สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ได้จัดเสวนาในหัวข้อ สิ่งแวดล้อมไทย... ใครคือ “HERO” ที่อาคารอุทยานนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ มีผู้ร่วมเสวนา ดังนี้ นพ. วีรฉัตร กิตติรัตน์ไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด(มหาชน) ดร.เกศินี เหมวิเชียร นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ชำนาญการพิเศษ จาก สทน. และคุณเข็มอัปสร สิริสุขะ นักแสดงและผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ Little Forest ปลูกป่า ปลูกคน ปลูกใจ และคุณวรวัฒน์ สภาวสุ ผู้แทนจากกลุ่มTrash Hero Bangkok
ดร.พรเทพ นิศามณีพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. เปิดเผยว่า ในสายตาของประชนทั่วไปกิจกรรมใดที่เกี่ยวกับเรื่องนิวเคลียร์มักจะเป็นประเด็นที่ค่อนข้างอ่อนไหว และทำให้เกิดความตื่นตระหนกได้ง่าย เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะดำเนินกิจกรรมในเรื่องใดๆ สิ่งที่ สทน. ให้ความสำคัญและระมัดระวังอย่างยิ่งคือ จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อคนในชุมชน สังคม และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญที่ สทน. ถือปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี นับตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจกรรมด้านนิวเคลียร์ในประเทศไทย ไม่เคยเกิดอุบัติเหตุขึ้นแม้แต่ครั้งเดียว สำหรับการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม สทน.ดำเนินการในสองลักษณะ คือ การรักษาและพัฒนาสภาพของสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นและการตรวจและควบคุมปริมาณรังสีที่มีอยู่ในธรรมชาติให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อมนุษย์ เช่น การใช้รังสีแกมมาจากโคบอลต์-60 ฆ่าเชื้อโรคต่าง ๆ ในน้ำทิ้งจากชุมชนและโรงพยาบาลเพื่อป้องกันโรคระบาด นอกจากนี้ยังมีผลงานวิจัยและพัฒนาอีกหลายด้านที่มีส่วนในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม สำหรับความรุนแรงของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นผลจากกิจกรรมของมนุษย์ และคนในสังคมนั้นก็ได้รับผลกระทบแตกต่างกันไป ดังนั้น ทุกคน ทุกภาคส่วนจึงควรรับผิดชอบร่วมกัน ในส่วนภาคธุรกิจ หากต้องการดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างมั่นคง และได้รับการยอมรับจากสังคม จะต้องมีบทบาทที่ชัดเจนในการแสดงความรับผิดต่อสิ่งแวดล้อม
ดร.พิริยาธร สุวรรณมาลา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์ สทน. กล่าวว่าจากความรุนแรงของปัญหาขยะล้นโลกได้ผลักดันให้มีการวิจัยและพัฒนาพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติหรือที่เรียกว่า ไบโอพลาสติก (Bioplastic)ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผลิตขึ้นมาจากพืชซึ่งเป็นพอลิเมอร์ธรรมชาติ เช่น ข้าวโพด ข้าวสาลี มันเทศ มันฝรั่ง มันสำปะหลัง แต่เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องการทนความร้อน และราคาที่สูงกว่าพลาสติกทั่วไปจึงทำให้การนำไปใช้งานยังคงอยู่ในวงจำกัด สทน. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้
จึงได้นำกระบวนการทางรังสีมาช่วยปรับปรุงคุณสมบัติของพอลิเมอร์สังเคราะห์ที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ซึ่งปกติเมื่อได้รับความร้อนจะเริ่มมีการอ่อนตัวที่อุณหภูมิประมาณ 60-65 องศาเซลเซียส แต่เมื่อนำไปผ่านกระบวนการทางรังสีในสภาวะที่เหมาะสมจะช่วยปรับปรุงคุณสมบัติของพอลิเมอร์สังเคราะห์ให้สามารถคงรูปและใช้งานได้ที่อุณหภูมิสูงขึ้น นอกจากนี้ยังมี พอลิเมอร์ธรรมชาติอีกหนึ่งชนิด คือ ไคโตซาน ที่สทน. ได้นำกระบวนการทางรังสีมาทำให้โมเลกุลของไคโตซานมีขนาดเล็กลง เพื่อใช้เร่งการเจริญเติบโตของพืชได้ ซึ่งขณะนี้ได้มีการพัฒนาต่อยอดโดยนำไคโตซานมาผลิตเป็นเมล็ดบีดส์เพื่อห่อหุ้มน้ำมันหอมระเหย ซึ่งข้อดีของไคโตซานคือสามารถในการย่อยสลายได้ในธรรมชาติ ซึ่งในปัจจุบันนี้หลายๆ ประเทศได้ทำการออกกฎเพื่อห้ามการผลิตเมล็ดบีดส์จากพอลิเมอร์สังเคราะห์
เนื่องจากเมล็ดบีดส์เหล่านี้ไม่สามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติ และกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อระบบนิเวศน์ในทะเลนอกจากนี้ได้ขยายขอบเขตของการนำแป้งไปผสมกับพอลิเมอร์สังเคราะห์ที่สามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติ เพื่อขึ้นรูปเป็นถุงเพาะชำต้นกล้าที่สามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติ (biodegradable nursery bag) รวมถึงกระถางเพาะชำต้นกล้าที่ย่อยลายได้ในธรรมชาติ (biodegradable nursery pot) ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการทดสอบในภาคสนาม ในอนาคตบทบาทของสทน.จะยังคงมุ่งมั่น พัฒนาผลงานวิจัยด้วยเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เพื่อช่วยเหลือในภาคเกษตรกรและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง