บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ บีจีซี (BGC) แถลงผลการดำเนินงานของบริษัทฯ โดยภาพรวมปี 2561 ผลกำไรเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ด้วยการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ ตั้งเป้าปี 2562 เติบโตจากเดิม 10% เดินหน้ารุกตลาดไปต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง พร้อมมองหาโอกาสขยายกิจการที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์แก้วตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ หวังครองตำแหน่งผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์แก้วทั้งในและภูมิภาคอาเซียน
นายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมในปีที่ผ่านมา บีจีซียังคงเป็นกลุ่มธุรกิจหลักของ บริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ บีจี (BG) ซึ่งดำเนินการผลิตและจัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้วทั้งไทยและต่างประเทศ ครอบคลุมทั้ง บรรจุภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม และเวชภัณฑ์ โดยมีกำลังการผลิตเป็นอันดับหนึ่งในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ด้วยกำลังการผลิต 3,495 ตันต่อวัน จากโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วทั้ง 5 แห่งในประเทศไทย ปีที่ผ่านมาบีจีซี มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก นอกจากการจดทะเบียนและนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นครั้งแรกแล้ว กลยุทธ์ทางธุรกิจก็แตกต่างจากปีก่อนที่เน้นขายให้กับกลุ่มลูกค้าภายในประเทศ ซึ่งปีที่ผ่านมาบีจีซีได้วางกลยุทธ์ขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในแถบภูมิภาคอาเซียน รวมถึงยังให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการกระบวนการผลิตและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยบีจีซีได้ลงทุนติดตั้งหุ่นยนต์ในกระบวนการเคลือบน้ำมันที่แม่พิมพ์ ณ โรงงานผลิตที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งช่วยเพิ่มความแม่นยำในกระบวนการผลิต ส่งผลให้ภาพรวมของปี 2561 มีกำไรเติบโตตามเป้า ตอกย้ำศักยภาพและพื้นฐานแข็งแกร่ง สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน
สำหรับทิศทางธุรกิจในปี 2562 นี้ บีจีซียังคงเดินหน้าขยายฐานลูกค้าในตลาดต่างประเทศ ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการส่งออกต่างประเทศ 10% ทั้งฐานลูกค้าเดิมที่มีอยู่แล้ว และสร้างฐานลูกค้าใหม่ ด้วยเล็งเห็นโอกาสเติบโตทางธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเวียดนาม และอินเดีย ซึ่งปีที่ผ่านมาบีจีซีได้แต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายในประเทศเวียดนาม เพื่อเพิ่มโอกาสและช่องทางในการขายให้มากขึ้น และในประเทศอินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับสองรองจากจีน ซึ่งประชากรส่วนใหญ่อยู่ในวัยกินดื่มที่มีกำลังในการจับจ่ายใช้สอย ประกอบกับเศรษฐกิจในประเทศที่กำลังเติบโต และอีกมุมที่สำคัญคือบริษัทที่ทำบรรจุภัณฑ์แก้วที่มีคุณภาพดีในอินเดียยังมีไม่มาก บีจีซีจึงเห็นโอกาสที่จะเข้าไปลงเล่นในตลาดนี้ สำหรับตลาดออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และยุโรป ปีนี้คาดว่าสามารถส่งออกบรรจุภัณฑ์แก้วได้เพียงพอต่อความต้องการมากขึ้น เนื่องจากโรงงานผลิตที่จังหวัดราชบุรีก่อสร้างแล้วเสร็จ และสามารถเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยความพิเศษของโรงงานแห่งนี้ถูกออกแบบมาให้มีความยืดหยุ่นในการผลิต ทำให้สามารถรองรับการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย ตอบสนองทุกความต้องการของลูกค้า
ไม่เพียงแต่กลยุทธ์ทางด้านธุรกิจ บีจีซี ได้วางงบประมาณสำหรับพัฒนาเทคโนโลยีด้านการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ กว่า 400 ล้านบาท โดยเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้นำเข้าซอฟต์แวร์ตัวใหม่ที่ช่วยควบคุมพลังงานที่ใช้ในเตาหลอม ทำให้สามารถลดการใช้พลังงานลงไปจากเดิมได้ถึง 3 - 4% ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิต และการใช้ทรัพยากรลดลง
นอกจากนี้ บีจีซี ยังแสวงหาโอกาสการขยายธุรกิจทั้งในรูปแบบการเติบโตภายใต้การดำเนินธุรกิจของตนเอง (Organic Growth) และการเติบโตในรูปแบบการร่วมทุน หรือการเข้าลงทุนในกิจการ (Inorganic Growth) ที่เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์แก้ว เช่น ธุรกิจการจัดหาวัตถุดิบ และธุรกิจการจัดจำหน่ายสินค้า เป็นต้น
ในปีนี้ บีจีซีตั้งเป้ารายได้เติบโตจากเดิม 10 เปอร์เซ็นต์ ด้วยเป้าหมายการเป็นผู้นำด้านการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แก้วและบรรจุภัณฑ์แก้ว รวมทั้งผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวข้อง จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำแบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน