สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยหัวเฉียวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Huaqiao University: HQU) สถาบัน China Society for Southeast Asian studies (CSSAS) และสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน จัดสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน ครั้งที่ 8” ภายใต้หัวข้อ “ความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-จีนยุคใหม่ : โอกาสและวิสัยทัศน์ใหม่” (The Eighth Thai - Chinese Strategic Research Seminar Chinese – Thai Strategic Cooperation for a New Era : New Opportunity and New Vision) ระหว่างวันที่ 26 – 27 มิถุนายน 2562 ณ หอประชุมนานาชาติหวังหยวนซิ่ง มหาวิทยาลัยหัวเฉียว เมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวในพิธีเปิดการสัมมนาว่า การสัมมนาครั้งนี้ เป็นการนำเสนอผลงานการวิจัยของนักวิชาการ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นอันมีคุณค่าต่อการสร้างความร่วมมือระหว่างกันของประเทศทั้งสองแล้ว ยังจะมีการหารือร่วมกัน ระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยหัวเฉียวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานในบันทึกข้อตกลงทางวิชาการให้มีความคล่องตัว และทันต่อสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย - จีน ครั้งที่ 7 เมื่อปีที่ผ่านมา ภายใต้หัวข้อ “ความริเริ่มแถบเศรษฐกิจและเส้นทางสายไหมยุคใหม่ : สู่การพัฒนาร่วมกัน”หรือ“The Belt and Road Initiative (BRI) and Thailand 4.0: Towards Common Development” ที่ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 9-13 สิงหาคม 2018 ณ บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ และศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์กองทัพไทยเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จังหวัดชลบุรี ประเทศไทย โดยในการสัมมนาครั้งที่แล้ว ทำให้เห็นได้ว่า ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ของท่านประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เป็นทั้งนโยบายระหว่างประเทศ ยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ และแผนพัฒนาระหว่างประเทศที่ยิ่งใหญ่ เพื่อส่งเสริมความสร้างสรรค์ประชาคมร่วมอนาคตของมวลมนุษยชาติ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในระดับโลกและภูมิภาค โดยที่จีนเป็นประเทศผู้นำนวัตกรรมของโลก
ในขณะที่ประเทศไทยที่ตั้งอยู่ใจกลางของคาบสมุทรอินโดจีน ซึ่งติดต่อระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย และอยู่ในระเบียงเศรษฐกิจของจีนกับอินโดจีนภายใต้กรอบข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ซึ่งรัฐบาลไทยกำลังผลักดันให้พื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกของประเทศ หรือ EEC เป็นระเบียงเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจะสนับสนุนต่อ ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางและจะเป็นช่องทางที่สำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างสองมหาสมุทร รวมทั้งเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างเส้นทางสายไหมทางทะเลกับเส้นทางสายไหมทางบก
สำหรับการสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน ครั้งที่ 8 นี้ เน้นให้เกิดการสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ไทย-จีนยุคใหม่ มองหาโอกาสใหม่ในความร่วมมือ พร้อมหาวิธีรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นต่อทั้งสองประเทศ เพื่อรวบรวมเป็นข้อเสนอแนะ และมาตรการต่างๆให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่งร่วมกัน โดยการสัมมนาประกอบด้วยการบรรยายและการนำเสนอผลงานวิจัยภายใต้หัวข้อ
1. ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ:การลงทุน,การค้า,การเงินและอีคอมเมิร์ซ
2. ความร่วมมือทางสังคมและวัฒนธรรม:การเป็นเมืองและการลดความยากจน
3. ความร่วมมือวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี:ทุนมนุษย์และการพัฒนานวัตกรรม
4. ความร่วมมือด้านนโยบายการทูตและการป้องกันประเทศ
5. การท่องเที่ยว การเกษตร และการขนส่งในประเทศไทย
6. ชาวจีนโพ้นทะเล และการแลกเปลี่ยนระหว่างไทยกับจีน
โดยผลจากการสัมมนาวิชาการงานวิจัยร่วมครั้งนี้ จะช่วยยกระดับการพัฒนาความสัมพันธ์และสานฝันสองแผ่นดินที่สอดคล้องทั้งทิศทาง นโยบาย ยุทธศาสตร์ ความสัมพันธ์ และที่สำคัญเป็นการจุดประกายความร่วมมือใหม่ๆ ตามแนวทางหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ร่วมไทย-จีน ให้มีความคืบหน้าและมั่นคงต่อไป