าน People ware เจ้าหน้าที่และผู้บริหารทุกกลุ่มวัยจะต้องได้รับความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างทั่วถึง ด้านซอฟต์แวร์ โรงพยาบาลกระบี่จะไม่หยุดนิ่งต่อการพัฒนาระบบบริการโดยเฉพาะการสร้าง Smart tools ต่าง ๆ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และด้านฮาร์ดแวร์ โรงพยาบาลพร้อมลงทุนด้านอุปกรณ์และเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนางานขององค์กร และการให้บริการผู้ป่วย

ด้าน นายจักร โกศัลยวัตร CEO บริษัท วายอิง จำกัด ผู้ก่อตั้งแอปพลิเคชัน PharmaSafe กล่าวว่า ระบบ PharmaSafe (ฟาร์มาเซฟ) คือระบบผู้ดูแลการใช้ยาส่วนบุคคลอันดับ 1 ของไทย พัฒนาขึ้นเพื่อลดปัญหาการใช้ยาผิดของผู้ป่วย เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาและความคุ้มค่าทางด้านงบประมาณและด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญอันดับต้น ๆ ของการรักษาพยาบาลทั่วโลก โดย PharmaSafe เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ป่วยใช้ยาได้ครบและถูกต้องตามที่แพทย์สั่ง ด้วยระบบให้ข้อมูลและการเตือนเวลาการใช้ยาอัตโนมัติทางมือถือ อีกทั้งช่วยเตือนยาที่แพ้ ยาซ้ำ ยาที่ตีกัน หรือยาที่อาจเป็นอันตรายกับผู้ป่วย ซึ่งเชื่อมข้อมูลจากโรงพยาบาลที่ใช้ระบบ PharmaSafe และผู้ป่วยยังสามารถบันทึกและตั้งเตือนการใช้ยาเพิ่มได้ด้วยตัวเอง สามารถแชร์ข้อมูลการใช้ยาให้กับคนในครอบครัว ซึ่งเป็นประโยชน์ในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน

สำหรับผู้ป่วยแล้ว ได้รับประโยชน์ในเรื่องของการใช้ยาถูกชนิด ถูกวิธี ถูกเวลา สามารถทานยาตรงตามที่แพทย์สั่ง หายไว ไม่ป่วยเรื้อรัง และมั่นใจว่าได้รับยาที่ถูกต้อง มีข้อมูลครบถ้วน รวมถึงมีข้อมูลยาติดตัวตลอดเวลา เมื่อมีเหตุฉุกเฉิน ทั้งยังป้องกันความเสี่ยงก่อนเกิดอันตรายจากยาด้วย ในขณะที่ผู้ให้บริการคือ จะช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้ป่วย (Patient engagement) ระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วยในการช่วยดูแลความปลอดภัยในการใช้ยา และเพิ่มคุณภาพการรักษาและให้บริการด้านยา รวมถึงเป็นระบบอัตโนมัติและส่งเสริมแนวทาง Self-care และ Prevention (ป้องกัน) ลดภาระบุคลากรในระยะยาว และเป็นระบบ Paperless (ลดใช้กระดาษ) ลดต้นทุน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนช่วยลดอุบัติเหตุจากการใช้ยาและลดความขัดแย้งกับผู้ป่วย เช่น การฟ้องร้องแพทย์ เป็นต้น ทั้งนี้ ปัจจุบัน PharmaSafe ได้เริ่มให้บริการกับผู้ใช้ยาทั่วไป ซึ่งสามารถดาวน์โหลดและใช้งานได้ฟรี ส่วนการใช้งานระบบแนะนำการใช้ยาอัตโนมัติ จะให้บริการในโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชนกว่า 10 โรงพยาบาล เช่น สถาบันมะเร็งแห่งชาติ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงพยาบาลกระบี่ โรงพยาบาลสมุทรปราการ โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา เป็นต้น และมีแผนจะขยายไปสู่ร้านขายยา และสถานพยาบาลอื่น ๆ ต่อไป

“การได้รับการสนับสนุนจาก สวทช. ผ่านโครงการ Startup Voucher ทำให้ PharmaSafe สามารถจัดโครงการ Roadshow ในโรงพยาบาลกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านสาธารณสุข อันเป็นการสร้างประโยชน์ให้กับสถานบริการ และเป็นการส่งเสริมการตลาดให้กับบริการ PharmaSafe ได้ในตัวอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมองว่า ในประเทศไทย 40% ของคนที่ใช้ยาที่บ้านใช้ยาไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญหนึ่งของปัญหาสุขภาพในหลาย ๆ ด้านและเป็นภาระด้านงบประมาณด้านสาธารณสุขที่ใหญ่ที่สุด PharmaSafe มุ่งพัฒนาที่จะเป็นแพลตฟอร์มและเครื่องมือสุขภาพส่วนบุคคลทางมือถือสำหรับผู้ป่วยในระดับประเทศ มุ่งเป้าที่จะให้บริการในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน รวมถึงร้านขายยา ให้ครอบคลุมจนสามารถแก้ปัญหาการดูแลสุขภาพด้วยยา ให้มีการใช้ยาผิดในผู้ป่วยลดลง 50% ภายใน 4 ปี”

ด้านผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน PharmaSafe นายไมตรี องค์ศาลา ประธานชุมชนกระบี่ท่าเรือ เปิดเผยว่า “ตนเป็นคนชอบใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการสื่อสาร จึงมีความสนใจแอปพลิเคชันนี้ เพราะอยากจะเผยแพร่ให้สมาชิกในชุมชุนรู้ โดยส่วนตัวคิดว่า การใช้งานแอปนี้ไม่ยากจนเกินไป อย่างตนในวัย 70 ยังสามารถใช้งานได้ เพราะเราเลือกใช้งานตามหมวดต่าง ๆ ดูเวลากินยา จำนวนยาที่ต้องกิน สำหรับผู้สูงอายุต้องการเพียงเท่านี้ ซึ่งการนำนวัตกรรมไอทีที่นำมาปรับใช้ในโรงพยาบาล จึงเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะตัวผู้ป่วยเองจะได้ไม่ลืมกินยา แล้วในมุมคนที่ดูแลจะได้ช่วยเตือน และติดตามการนัดพบแพทย์ด้วย”