สทน.- กฟผ. ลงนามร่วมพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน คาดอีก 5 ปี เดินเครื่อง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันไทย



วันพุธที่ 24 เมษายน 2562   ณ ห้องประชุม 201 อาคารสำนักผู้ว่าการ  การไฟฟ้าฝ่ายผลิจแห่งประเทศไทย ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน ระหว่าง นายพรเทพ นิศามณีพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. และนายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ (กฟผ.)

        ดร.พรเทพ  นิศามณีพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน ) หรือ สทน . กล่าวว่า งานวิจัยและพัฒนาด้านพลาสมาและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชันเป็นศาสตร์ขั้นสูง  มีโครงสร้างพื้นฐานด้านอุปกรณ์และเครื่องมือที่มีความทันสมัย ซึ่งจะต้องอาศัยบุคลากรหลายด้านที่มีความเชี่ยวชาญต่างๆ กันมาทำงานร่วมกัน  การทำงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในลักษณะบูรณาการระหว่างหน่วยงานจากต่างกระทรวงจึงเป็นสิ่งสำคัญในการผลักดันประเทศให้มีความเจริญทัดเทียมกับนานาประเทศ  การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชันฟิวชันในครั้งนี้จึงเป็นก้าวใหม่ที่สำคัญต่อการวิจัยด้านพลาสมาและพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชันในประเทศไทย เพื่อเกิดการบูรณาการการกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์งานวิจัยด้านนี้อย่างจริงจัง รวมทั้ง เพื่อสนับสนุนการสร้างเครือข่ายนักวิจัยด้านนี้ให้มีการทำงานร่วมกันอย่างมีทิศทางและสามารถตอบสนองความต้องการของภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรม และได้รับการพัฒนาศักยภาพให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ รวมทั้ง เกิดนวตกรรมเพื่อการใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ จากเทคโนโลยีพลาสมา เช่น การผลิตวัสดุทนความร้อนสูงเพื่อใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม การใช้เครื่องพลาสมาทางการแพทย์ และการเกษตร เป็นต้น   การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สทน. และ กฟผ. มีกรอบความร่วมมือดังนี้

        1. ร่วมกันศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน และเทคโนโลยีสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ และงานบริการอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม                                              

        2. ร่วมกันดำเนินการและให้การสนับสนุนการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชันและเทคโนโลยีสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งในแบบพื้นฐานและการประยุกต์เพื่อยกระดับขีดความสามารถของบุคลากรในสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน และสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย

        3. ร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเครื่องโทคาแมค (Tokamak) และเครื่องเร่งพลาสมาเชิงเส้น (Plasma Linear Device) ตลอดจนอุปกรณ์สนับสนุนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชันของประเทศไทย

        4.ให้ความร่วมกันมือในการจัดอบรมและถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชันแก่บุคลากรของทั้งสองฝ่าย บุคลากรทางการศึกษา เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไป เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ของเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน

        5.ให้ความร่วมกันมือในการสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเสริมสร้างความรู้ในการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเฉพาะทางดังกล่าว ตลอดจนเทคโนโลยีสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง

ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์  รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สทน. ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการด้านการพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชันและพลาสมา ได้เปิดเผยว่า หลังจาก กฟผ.- สทน. ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน การไฟฟ้าจะสนับสนุนเงินงบประมาณจำนวนหนึ่งเพื่อใช้สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชัน นอกจากนี้ กฟผ. จะส่งวิศวกรเข้าร่วมโครงการพัฒนาเครื่องโทคาแมก(TOKAMAK)  ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญในการกักเก็บพลาสมาด้วยสนามแม่เหล็ก และเป็นอุปกรณ์สำคัญในการศึกษาวิจัยเรื่องพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชั่น  ซึ่งประเทศจีนมอบให้ประเทศไทย โดยผ่าน สทน. โดยในช่วงเดือน พ.ค. 2562 นี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านฟิวชันจากจีนจะมาพบปะพูดคุยภาพรวมการดำเนินการทั้งหมดกับทีมงานของใน ประมาณเดือนมิ.ย. 62 ทาง สทน. กฟผ. และมหาวิทยาลัยเครือข่าย จะส่งทีมงานไปทำงานด้าน Engineering Design ของเครื่อง Tokamak ประมาณ 20 คน โดยจะทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันพลาสมาฟิสิกส์ ประเทศจีน เป็นเวลา 3 เดือน หลังจากนั้นเริ่มในช่วงเดือน ส.ค.62 ทีมงานทั้งหมดจะเริ่มออกแบบองค์ประกอบต่างๆ อย่างละเอียด (Detail Design) หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการประกอบเครื่องโทคาแมกที่ประเทศจีน โดยคาดว่าจะใชระยะเวลาอีกประมาณ 2 ปี ระหว่างนั้น นักวิจัย สทน. กฟผ. และมหาวิทยาลัย ก็จะได้ศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆ ไปควบคู่กัน อาทิ พัฒนาระบบ Power Supplier แบบ High Volt  การพัฒนาวัสดุทนความร้อนสูง พัฒนาระบบควบคุมอิเล็กทรอกนิกส์  พัฒนาระบบวัดสมบัติของพลาสมา และทดสอบเดินเครื่องจนเกิดพลาสมาครั้งแรก (Frist Plasma)

หลังจากนั้น จะขนย้ายเครื่องกลับมาติดตั้งที่ สทน. และติดตั้งระบบเสริมต่างๆ ที่เมืองไทย คาดว่าภายในระยะเวลา 5 ปี เครื่องโทคาแมกในประเทศไทยจะเริ่มพัฒนาและใช้งานได้จริง  เมื่อมีการศึกษาวิจัยด้านพลาสมาและนิวเคลียร์ฟิวชันอย่างจริงจังแล้ว ก็จะสามารถนำพลาสม่าและนิวเคลียร์ฟิวชั่นไปใช้ประโยชน์ได้มากมาย อาทิ ในเชิงเกษตรกรรม ด้านอาหารที่มีส่วนช่วยในเรื่องของการฆ่าเชื้อโรคในอาหารและผลิตผลทางการเกษตร ในเชิงการแพทย์ การประยุกต์เทคโนโลยีพลาสมามาไว้ในอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขอนามัยโดยใช้พลาสมาในการบำบัดแผลติดเชื้อและแผลเรื้อรัง พร้อมช่วยกระตุ้นการสร้างเส้นเลือดเนื้อเยื่อใหม่ หรือการรักษาผิวหน้า การรักษาแผล ตลอดจนถึงการมีส่วนช่วยในเรื่องของการกำจัดขยะและของเสียอีกด้วย ในส่วน กฟผ.เองอาจมีการพัฒนาต่อยอดศึกษาเทคโนโลยีฟิวชันสำหรับเป็นแหล่งพลังงานในอนาคตต่อไป