มิติใหม่พลิกโฉมปั้นสตาร์ทอัพเอสเอ็มอีไทยโกอินเตอร์ SME D Bank จับมือกรมการค้าต่างประเทศ 4 สถาบันการศึกษาแนวหน้าไทย คลอดแคมเปญ “โครงการ SME D Scaleup Society” สู่ยุค 4.0



ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย  (ธพว.) หรือ SME D Bank   มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการ SME D Scaleup Society” ระหว่างกรมการค้าต่างประเทศและ 4 สถาบันการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เพื่อสร้างระบบ Ecosystem ที่เอื้อต่อการเติบโตและพัฒนาสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอี โดยเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายระบบการศึกษาเพื่อยกระดับและส่งเสริมเทคโนโลยีนวัตกรรมและสื่อดิจิทัลให้กลุ่มสตาร์ทอัพแจ้งเกิดและขยายกิจการทางธุรกิจ (Scaleup) ไปสู่ความยั่งยืน โดยอาศัยศักยภาพความรู้ความเชี่ยวชาญและเข้มแข็งของแต่ละมหาวิทยาลัยมาช่วยพัฒนา ผ่านกระบวนการบ่มเพาะและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงการส่งเสริมการตลาดต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศ โดยมีกรมการค้าต่างประเทศ ที่มีเครือข่ายโครงการต่างๆทั้งในและต่างประเทศ ช่วยสนับสนุนการติดปีกก้าวสู่ตลาดโลกต่อไป และโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยพิเศษจาก ธพว.ให้สามารถดำเนินธุรกิจหรือเริ่มต้นธุรกิจใหม่ได้ ภายใต้แนวความคิดความรู้คู่เงินทุนจาก ธพว.

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย     (ธพว.) หรือ SME D Bank   กล่าวว่า โครงการเอสเอ็มอีดีสเกลอัพ (SME D Scaleup) ความรู้คู่เงินทุนเป็นโครงการของ ธพว. ที่เริ่มนำมาใช้ในการพัฒนาผู้ประกอบการผ่านเครือข่ายระบบสถาบันการศึกษาที่นำผู้เชี่ยวชาญแต่ละแห่งมาช่วยพัฒนา ซึ่งได้เริ่มดำเนินโครงการนี้ ประมาณ 2 ปีที่ผ่านมาและประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยจัดหลักสูตร     1. โครงการ SME D Scaleup ต่อยอดติดปีกธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตามแนวนโยบายของรัฐบาลในการสร้างผู้ประกอบการก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 อย่างยั่งยืน 2.โครงการ SME D Scaleup ติดปีกธุรกิจยางพาราด้วยนวัตกรรมร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลา นครินทร์ ให้สามารถต่อยอดแนวคิดสู่การแปรรูปยางพาราด้วยนวัตกรรมใหม่โดยเกิดผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่มีศักยภาพ 12 รายการสู่เชิงพาณิชย์ ผู้เข้าอบรม 51 รายสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่า 43.75 ล้านบาท และต่อยอดการใช้ยางพาราธรรมชาติเพิ่มขึ้น 0.322 ล้านกิโลกรัม จากเดิมใช้ยางพารารวมกันประมาณ 6.45 ล้านกิโลกรัม นับเป็นความสำเร็จในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราสร้างงานสร้างรายได้ต่อยอดธุรกิจกลับคืนสู่ชุมชนต่อไป 3.สถาบันเคเอ็กซ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดโครงการ SME D Scaleup  ติดปีกธุรกิจ SMEs4.0 เพื่อพัฒนาลูกค้าธนาคารโดยกระบวนการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่เชิงเทคโนโลยีและนวัตกรรม และมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันให้คำปรึกษา ณ สถานประกอบการจริง และ 4.โครงการ SME D Scaleup  ไอเดียร้อยล้านร่วมกับมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ปั้นสตาร์ทอัพรุ่นใหม่จุดประกายแนวความคิดเปลี่ยนไอเดียธุรกิจสู่เงินล้าน โดยเชื่อมโยงกับบริษัทเซ็นทรัลพัฒนาจำกัดในการสร้างโอกาสช่องทางการตลาดต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีโครงการ SME D Scaleup  เถ้าแก่ 4.0 ที่ธนาคารเข้าช่วยต่อยอดติดปีกธุรกิจเงินล้านให้กลุ่มผู้ประกอบการตลาดนัดจตุจักร ทั้งด้านการส่งเสริมการตลาด การสร้างโอกาสค้าขายออนไลน์ และการสร้างเรื่องราว (Story) นำเสนอผ่านสื่อมวลชน ซึ่งทุกโครงการล้วนแล้วเป็นผลสัมฤทธิ์ที่เห็นเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ธนาคารได้นำโครงการ SME D Scaleup ขยายผลเติบโตขึ้นภายใต้โครงการ SME D Scaleup Society    ที่มีการลงนาม MOU ครั้งนี้ เพื่อต่อยอดความสำเร็จไปสู่ผู้ประกอบการคลัสเตอร์ต่างๆ โดยมีแนวทางการดำเนินการดังนี้

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะดำเนินโครงการภายใต้แนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการกลุ่มเครื่องแกงและเครื่องเทศ โดยพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารและศักยภาพของแกงไทยด้วยกระบวนการวิจัยและพัฒนากลุ่มสมุนไพรและเครื่องเทศเพื่อพัฒนาอาหารสุขภาพและแนวคิดพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์เครื่องแกงไทยสู่ตลาดโลก และโครงการ Hackathon เพื่อปั้นสตาร์ทอัพรุ่นใหม่นำกระบวนการไอเดียมาสร้างแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพาราตั้งแต่จุดเริ่มต้นสู่การต่อยอดเชิงพาณิชย์ต่อไป

เคเอกซ์ ภายใต้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งมีแนวคิดที่จะยกระดับเทคโนโลยีในการผลิตของผู้ประกอบการให้มุ่งไปสู่ระบบการผลิต 4.0  โดยเน้นกระบวนการทางเทคนิคอุตสาหการ ระบบอัตโนมัติ ระบบ IOT (Internet of Things) และระบบการใช้หุ่นยนต์ปฏิบัติงาน หรือนำเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตหรือเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้เกิดประสิทธิผลดียิ่งขึ้น

มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มีชื่อเสียงความโดดเด่นด้านความคิดสร้างสรรค์และการสร้างผู้ประกอบการใหม่ จะนำความรู้ความเชี่ยวชาญมาดูแลผู้ประกอบการในกลุ่มชา กาแฟ และผ้าพื้นเมือง ในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการสร้างองค์ความรู้และโอกาสการขยายธุรกิจโดยปฏิรูปธุรกิจเดิมไปสู่การทำธุรกิจยุคดิจิทัลและเรียนรู้ยุทธศาสตร์การวางแผนธุรกิจสามารถขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศพัฒนาสู่ความยั่งยืนต่อไป

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงเชี่ยวชาญด้านการบริหารธุรกิจ จะนำความรู้การบริหารจัดการที่ทันสมัยมาเพิ่มและยกระดับผู้ประกอบการสามารถวิเคราะห์การวางแผนและการจัดการอย่างเป็นระบบ รวมถึงเสริมทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม โดยการเรียนรู้เทคนิคและการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการพัฒนาตลอดห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ ยกระดับประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จะเพิ่มโอกาสและร่วมผลักดันด้านการตลาด ติดต่อการค้าทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงโครงการ YEN-D Program ที่จะสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (Young Entrepreneur Network Development Program) 4 ประเทศ CLMV คือ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่จะมาช่วยสร้างโอกาสทางการตลาดให้ธุรกิจเติบโตสอดรับกับในวาระที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน จะช่วยส่งเสริมภาคผู้ประกอบการร่วมมือกันใกล้ชิดมากขึ้น

ทั้งนี้ โครงการ SME D Scaleup Society เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเครือข่ายภาคีสถาบันการศึกษา สถาบันการเงิน ภาครัฐ และเอกชนที่จะผนึกกำลังผลักดันเอสเอ็มอีสตาร์ทอัพผ่านกระบวนการบ่มเพาะส่งเสริมเทคโนโลยี นวัตกรรม นำงานวิชาการสู่เชิงพาณิชย์ส่งเสริมการตลาดสู่ตลาดโลก  และในอนาคตจะขยายผลสร้างเครือข่ายความร่วมมือให้กว้างขวางและครอบคลุมการพัฒนาผู้ประกอบการกลุ่มคลัสเตอร์ต่างๆยิ่งขึ้นต่อไป