สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ สภาวิจัยสังคมศาสตร์แห่งสาธารณรัฐอินเดีย (ICSSR) จัดการสัมมนาร่วมทางวิชาการระหว่างไทย – อินเดีย ครั้งที่ 13 เรื่อง “โอกาสที่ยังมิได้สำรวจของไทยและอินเดีย” และ “การประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาร่วมไทยและอินเดีย ครั้งที่ 14” ระหว่างวันที่ 16 – 18 กุมภาพันธ์ 2562 ณ โรงแรมเอสตาร์ ภูแล จังหวัดเชียงราย โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิด วันที่ 16 กุมภาพันธ์ เวลา 09.00 น. ศาสตราจารย์
นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ ร่วมกับสภาวิจัยสังคมศาสตร์แห่งสาธารณรัฐอินเดีย เมื่อปี พ.ศ. 2549 ที่ประเทศไทย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการด้านสังคมศาสตร์ระหว่างประเทศไทยและอินเดีย ผ่านกิจกรรมการสัมมนาที่จัดขึ้นปีละ 1 ครั้ง โดยสลับกันเป็นเจ้าภาพระหว่าง วช. และ ICSSR ภายใต้หัวข้อการสัมมนาที่เห็นพ้องกัน ตั้งแต่ปี 2551 – 2559 รวมทั้งสิ้นจำนวน 10 ครั้ง โดยจัดที่สาธารณรัฐอินเดีย 5 ครั้ง และประเทศไทย 5 ครั้ง
ที่ผ่านมาในการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาร่วมระหว่างไทย – อินเดีย ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561 ณ Mahabodhi Hotel เมืองคยา สาธารณรัฐอินเดีย ที่ประชุมได้เห็นชอบให้กำหนดจัดสัมมนาร่วมทางวิชาการระหว่างไทย – อินเดีย ครั้งที่ 13 และ “การประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาร่วมไทยและอินเดีย ครั้งที่ 14” ภายใต้หัวข้อเรื่อง “โอกาสที่ยังมิได้สำรวจของไทยและอินเดีย”
เนื่องจากสาธารณรัฐอินเดีย ได้กำหนดนโยบายสร้างความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ไม่ไกลจากสาธารณรัฐอินเดีย ทำให้ประเทศไทยและอินเดียมีความสัมพันธ์ด้านการค้า ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรมอย่างยาวนานผ่านการเชื่อมโยงทางทะเลเป็นหลัก
ดังนั้น นับเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยและอินเดียจะได้สานต่อความร่วมมือใน 6 ประเด็น ได้แก่ การพัฒนาสังคมและชุมชน เศรษฐกิจการค้า เทคโนโลยีสารสนเทศ ทรัพย์สินทางปัญญา การท่องเที่ยว และความมั่นคง
ซึ่งปัจจุบันมีความสำคัญต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ยังช่วยให้นักวิจัยสังคมศาสตร์ของทั้งสองประเทศได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลทางวิชาการเชิงเปรียบเทียบที่สำคัญ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในยุคโลกาภิวัตน์ ทั้งนี้ ยังมุ่งหวังว่าองค์ความรู้ที่จะได้รับจากการสัมมนาจะสามารถนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อการพัฒนาประเทศร่วมกัน รวมถึงเกิดเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยทางสังคมศาสตร์ในประเด็นที่สำคัญร่วมกัน
ด้าน Braj Bihari Kuma กล่าวว่าความสัมพันธ์ของไทยและอินเดียมีมายาวนาน มีรากฐานทั้งในด้านวัฒนธรรม ศาสนาและภาษา ที่ผ่านมาบางครั้งอินเดียคิดว่าเค้าเป็นผู้ส่งออกในเรื่องนี้มาโดยตลอดและเป็นอยู่ทุกวันนี้
ทั้งเรื่องศาสนา ฮินดู พราห์ม แต่ปัจจุบันทางอินเดียจะต้องคิดใหม่ว่าสิ่งที่ประเทศต่างๆในภูมิภาคนี้รับมาแล้วเขาคิดยังไง ต่อจากนี้ต่อไปในฐานะที่ตนเองทำงานในตำแหน่ง ประธาน วช.อินเดีย จะทำการแปลงานที่ดีของไทยที่บ่งบอกวัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา ไปเป็นภาษาอังกฤษและภาษาอินเดีย เพื่อให้คนอินเดียหันมาเข้าใจตัวตนของคนไทยให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศพัฒนาไปด้วยความรวดเร็ว และส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ด้านการค้า การลงทุนที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต