ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้รับเชิญให้บรรยายในการประชุมเสวนาอารยธรรมเอเชีย (Conference on Dialogue of Asian Civilizations: CDAC) ในหัวข้อการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้อารยธรรมเอเชีย และประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน (Mutual exchanges of Asian civilizations and a community of shared future for mankind) ระหว่างวันที่ ๑๕ - ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เป็นประธานในพิธีเปิดงานและกล่าวสุนทรพจน์ มีประมุข ผู้นำประเทศ และนักวิชาการ จาก ๔๗ ประเทศทั่วโลก รวมถึงผู้บริหารองค์กรหลายพันคนจากประเทศต่าง ๆ องค์การยูเนสโก และองค์กรระหว่างประเทศ เข้าร่วม เป็นการประชุมใหญ่เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอารยธรรมของมนุษย์ และมีส่วนร่วมในการสร้างชุมชนที่มีอนาคตร่วมกัน รวมถึงการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความเข้าใจร่วมกัน เพื่อปกป้องความหลากหลาย
ทางวัฒนธรรม
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ฯ กล่าวในการประชุมดังกล่าวว่า วัฒนธรรมและอารยธรรมจากอินเดียและจีนมีบทบาทสำคัญและได้แลกเปลี่ยนกับภูมิภาคเอเชียมานานนับพันปีแล้ว สำหรับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะประเทศไทยมีการเรียนรู้และพัฒนาทางวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่จากทั้งอินเดียและจีน จากการเชื่อมโยงทางบกและทางทะเล ตัวอย่างอิทธิพลทางวัฒนธรรมของอินเดียที่มีต่อไทย เช่น มหากาพย์อินเดีย เรื่องรามเกียรติ์ และศาสนาพุทธจากอินเดียซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างสูงในวัฒนธรรมและสังคมไทยในปัจจุบัน สำหรับจีนก็มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมอันใกล้ชิดกับไทยมาเป็นเวลานานเช่นกัน เช่น ในสมัยสุโขทัย การผลิตเครื่องลายคราม ซึ่งช่างฝีมือไทยได้เรียนรู้และพัฒนาเทคนิคการเคลือบลายครามจากจีนจนกลายมาเป็นเครื่องปั้นดินเผาสังคโลก และต่อมาเป็น
เครื่องเบญจรงค์ในแบบของไทย รวมถึงบทบาทของชาวจีนโพ้นทะเลในการเป็นสะพานเชื่อมโยงมิตรภาพระหว่างสองประเทศ วัฒนธรรมจีนได้ผสมผสานกลมกลืนกับสังคมไทยดังจะเห็นได้จากการแพทย์แผนโบราณ ศิลปะการต่อสู้ วรรณกรรม (สามก๊ก) และอาหารหลากหลายประเภท (เป็ดปักกิ่ง, บะหมี่, ติ่มซำ, ซาลาเปา) และการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนกันอย่างแพร่หลายทั้งในประเทศไทยและจีน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ฯ ยังได้กล่าวในฐานะแพทย์ว่า การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการแพทย์แผนเอเชีย โดยเฉพาะการแพทย์แผนจีนและอินเดียถือว่ามีความสำคัญ โดยประเทศไทยได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้แพทย์แผนโบราณจากทั้งสองประเทศ และมีการพัฒนาศาสตร์การแพทย์แผนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมผ่านการท่องเที่ยว ยังก่อให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนและช่วยขับเคลื่อนความเจริญทางด้านเศรษฐกิจและส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ จากการที่ประเทศไทยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของจีน อินเดีย และทั่วโลก ทำให้เกิดประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและนักท่องเที่ยวได้รับความเข้าใจที่ดีเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยและวิถีชีวิตของคนไทย
เนื่องจากความสำคัญของการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ร่วมกันระหว่างอารยธรรม ซึ่งได้กลายเป็นสะพานสากลเพื่อยกระดับมิตรภาพระหว่างชุมชนโลก และเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่ออนาคตที่ดีขึ้นของมนุษยชาติ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน (ASEAN) ซึ่งปัจจุบันไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนได้สะท้อนความคิดแบบเดียวกันนี้ในแผนยุทธศาสตร์อาเซียนด้านวัฒนธรรมและศิลปะ ๒๕๕๙ – ๒๕๖๘ กระตุ้นให้ประชาชนมีความรู้สึกหวงแหนสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนไว้ อนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและส่งเสริมการใช้วัฒนธรรมเพื่อความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และการสร้างอาชีพ ขณะเดียวกันกับที่ประเทศจีนโดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ก็ได้ริเริ่มโครงการ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) เพื่อส่งเสริมความร่วมมืออย่างสันติทั่วโลกและการพัฒนาร่วมกัน โดยมีการเชื่อมโยงของประชาชนชนเป็นกลไกผลักดันที่สำคัญอย่างหนึ่ง
ในคำกล่าวเปิดงานการประชุมของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้กล่าวถึง ความสำคัญของอารยธรรมเอเชียซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งกำเนิดอารยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษยชาติและเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญในการพัฒนาของเอเชีย ซึ่งปัจจุบันจีนได้ริเริ่มโครงการ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เพื่อส่งเสริมและขยายการแลกเปลี่ยนด้านอารยธรรมในเอเชียและเติมความสมบูรณ์เพิ่มความหลากหลายให้กับอารยธรรมโลกด้วย ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ขอให้ประเทศต่าง ๆ และวัฒนธรรมต่าง ๆ ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ต่อกันเพื่อความมั่นคงของมนุษยศาสตร์และร่วมสร้างสรรค์ประชาคมเอเชียและประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน
นอกเหนือจากการประชุมในภาคผู้นำประเทศ ผู้นำองค์กร และการประชุมวิชาการแล้ว ยังมีกิจกรรมด้านวัฒนธรรมตลอดสัปดาห์กว่า ๑๐๐ รายการ โดยในวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ได้มีการแสดงวัฒนธรรมนานาชาติ (Asian Cultural Carnival) จัดขึ้นยิ่งใหญ่ที่สนามกีฬาแห่งชาติจีน หรือสนามกีฬารังนก มีผู้แสดงกว่า ๘,๐๐๐ คน และมีผู้เข้าร่วม ๓๐,๐๐๐ คน